เบี้ยประชุม (กรรมการ) ค่าจ้าง (ผู้จัดการ) "ต้องมี"

เบี้ยประชุม (กรรมการ) ค่าจ้าง (ผู้จัดการ) "ต้องมี"

หญิงแต่งงานกับหญิง หรือชายแต่งงานกับชาย คนจำนวนน้อย อาจมองเป็นเรื่องปรกติ แต่คนส่วนใหญ่ อาจมองเป็นเรื่องแปลก

เหตุเพราะผิด หรือฝืนกฎธรรมชาติของมนุษย์ เช่นเดียวกัน องค์กร ซึ่งมีผู้ปฏิบัติงาน ทั้ง "นายจ้าง" และ "ลูกจ้าง" อยู่ร่วมกัน ทำงานแห่งเดียวกัน เมื่อ "นายจ้าง" ตกลงว่าจ้าง "ลูกจ้าง" เข้าทำงาน หรือปฏิบัติงานให้แก่ "นายจ้าง" หน้าที่ของ "นายจ้าง" ต้องจ่ายค่าจ้าง ผลตอบแทนให้แก่ "ลูกจ้าง" ไม่มีองค์กร ห้างร้าน บริษัทใดที่ "นายจ้าง" ไม่จ่ายค่าจ้าง ผลตอบแทนให้แก่ "ลูกจ้าง" ที่ทำงาน หรือปฏิบัติงานให้แก่ "นายจ้าง"  หรือท่านผู้อ่านบางท่าน อาจเห็นแย้ง เห็นต่าง กรณี "ลูกจ้าง" ทำงานให้แก่ "นายจ้าง" แล้ว ไม่ต้องรับค่าจ้าง ผลตอบแทน ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอให้ท่านผู้อ่าน ชี้แจงให้เหตุผล หรือ "คำตอบ" แก่ผู้เขียนทราบ เป็นเพราะสาเหตุใด

          เช่นเดียวกับระบบอาคารชุด คอนโดมิเนี่ยม ทั้งพักอาศัย สำนักงาน หรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม เมื่ออาคารชุด คอนโดมิเนี่ยม ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติอาคารชุด ทั้งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด และพระราชบัญญัติอาคารชุด กำหนดให้มีบุคคล หรือนิติบุคคล จำนวน 2 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ ฝ่ายแรก เรียกว่า กรรมการ หรือคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ราย แต่ไม่เกิน 9 ราย ได้รับการแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ กำกับการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุด อีกทั้งให้นโยบายแก่ผู้จัดการนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นผลงาน รูปธรรม

          ทั้งนี้ การบริหาร การดำเนินงานของคณะกรรมการ จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด ตลอดจนมติคณะกรรมการ และมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม ฝ่ายที่สอง ได้แก่ ผู้จัดการ จำนวน 1 คน เป็นได้ทั้งบุคคล หรือนิติบุคคล มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะตีองห้าม ตามข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด ได้รับการแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม มีหน้าที่เป็นผู้แทน หรือตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดอันเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือนิติบุคคลภายนอก ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง กิจการทั้งปวง ภายใต้กรอบอำนาจตามข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด และมติคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เป็นต้น นิติบุคคลอาคารชุด (ทั่วประเทศ) ทุกแห่ง ต้องมีทั้งคณะกรรมการ กรรมการ และผู้จัดการ "ไม่มีไม่ได้"

