กองทุนดัชนีไทย น่าลงทุนจริงหรือ?

กองทุนดัชนีไทย น่าลงทุนจริงหรือ?

ผู้จัดการกองทุนของไทยที่บริหารชนะ index fund นั้นมีอยู่จริง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาคือใคร

เมื่อสิบปีที่แล้ว วอร์เรน บัฟเฟตต์ ออกมาบอกว่า บรรดาผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ที่เก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ นั้น ไม่สมควรได้เงินเอาเสียเลย เพราะผลงานของพวกเขาเอาตลาดหุ้นโดยรวมไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แถมยังประกาศท้าทายใครก็ได้ให้มาเดิมพันกัน หากไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด

ปรากฏว่า มีผู้กล้าคนหนึ่งออกมารับคำท้า เขาคือ ทอม เซเดส พาร์ทเนอร์บริษัทบริหารกองทุน ซึ่งกติกาก็คือ บัฟเฟตต์จะเลือกกองทุนอิงดัชนีธรรมดาๆ ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำๆ มาหนึ่งกอง ส่วนเซเดสเลือกเฮดจ์ฟันด์ที่คิดว่าดีมาจำนวนหนึ่ง แล้วรอจนครบสิบปี ดูว่าใครจะชนะ โดยผู้แพ้ต้องบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญเข้ากองทุนการกุศลของผู้ชนะ

ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกเพียงสามเดือนจะครบกำหนดสิบปี ปรากฏว่ากองทุน S&P 500 ของปู่ให้ผลตอบแทนถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กองทุนที่เซเดสเลือก หักค่าธรรมเนียมแล้ว ทำได้เพียง 22 เปอร์เซ็นต์!!

นี่จึงเป็นการตอกย้ำคำพูดของปู่ และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า passive investment หรือการลงทุนแบบ 'เชิงรับ' คือไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรมาก สามารถเอาชนะการลงทุน 'เชิงรุก' หรือ active investment ได้สบายๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คำถามหนึ่งซึ่งมักเจอเสมอในหมู่คนไทยก็คือ 'แล้ว index fund ในไทยละ ชนะ active fund ได้ไหม?'

การจะตอบคำถามนี้ด้วยความยุติธรรม และให้สามารถประยุกต์ใช้กับการลงทุนจริงได้นั้น ผมมองว่าต้องทำภายใต้เกณฑ์สองข้อ หนึ่งคือ ต้องใช้กรอบเวลาที่นานพอสมควร และสองคือ ต้องเลือกผลงานระดับ 'average' ของแต่ละฝั่ง ไม่ใช่พวก winner หรือ loser ซึ่งไม่สามารถเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดีได้

ทางฝั่ง passive investment ผมขอยก SET 50 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ห้าสิบตัว อันน่าจะเทียบเคียงได้กับ S&P 500 ของอเมริกาเป็นตัวตั้ง โดยสันนิษฐานว่า กองทุนส่วนใหญ่จะทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนี

ข้อมูลที่พบก็คือ นับตั้งแต่เข้าศตวรรษใหม่ วันที่ 1 ม.ค. 2001 ถึง 31 ธ.ค. 2016 เป็นเวลา 16 ปี (ซึ่งน่าจะนานพอที่จะใช้วัดผลงาน) SET 50 ปรับตัวขึ้นจาก 186.35 จุด มาอยู่ที่ 964.84 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 417% คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นถึงปีละ 10.82% แม้จะหักค่าธรรมเนียม (ถูกๆ) แล้ว ก็น่าจะต่ำกว่านี้ไม่เท่าไร

ซึ่งผมเชื่อว่า คงมี active fund น้อยมาก ที่จะทำผลตอบแทนได้ 'มากกว่านี้' ในระยะเวลาที่ 'นานขนาดนี้'

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า 'active fund ในไทยเหนือกว่า index fund ตั้งเยอะ' หรือ 'ที่บัฟเฟตต์พูดใช้กับเมืองไทยไม่ได้หรอก' จึงไม่สมเหตุสมผล และคนที่พูดเช่นนี้แทบทั้งหมด เป็นการ 'พูดหลังเหตุการณ์' คือรู้ตัวผู้ชนะเรียบร้อยแล้ว ค่อยเอาไปเทียบกับผลของกองทุนอิงดัชนี ซึ่งผมมองว่า 'ไม่แฟร์'

แน่นอนว่า ผู้จัดการกองทุนของไทยที่บริหารชนะ index fund นั้นมีอยู่จริง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาคือใคร และเอาเข้าจริง โอกาสที่เราจะเจอ 'กองทุนผู้ชนะ' นั้น น่าจะน้อยพอๆ กับการถูกล็อตเตอรี่เลยก็ว่าได้ และแม้ในอนาคตตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนลดลง ก็เชื่อว่า active fund เองก็คงถูกกระทบเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า ในประเทศไทย 'กองทุนอิงดัชนี' เป็นการลงทุนที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ สมควรที่จะเป็น 'ทางเลือกหลัก' ของคนส่วนใหญ่ครับ