ของเราดื่มเหล้าเมื่อของเขาเล่นกีฬา

ของเราดื่มเหล้าเมื่อของเขาเล่นกีฬา

สัปดาห์นี้มีกัลยาณมิตรเสนอข้อความในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับคนไทยตั้งวงเหล้าหลังเลิกงานในขณะชาวกัมพูชาที่เข้ามารับจ้างในเมืองไทยตั้งวง

เล่นกีฬาตะกร้อ ฟุตบอลและวอลเลย์บอล ข้อความนี้สะท้อนอะไรอาจมองได้หลายอย่าง อาทิเช่น คนไทยมีรายได้สูงพอสำหรับซื้อเหล้ามาตั้งวงพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนชาวกัมพูชามีรายได้ไม่สูงพอสำหรับทำเช่นนั้น อย่างไรก็ดี น้ำเสียงของเจ้าของข้อความและความเห็นของผู้เข้ามาอ่านบ่งชี้ว่าไม่น่าใช่เนื่องจากเห็นได้ทั่วไปว่าคนไทยเริ่มตั้งวงดื่มกันตั้งแต่เช้า ประสบการณ์ของผมยืนยันความเห็นนี้ซึ่งบ่งชี้ว่าสังคมไทยกำลังเดินไปในทางลบ

ย้อนไปเมื่อสมัยที่เมืองไทยเริ่มสร้างสนามกอล์ฟและหมู่บ้านจัดสรรกันอย่างกว้างขวาง ชาวนาจำนวนมากในย่านที่ผมรู้จักดีขายนาได้ในราคานับสิบเท่าของราคาที่เคยซื้อขายกันมาก่อน จากการแทบไม่เคยมีเงินในมือมามีเงินหลักล้านบาททำให้ผู้ขายนาย่ามใจใช้จ่ายกันแบบแทบไม่อั้น สิ่งแรกที่พวกเขามักซื้อกันคือรถกระบะซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของความทันสมัย หลังจากนั้นแทบไม่เว้นแต่ละวันก็ขับรถตามกันเข้าตัวเมือง 

นอกจากจะดื่มกินกันในร้านอาหารแล้ว พวกเขายังซื้อเหล้าและเสบียงไปไว้ดื่มกินกันในหมู่บ้านอีกด้วย เวลาผ่านไปไม่นาน เงินล้านก็หมด รถกระบะต้องขาย หรือไม่ก็ไร้สภาพ พวกเขาเหล่านั้นกลับเป็นคนจน ส่วนลูกหลานไร้ที่นา จึงต้องไปหางานทำตามโรงงาน หรือตามร้านรวงในเมือง

ภาพดังกล่าวพอมองเห็นได้ในเวลาอันสั้น แต่ยังมีสิ่งที่ซึมลึกอยู่ในสังคมชนบทซึ่งมักมองเห็นได้ไม่ชัด หรือร้ายยิ่งกว่านั้นอาจมองว่าเป็นการดีเพราะมันมีผลต่อการพัฒนา กล่าวคือ เมื่อถนนและไฟฟ้าเข้าไปถึงหมู่บ้าน ชาวนาพากันซื้อจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัด ผู้ชายมักตั้งวงดูกีฬาและมวยทางโทรทัศน์พร้อมมีเหล้าและกับแกล้มแถมด้วยเงินติดหัวนวม ส่วนผู้หญิงและเด็กมักดูละครและรายการบันเทิงอื่น ๆ

กำลังซื้อของชาวนาส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมมีกำไรและขยายการผลิต นั่นมองว่าเป็นการพัฒนา ในขณะเดียวกัน เกิดอะไรขึ้นในหมู่ชาวบ้านมักถูกมองข้าม จริงอยู่ชาวนาเริ่มมีความสะดวกสบายคล้ายชาวเมือง แต่รายได้จากการทำนามิได้เพิ่มขึ้นไปในอัตราที่จะเอื้อให้พวกเขาซื้อหาของใช้จากภาคอุตสาหกรรมได้มากตามที่พวกเขาอยากได้ ผลสุดท้ายพวกเขากลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นส่งผลให้สูญที่นาให้นายทุน หรือต้องขายนาส่วนหนึ่ง ส่วนลูกหลานต้องไปหางานทำตามโรงงานในเมืองเมื่อไม่มีที่นาสำหรับยึดเป็นอาชีพ หรือเป็นผู้เช่านาถ้าจะทำนาต่อไป

สังคมชนบทเป็นอย่างไรเมื่อที่นาส่วนใหญ่กลายเป็นของนายทุน?

นานับล้านไร่ถูกปล่อยรกร้างดังเป็นที่ทราบกันดี นอกจากนี้ เจ้าของมักไม่สนใจในการพัฒนาที่นาเพราะตนไม่ทำนาเป็นอาชีพอยู่แล้ว ส่วนผู้เช่าก็ไม่สนใจ หรือไม่กล้าลงทุนพัฒนาเพราะไม่รู้ว่าเจ้าของจะทำอะไรต่อไป นั่นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการทำนา

นอกจากนั้น ยังมีปรากฏการณ์อันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่หลายอย่างเชื่อมต่อกันอีกด้วย อาทิเช่น หนุ่มสาวที่เข้าไปทำงานตามโรงงานส่งหลานกลับไปให้ปู่ย่าตายายในชนบทเลี้ยง พวกตนจึงมีเวลาตั้งวงเหล้า ส่วนปู่ย่าตายายมีรายได้น้อย ไม่ค่อยใส่ใจ ตามโลกไม่ทัน ติดละครโทรทัศน์ หรือซ้ำรายตกอยู่ในวงอบายมุข จึงเลี้ยงดูหลานแบบขอไปที หรือตามมีตามเกิด

เด็กมิได้รับการปูฐานด้านการศึกษาจากบ้าน ส่วนการศึกษาในโรงเรียนก็จำกัดมากเนื่องจากโรงเรียนขาดการใส่ใจทั้งจากชุมชนและจากรัฐซึ่งมุ่งแต่จะยุบโรงเรียน เด็กจำนวนหนึ่งจึงต้องนั่งรถไร้ความปลอดภัยของนายทุนไปเรียนในเมือง เรื่องจิตอาสาเข้ามาช่วยโรงเรียนหาไม่ได้ ธนาคารครูที่ผมเสนอไว้จึงยังไม่เห็นแสงตะวัน

ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเสริมกันและกันกัดกร่อนฐานของชุมชนให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อชุมชนอ่อนแอ แน่ละ จะมีทหารสักกี่ล้านคนก็ไร้ความมั่นคง ซ้ำร้ายทหารอาจผลาญงบประมาณและผลักดันสังคมไปสู่ความล่มจมอีกแรง