          คณะกรรมการ กรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 (สอง) ปี ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 37 วรรคสอง สำหรับผู้จัดการ พระราชบัญญัติอาคารชุด มิได้กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่แน่นอนเช่นเดียวกับคณะกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น หรือตามที่ข้อบังคับเป็นผู้กำหนดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการ และผู้จัดการ ได้รับการจดทะเบียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ "กรมที่ดิน" ทั้งข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจของนิติบุคคลอาคารชุด ทำหน้าที่ตามที่ข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด และมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม อย่างไรก็ตาม บทบาท อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และผู้จัดการในแต่ละนิติบุคคลอาคารชุด อาจไม่แตกต่างจาก "ลูกจ้าง" ของเจ้าของร่วม นิติบุคคลอาคารชุดถือเป็น "นายจ้าง" เพราะเจ้าของร่วมสามารถถอดถอน ทั้งคณะกรรมการ และผู้จัดการออกจากตำแหน่งดังกล่าวได้ นิติบุคคลอาคารชุด "หลายแห่ง" ไม่มี "เบี้ยประชุม" ให้แก่คณะกรรมการ  และ "ค่าจ้าง ค่าตอบแทน" ให้แก่ผู้จัดการ ถึงคราวผู้มีอำนาจ ทั้งคณะกรรมการ ผู้จัดการ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งตามข้อบังคับ หรือมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม นิติบุคคลอาคารชุดออกประกาศ เปิดรับสมัครเจ้าของร่วม ผู้สนใจสมัคร ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ปรากฏว่า "ไม่มีผู้ใดสนใจ" หรืออาจมี แต่มีจำนวนน้อย สาเหตุหลักข้อหนึ่ง ได้แก่ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง (ยัง) จะเอากระดูกมาแขวนคอ (ทำไม) เมื่อไม่มีผู้ใดสมัคร หรือให้ความสนใจ คณะกรรมการ รวมถึงผู้จัดการ (ชุดเดิม ชุดก่อน) ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป นิติบุคคลอาคารชุดหลายแห่ง มีจำนวนห้องชุดมากกว่า 500 หรือ 1,000 ห้อง ก็ยังไม่สามารถคัดเลือก สรรหาคณะกรรมการ หรือผู้จัดการเข้าปฏิบัติหน้าที่ เหตุเพราะทำงานแล้ว ไม่ได้ (รับ) ค่าเบี้ยประชุม หรือค่าจ้าง ค่าตอบแทน

          เมื่อเจ้าของร่วม "ส่วนใหญ่" ไม่สนใจกิจกรรมการบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด ขาดการตรวจสอบ คณะกรรมการ หรือผู้จัดการบางแห่ง บางราย จึงอาศัย "ช่องทาง" หรือ "ช่องโหว่" หาผลประโยชน์ เบียดบังทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือพวกพ้อง การจัดซื้อ จัดจ้างที่ไม่โปร่งใส ขาดการตรวจสอบ หรือการฮั้วประมูล จนเกิดความเสียหายขึ้นแก่นิติบุคคลอาคารชุด กรรมการ คณะกรรมการ หรือผู้จัดการบางแห่ง อาศัยตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของตนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งการไม่จ่ายค่าส่วนกลาง หรือจ่ายส่วนกลางล่าช้า โดยไม่ยินยอมชำระเงินเพิ่ม หรือค่าปรับชำระล่าช้า ตามข้อบังคับ และพระราชบัญญัติอาคารชุด เป็นต้น

          ทางออก หรือทางแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือหนทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ เจ้าของร่วมทุกราย หรือส่วนใหญ่ต้องเห็นความสำคัญกับการเชิญประชุม เข้าร่วมประชุม และนิติบุคคลอาคารชุดต้องมี หรือได้คนดี คนเก่ง มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ ความสามารถ หรือมีประสบการณ์เข้าทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ บริหารงานให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด มิใช่ได้บุคคล หรือนิติบุคคลที่ขาดความรู้ ความสามารถ ไม่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ดี การที่นิติบุคคลอาคารชุดจะได้คณะกรรมการ และผู้จัดการที่ดี มีความรู้ ความสามารถ หรือมีประสบการณ์ นิติบุคคลอาคารชุด (มีหน้าที่) ต้องชำระค่าจ้าง ค่าตอบแทน เบี้ยประชุมให้แก่บุคคล หรือนิติบุคคลดังกล่าวที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ หรือบริหารงาน (แทนเจ้าของร่วม) จึงจะเกิดความยุติธรรม เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

          อนึ่ง การกำหนดให้มี "เบี้ยประชุม" แก่กรรมการ คณะกรรมการ และ "ค่าจ้าง ผลตอบแทน" แก่ผู้จัดการ สามารถกระทำได้ โดยอาศัยมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม หรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามข้อบังคับ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจะกำหนดเป็นระเบียบแยกเป็นการต่างหาก เพื่อการปฏิบัติ นอกเหนือจากข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ก็สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้

/////

โดย... นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย และ

"ที่ปรึกษา" ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