แนะงานวิจัยที่ศึกษาการซื้อเสียง-ทุจริตเลือกตั้งอย่างจริงจัง*

แนะงานวิจัยที่ศึกษาการซื้อเสียง-ทุจริตเลือกตั้งอย่างจริงจัง*

ในระหว่างที่ผมกำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อเสียงและการทุจริตในประเทศต่างๆในช่วงเวลาต่างๆ

โชคดีพบหนังสือ Brokers, Voters, and Clientelism: The Puzzle of Distributive Politics ของ Susan C. Stokes, Thad Dunning, Marcelo Nazareno และ Valeria Brusco พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนังสือเล่มนี้เกิดจากงานวิจัยที่บรรดาผู้เขียนได้ทุ่มเทศึกษาเรื่องการซื้อเสียงและการทุจริตเลือกตั้งของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าเข้มแข็ง อาทิ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น อีกทั้งยังได้ศึกษาปัญหาการซื้อเสียงหรือการทุจริตเลือกตั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็งในปัจจุบันด้วย เช่น เม็กซิโก อาร์เจนตินา เป็นต้น

 หนังสือเล่มนี้ช่วยให้คนอ่านได้รู้ว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยชั้นนำของโลก ก็เคยมีวิกฤตการซื้อเสียงและทุจริตเลือกตั้งอย่างหนักมาก่อน ไม่ใช่ว่า เมื่อเขาเริ่มมีการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมเลยตั้งแต่ต้น แสดงถึงการยอมรับว่า ไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้นที่ประสบปัญหาซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง แต่ประเทศชั้นนำของโลกก็มี เพียงแต่ว่า เขาผ่านมาได้ และที่น่าสงสัยคือ ทำไมประเทศด้อยพัฒนาจึงยังเวียนวนอยู่กับการทุจริตเลือกตั้งอยู่ 

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือใคร ? การที่ต้องตอบคำถามนี้ก็เพราะว่า ตำแหน่งแห่งที่ของผู้เขียนหนังสือย่อมบ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือในสิ่งที่พวกเขาเขียน ผู้เขียนคนแรกคือ Susan C. Stokes ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ (John S. Saden Professor of Political Science) แห่งมหาวิทยาลัยเยล และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยเยลด้วย Thad Dunning ก็เป็นศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่เยลเช่นกัน Marcelo Nazareno เป็นศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่คอร์โดบา ประเทศสเปน และ Valeria Brusco (ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗) กำลังศึกษาปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติที่ซานมาติน ประเทศอาร์เจนตินา 

หนังสือเล่มนี้ชี้ว่า ในศตวรรษที่สิบเก้า การทุจริตซื้อเสียงในอังกฤษและอเมริกาเกิดขึ้นกับคนจน การซื้อเสียงมีทั้งการจ่ายเป็นเงินสด ให้อาหาร เหล้า ดูแลสุขภาพ ปลดหนี้เพื่อแลกกับคะแนนเสียง และในการซื้อเสียงคนจน นักการเมืองจะต้องพยายามรวบรวมข้อมูลว่าใครมีหนี้สินอะไรบ้าง หรือถึงขนาดว่าใครก่อคดีอาชญากรรม หรือแม้แต่ใครนอกใจเมีย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการได้มาซึ่งคะแนนเสียง 

แต่เมื่อคนจนมีน้อยลงและชนชั้นกลางเติบโตมากขึ้น การซื้อเสียงก็ลดลง แต่ก็ยังมีอยู่ การซื้อเสียงที่ว่านี้มีทั้งที่ใช้เงินสดซื้อตรงๆและแลกด้วยข้าวของเครื่องใช้ กระบวนการซื้อเสียงในสองประเทศนี้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหัวคะแนนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนที่มีสิทธิ์ลงคะแนน ไม่ใช่เป็นการซื้อกันโดยตรงระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งกับประชาชนในเขตเลือกตั้ง นักการเมืองต้องอาศัยตัวกลางหรือหัวคะแนนที่ทำหน้าที่ควบคุมการลงคะแนนเสียงของกลุ่มประชาชนในเครือข่าย และทำหน้าที่ส่งข้าวของหรือเงินรวมทั้งการช่วยเหลือดูแลประชาชนในกลุ่มเครือข่ายด้วย 

