จีนกับการตรึงความเป็น ‘มังกรตัวใหญ่ในอาเซียน’

จีนกับการตรึงความเป็น ‘มังกรตัวใหญ่ในอาเซียน’

เมื่อ “มังกรจีน” ตื่นขึ้นจากการหลับใหลและกำลังฟื้นสถานะความเป็น “ศูนย์กลางแผ่นดิน” ที่ย่อยยับลงในช่วงปลายราชวงศ์ชิง อันเกิดจาก

พลังกระแทกของอาณานิคมตะวันตก วาระแห่งชาติของจีนจึงไม่ได้อยู่ ที่ความเจริญทางเศรษฐกิจ การขยายลู่ทางการลงทุน การค้า และตลาดระบายสินค้าเท่านั้น แต่เป็นความพยายามกอบกู้เกียรติภูมิที่พังทลายจากการรุกรานครอบครองของต่างชาติ การเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่

จีนกับการตรึงความเป็น ‘มังกรตัวใหญ่ในอาเซียน’

เพื่อพลิกฟื้นความภาคภูมิและสถานะอันควรของจีนท่ามกลางประชาคมโลก รวมทั้งนำเสนอ อารยธรรมจีน ในฐานะเป็น ความทันสมัยทางเลือก ที่แตกต่างไปจากตะวันตก

ปัจจุบันการเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้จีน มีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆบนเวทีโลก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน กับประเทศเพื่อนบ้านมีความใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ ระหว่างจีนกับประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง ที่นอกเหนือจากการร้อยรัดในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ภายใต้เส้นเชือกแห่งความสัมพันธ์ยังมีความเชื่อมโยงทางสังคมวัฒนธรรม และการเมือง

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ นักวิจัยผู้พลัดหลงเข้าไปในเขาวงกตแห่งจีนศึกษา และทีมนักวิจัยนานาชาติ ได้ทำการศึกษาวิจัยภายใต้ชื่อโครงการ ทุนนิยมจีน ประชาคมอาเซียนและชาวจีนโพ้นทะเลในอุษาคเนย์ เพื่อทำการวิเคราะห์การเรืองอำนาจของจีน ผลกระทบต่อลุ่มน้ำโขงในห้วงเวลาสำคัญกว่า 3 ทศวรรษ ของ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ที่ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนา สู่สถานะมหาอำนาจผู้มั่งคั่ง โครงการนี้ได้ให้ความสนใจกับความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสัมพันธภาพระหว่างจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเน้นความสัมพันธ์ของผลกระทบจากการลงทุน การค้า ความช่วยเหลือต่างประเทศ และการอพยพหลั่งไหลของชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาในอาเซียน 

ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นมิตรกับจีนในสถานะแบบพึ่งพิงที่เกิดขึ้นภายใต้ 3 เงื่อนไขคือ 1.การขยายตัวของการค้า การลงทุน และความช่วยเหลือต่างประเทศ 2.การขยายอิทธิพลเหนือดินแดนผ่านสัมปทานที่ดินและโครงการขนาดใหญ่ และ 3.การแพร่กระจายของวัฒนธรรมเศรษฐกิจจีนที่มาพร้อมกับการหลั่งไหลของจีนอพยพใหม่สู่ลุ่มน้ำโขง

ในขณะเดียวกันงานวิจัยนี้ยังได้นำเสนอข้อค้นพบและมุมมองเชิงนโยบายสำคัญหลายประการด้วยกันอาทิ 1.เราไม่สามารถแยกเรื่องนโยบายต่างประเทศ ออกจากอุดมการณ์ชาตินิยม และความตั้งใจในการสร้างอัตลักษณ์ที่ทันสมัยของจีนได้ เพราะรัฐบาลจีนทุ่มเทกำลังและทรัพยากรมากมายเพื่อสนับสนุนการเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีน การรื้อฟื้นและตีความปรัชญาจีน สนับสนุนการทำงานของสมาคมจีนในประเทศต่างๆ รวมทั้งการผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ สารคดี โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อหลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย 

