เมื่อไม่เข้าใจคำว่า “พอเพียง”

เมื่อไม่เข้าใจคำว่า “พอเพียง”

ชายแก่คนหนึ่งนั่งตกปลาอยู่ริมทะเล บังเอิญว่ามีนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศเดินผ่านมา เห็นชายแก่นั่งตกปลาอย่างมีความสุข

แต่พอมองไปที่ถังใส่ปลาเห็นมีปลาแค่ 3 ตัว น่าจะพอให้ทำกินได้ทั้งบ้านแค่มื้อเดียว เขาจึงเอ่ยปากถามชายแก่ว่าทำไม่ถึงไม่ซื้อแหมาใช้ จะได้จับปลาได้มากขึ้น ถ้าเอาปลาที่จับได้ไปขายก็ได้เงินมาใช้ พอมีเงินเยอะขึ้นก็ซื้อเรือสักลำ จะได้จับปลาได้มากขึ้นไปอีก หากบริการจัดการให้ดี ก็สามารถจะมีเรือหลายลำ มีเงินเยอะ ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย

ชายแก่หันมามองนักธุรกิจหนุ่มแล้วถามกลับไปว่า

พ่อหนุ่ม ถ้าเกิดฉันมีเงินขนาดนั้น ฉันคงจะสบาย มีคนคอยช่วยงานเยอะแยะ น่าจะมีเวลาว่างเยอะอยู่นะ เธอคิดว่า ถ้าฉันว่างและมีอิสระขนาดนั้น ฉันจะทำอะไร?”

ชายหนุ่มคิดอยู่ครู่หนึ่ง ภาพที่ลุงนั่งตกปลาอย่างมีความสุขแวบเข้ามาในหัว เขาจึงตอบกลับไปว่า

ลุงก็จะมานั่งตกปลาอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขเหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้

บทสนทนาสมมตินี้ เปรียบเทียบให้เห็นว่าความพอเพียงแตกต่างกับความเพียงพอ คนที่มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงคือคนที่รู้จักใช้จ่ายตามกำลังของตนเอง สามารถควบคุมความอยากของตนให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลต่อชีวิต เพราะหากไม่รู้จักควบคุมความอยาก ต่อให้มีเงินสักกี่แสนล้านก็ไม่มีวันจะรู้สึกว่ามีทุกอย่างเพียงพอ

สำหรับภาครัฐ นโยบายส่งเสริมให้ชุมชนมีสิ่งที่ต้องการอย่างเพียงพอ ต่อให้เอาเงินไปให้สักเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางจะทำให้ชุมชนนั้นเพียงพอได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์มีความต้องการที่ไม่จำกัด วันนี้ได้ทีวี พรุ่งนี้อยากได้เครื่องเล่นดีวีดี วันนี้มีเสื้อผ้าใส่ พรุ่งนี้ก็อยากได้เสื้อผ้าอีก

ยิ่งพอคนมาอยู่รวมกันเป็นชุมชน แต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน ถึงมีความเห็นร่วมกันว่า อยากจะทำโครงการอันหนึ่ง และแม้โครงการนั้นจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ก็จะไม่ทำให้ลดความอยากที่จะมีให้ “เพียงพอ” ของสมาชิกในชุมชมลดลงไปได้เลย

สมมติว่าเอาเงินที่ได้ไปซื้อ รถอีแต๋น แล้วให้คนในหมู่บ้านผลัดกันเอาไปใช้ ถ้าไม่เก็บเงินค่าเช่าเลย พอเสียขึ้นมา ใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย หากคิดกันง่ายๆ ว่าเสียที่ใคร คนนั้นก็ซ่อม แรกๆ คนแห่กันมาใช้ พอรถเริ่มโทรม คงไม่มีใครอยากเสี่ยง สุดท้าย รถที่ซื้อมาก็ถูกทิ้งให้ทรุดโทรมไป

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเกิดคนในชุมชนต้องการใช้รถพร้อมกัน เช่น ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต แล้วจะแบ่งกันใช้ยังไง คนที่ต้องรอคิวทีหลัง ถ้ารอไม่ไหว ก็ต้องไปเช่ารถคนอื่นเขา ทั้งที่ตอนลงมติเลือกโครงการนั้น เขาก็คิดไว้ว่า เขาน่าจะได้รับประโยชน์บ้าง ทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนพอใจก็คือ จะต้องมีรถอีแต๋นเพียงพอกับความต้องการของคนในชุมชน

ในทางกลับกันหากจะทำโครงการโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 ก็ควรทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนว่า ความพอเพียงไม่ได้เกิดขึ้นจากการไปหามาเพิ่ม ความพอเพียงเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้ทุกอย่างสามารถใช้ประโยชน์ให้เต็มที่อย่างยั่งยืน

สมมติว่ามีที่ดินอยู่หนึ่งผืน ถ้าคิดแบบมีให้เพียงพอ เราก็จะคิดถึงแต่การหาที่ดินเพิ่ม จะได้เพาะปลูกได้มากขึ้น เงินมากขึ้น จะได้มีเงินทองไว้ซื้อโน่นซื้อนี้ เมื่อคิดแบบนี้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการหาเงินมาเพื่อซื้อที่ดิน แล้วจะหามาจากไหน? กู้เงิน ขอเงินรัฐ พอได้มาแล้ว เอาไปซื้อที่ดิน ปลูกโน่นปลูกนี่มาขาย ถึงจะได้เงินมาสักเท่าไหร่ หากความต้องการอยากได้อยากมียังมีอยู่ ก็ไม่มีวันจะเพียงพอกับความอยากของตัวเอง

การคิดอย่างพอเพียงเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวอยู่ได้อย่างมั่นคง สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองโดยใช้สิ่งที่มีอยู่เป็นหลัก ขาดเหลืออะไรแล้วค่อยไปจับจ่ายซื้อมา

บทเรียนมีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วและองค์กรนานาชาติ บางประเทศรับความช่วยเหลือมาเป็นสิบปี คิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่เคยจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้เลย เพราะปัญหาการคอร์รัปชัน บวกกับความไม่พร้อมของประชาชนและชุมชนของผู้ได้รับการช่วยเหลือ 

บางประเทศพอประชาชนลืมตาอ้าปากได้ก็กลับใช้จ่ายเกินตัว จนกลายเป็นหนี้เป็นสิน การพัฒนาที่ตั้งต้นไว้ดี เลยสะดุดหัวคะมำ เพราะเป็นการพัฒนาเพื่อช่วยให้ “มี” แต่ไม่สอนให้รู้จัก “พอ”

ความจริงแล้ว การอยู่อย่างพอเพียงไม่ได้ขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเติบโตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอาจช้าหน่อย แต่เป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของชาติในที่สุด