จากตัวอย่างของอังกฤษ จะพบว่า ก่อนหน้า ค.ศ. ๑๘๗๒ ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้การลงคะแนนเป็นการลงคะแนนแบบลับ ส่งผลให้การควบคุมกำกับการลงคะแนนเสียงของประชาชนในเครือข่ายที่รับเงินหรือข้าวของหรือได้รับความช่วยเหลือไปแล้วเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสมัยนั้น นักการเมืองต้องจ้างหัวคะแนนและนักเลงคอยกำกับให้แน่ใจว่าประชาชนไม่เบี้ยว แต่นักการเมืองและคนอังกฤษที่เห็นว่า หากปล่อยให้ลงคะแนนแบบเปิดเผยอย่างนี้ การเลือกตั้งจะไม่สุจริตเที่ยงธรรม ประชาชนไม่ได้ลงคะแนนเพราะนโยบาย แต่ลงคะแนนเพราะอามิสสินจ้างและสินบน ประเทศชาติจะเอาดีไม่ได้ เลยมีการผลักดัน พ.ร.บ. ที่กำหนดให้ลงคะแนนลับ (อย่างนี้เข้าใจหรือยังว่า ทำไมจึงมีคนไปร้องให้การเลือกตั้งของไทย ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้เป็นโมฆะ ก็เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้น ดันกำหนดให้ “คูหาเลือกตั้งหันหลังออก ทำให้สามารถมองเห็นการลงคะแนนได้”) 

 นอกจากศึกษาการทุจริตเลือกตั้งของอังกฤษและอเมริกาในอดีตแล้ว คณะผู้วิจัยที่เขียนหนังสือเล่มนี้ยังได้ศึกษาวิธีการหาเสียงที่หมิ่นเหม่คาบลูกคาบดอกของประเทศต่างๆในปัจจุบันด้วย ที่ว่าคาบลูกคาบดอกก็เพราะว่าเป็นวิธีการได้คะแนนแบบเทาๆ ไม่ได้ใช้เงินสดๆซื้อเสียงกันจะๆ หรือแจกของกันดื้อๆ วิธีการแบบเทาๆนี้ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วนในอาร์เจนตินา โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลเป็นผู้รับเรื่องจากประชาชนที่เข้าคิวขอสมัครรับสวัสดิการสงเคราะห์อาหาร มีเจ้าหน้าที่ที่คอยเข้ามากำกับดูแลให้แน่ใจว่าคนที่ได้รับสวัสดิการนี้เป็นคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ที่นายกเทศมนตรีสังกัดอยู่ หรือในกรณีโครงการปรับปรุงที่พักอาศัยในสิงคโปร์ รัฐบาลกำหนดให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ตอบแทนสำหรับผู้คนที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรค PAP (พรรคที่เคยมีนายลีกวนยูเป็นหัวหน้า) และคนที่ไม่ลงคะแนนให้จะไม่มีสิทธิ์ในโครงการนี้ ถือเป็นการลงโทษ และถ้าถามว่ารู้ได้ไงว่าใครลงให้ใคร พรรค PAP ใช้วิธีดูว่าเขตเลือกตั้งไหนพรรคของตนชนะ ก็จะเอาโครงการนี้ไปลง และเมื่อถูกนักวิจัยตั้งคำถามต่อนโยบายแบบนี้ พรรค PAP ตอบว่า เราจำเป็นต้องดูแลเขตที่เราชนะ คนส่วนใหญ่ในเขตนั้นเลือกเรา และเมื่อ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านในสภาตั้งกระทู้ถามว่า แล้วในเขตที่เสียงส่วนน้อยเลือกพรรค PAP หละ พวกเขาไม่ได้อะไรหรือ ? ส.ส. พรรค PAP ตอบว่า เสียใจ ไม่รู้จะช่วยยังไง!

ตกลง สองนโยบายของสองประเทศข้างต้นนี้ ถือว่าชอบธรรมหรือไม่ ?

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจ หัวคะแนน ในประเทศต่างๆในปัจจุบันด้วย ทำให้คนอ่านได้รู้จัก หัวคะแนนในประเทศบราซิลที่คนบราซิลเขาเรียกว่า cabos electorais ซึ่งแปลว่า ผู้รณรงค์หาเสียง ในเม็กซิโก เรียกว่า gestores และ caciques ซึ่งคำแรกแปลว่า ผู้อำนวยความสะดวก ส่วนคำหลังแปลว่า นาย (ทางการเมือง) ในอินเดีย เรียกว่า dalal แปลว่า คนกลาง ในอินโดนีเซียเรียกว่า anggota tim sukses แปลว่า สมาชิกกลุ่มที่ทำให้สำเร็จ ในเซเนกัลมี porteurs de voix (ผู้ให้บริการคะแนนเสียง) และ relais electoraus (คนผ่องถ่ายคะแนนเสียง) และ vecteurs (สื่อตัวกลางหรือพาหะ)

และที่ผมชอบใจมากก็คือ หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงของไทยไว้ด้วย นั่นคือ hua khanaen หรือ หัวคะแนน นั่นเอง ! แปลว่า ถ้าคุณเอ่ยคำว่า หัวคะแนนในภาษาไทย คณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คงพากันกล่าวว่า “I know what you mean.”

////////

* ชื่อเต็มเรื่อง: แนะนำงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการซื้อเสียงและทุจริตเลือกตั้งอย่างจริงจัง