2.ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและลุ่มน้ำโขง กำลังพัฒนาไปในลักษณะพึ่งพิงจีนมากยิ่งขึ้น ผ่านความเสียเปรียบทางการค้า การลงทุน และความช่วยเหลือต่างประเทศ ความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวทำให้ประเทศในลุ่มน้ำโขงจำต้องเป็น กัลยาณมิตรทางการเมือง ของจีนโดยปริยาย

3.รูปแบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพิง ทำให้วิสาหกิจและธุรกิจเอกชนของจีน สามารถขอสัมปทานขนาดใหญ่ทั้งการลงทุนด้าน พลังงานไฟฟ้า สวนเกษตร เหมืองแร่ รวมทั้งการจัดสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ” 

4.การลงทุน มาพร้อมกับการหลั่งไหลของชาวจีนหลากหลายกลุ่มเข้ามาในลุ่มน้ำโขง ทรัพยากรและการแข่งขันทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆเป็นของชาวจีนอพยพมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ ศ.ดร.ยศ แสดงตัวอย่างของรัฐบาลจีน สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลาย เช่น กรรมกรสร้างถนนในประเทศลาวหรือกัมพูชา เมื่อหมดโครงการสร้างถนนแล้ว จะได้รับโอกาสให้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลในการทำการค้าในประเทศนั้นๆ ต่อ 

5.วัฒนธรรมเศรษฐกิจจีนแผ่ขยายผ่านการค้าชายแดนในลุ่มน้ำโขง แทนที่ ผู้ค้าท้องถิ่นท่ามกลางเครือข่ายการสร้างเมืองชายแดนในเวียดนาม เมียนมา ลาว และเคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยและมักมีการขยายตัวของธุรกิจมากขึ้นจากแผงลอยสู่ร้านค้า และเป็นผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวของจีนที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้นอย่างชาญฉลาด 

6.การสานสัมพันธ์งอกงามบนยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นปึกแผ่นแห่งประชาคมอาเซียนไปพร้อมกับการเสริมบทบาทของจีนให้ค่อยๆ หลอมรวมเชื่อมร้อยกับอาเซียน

กลับมาที่บ้านเรา นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศทำให้ดูเหมือนว่า ไทยไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนยังคงพัฒนาความใกล้ชิดอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับตัวเลขการค้าที่ไทยเสียดุลการค้ากับจีนมาตลอด

ประเด็นที่น่าห่วงคือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของวัฒนธรรมเศรษฐกิจจีนตามตลาดชายแดนของลุ่มน้ำโขง ซึ่งเริ่มเข้ามาครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจของลาว กัมพูชา และบางส่วนของเมียนมาได้รุกสู่ตลาดชายแดนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนเล็งเห็นโอกาสจากไทย 2 ด้านด้วยกัน 

ด้านแรก ไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ 

ด้านที่ 2 ไทยเป็นกัลยาณมิตรทางการเมืองที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถช่วยจีนแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะการบรรเทาความกังวลของสมาชิกอาเซียนต่อการผงาดขึ้นของจีน ไทยมีศักยภาพเป็น คนกลางเพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนเพื่อยกระดับสถานะของจีนในประชาคมโลก ซึ่งโลกทัศน์ที่จีนมองมาแบบนี้นับเป็นผลดีกับไทยเมื่อการค้าและการลงทุนจากจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตามการพัฒนาสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน อาจเป็นนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันการถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ และญี่ปุ่น ยังคงเป็นทางเลือกที่เปิดช่องให้ไทยมีพื้นที่เพื่อแสดงถึงการมีจุดยืนที่ไม่โอนเอียงและไม่ถูกโอบล้อมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

จากข้อค้นพบข้างต้น ทำให้ได้ข้อคิดว่า สังคมไทยมักมุ่งความสนใจไปที่ประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรา จากมุมมองทางเศรษฐกิจ โดยลืมคำนึงถึงประเด็นซ้อนทับเบื้องหลัง การรู้เท่าทันการดำเนินนโยบายของประเทศที่เข้ามา จะช่วยให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศเกิดความรัดกุมและเกิดข้อเสียเปรียบน้อยที่สุด

 //////

โดย...วรรณสม สีสังข์  สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัย(สกว.)