ไฮโดรเท็คเร่งแก้งบขาดทุน ก่อนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

ไฮโดรเท็คเร่งแก้งบขาดทุน ก่อนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

หุ้นขนาดเล็ก การเติบโตดี ราคาปรับตัวเร็ว เป็นหุ้นในฝันของนักลงทุนหลายคน ด้วยขนาดที่เล็กมีอัตราการหมุนรอบของหุ้น หรือเปลี่ยนมือได้ไว ทำให้เมื่อมีข่าวดีสามารถผลักดันราคาหุ้นเพิ่มขึ้น และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดี

หากแต่ขึ้นอยู่กับการบริงานของบริษัทด้วยว่าสามารถ ทำให้การเติบโตที่มีอยู่เดินไปพร้อมการจัดสรรเงินให้ได้ผลกำไรสูงสุดได้แค่ไหน บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO เป็นหนึ่งในหุ้นเคยมีการเติบโตดี จากการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจวิศกรรมด้านน้ำ

ปัจจุบันมีปัญหาหนักจากกระแสเงินสดสะดุด ขาดสภาพคล่องจนทำให้ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าไปประมูลโครงการต่างๆ จนทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างการเงินไปพร้อมๆกัน

ด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้เพิ่มทุน 200 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 3.89 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 1 บาท ซึ่งจะมีการจองซื้อหุ้นช่วงปลายเดือน พ.ย.

โดยมีการเสนอขายหุ้นเฉพาะเจาะจงให้กับกลุ่มนักลงทุน 2 ราย คือ ‘สมประสงค์ ปัญจะลักษณ์’ จำนวน 81 ล้านหุ้น และ’สุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์’ 19 ล้านหุ้น ทั้งสองรายเป็นผู้บริหารบริษัท พริมโร้ด กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าทางเลือกและอสังหาริมทรัพย์

ผลจากการเพิ่มทุนหากผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนรายใหม่ใช้สิทธิครบตามจำนวนผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ( Dilution Effect ) จะอยู่ที่ 16.9 % แต่หากนักลงทุนรายใหม่ใช้สิทธิตามจำนวนแต่ผู้ถือเดิมใช้สิทธิไม่ครบ ผลกระทบ อยู่ที่ 33.9 %

การเพิ่มทุนในรอบนี้สามารถต่อลมหายใจให้กับไฮโดรเท็ค เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน หลักประกันสินเชื่อเพื่อเข้าร่วมประมูลงานใหม่ๆ คืนหนี้เจ้าหนี้ทางการค้า 30-40 ล้านบาท และเงินลงทุนในโครงการลงทุนก่อสร้างระบบน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียในเขตอุตสาหกรรม มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ที่มีการเริ่มลงทุนไปแล้ว ปี 59 ต้องมีการลงทุนรอบแรก 40-60 ล้านบาท

ขณะที่การปรับโครงสร้างทางการเงิน อยู่ในขั้นโคม่า จากช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 406 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือไม่ถึง 50 ล้านบาท และหนี้สินต่อผู้ถือหุ้นพุ่งสูงจนน่ากังวลใจอยู่ที่ 8.96 เท่า

เมื่อดูจากเงินสดสุทธิจากกิจการดำเนินแสดงให้เห็นว่ามีเงินจากธุรกิจเข้ามามากน้อยแค่ไหน ปรากฎว่าในรอบ 6 เดือนปีนี้ ติดลบ 23.46 ล้านบาท จากปี 59 พลิกมาบวกที่ 30.79 ล้านบาท และปี 58 ติดลบถึง 124 ล้านบาท

ปัจจุบันงานในมืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง  9 โครงการ มูลค่า 1,267 ล้านบาท มีมูลค่างานคงเหลือ 308 ล้านบาท โดยมีงานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 งานคือ โครงการที่มัณฑะเลย์ และโครงการลงทุนระบบผลิตน้ำปะปา ที่เชียงใหม่

ด้านผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 หุ้นไฮโดรเท็ค และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ‘ กิตติ ชีวะเกตุ’ ได้กล่าวกับ รายการ Stock Gossip ว่าการดึงกลุ่มผู้ร่วมทุนเข้ามาใหม่สองรายเป็นการปรับให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ หลังจากประสบปัญหาขาดทุนมาหลายปี ซึ่งผู้ร่วมทุนรายใหม่มาพร้อมกับเงินทุนที่บริษัทต้องการ และยังมีความสามารถช่วยเหลือด้านเครือข่ายให้บริษัทอีกด้วย

ทั้งสองรายรู้จักและคุ้นเคยดี ได้แสดงความสนใจอยากจะเข้ามาลงทุนในไฮโดรเท็ค เพราะเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการส่งกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้น แต่ยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะเข้ามาร่วมบริหารงานด้วยหรือไม่

คาดหวังว่าเม็ดเงินที่ได้มาสามารถแก้ไขปัญหาของไฮโดรเท็คที่เผชิญอยู่ขณะนี้ได้ ซึ่งสามารถทำให้บริษัทเพิ่มงานในมือให้มากขึ้น

‘เงินจากเพิ่มทุนนำไปลงทุนต่อเนื่องในโครงการที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการสำคัญไม่สามารถให้เกิดการสะดุดได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับงานสัมปทานในประเทศนี้ หากไม่รักษาเอาไว้อาจจะกระทบงานในอนาคตได้ ‘

ก่อนหน้านี้ ยูเอซีฯ ได้เข้ามร่วมลงทุนตั้งบริษัทย่อยกับไฮโดรเท็ค ภายใต้บริษัท ยูเอซี ไฮโดรเท็ค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจ บำบัดระบบน้ำเสีย ซึ่งผู้บริหารทั้งสองบริษัทเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มวิศวะกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 15 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาระกิจการพลิกฟื้นหุ้นไฮโดรเท็ค หลังจากได้รับเงินเพิ่มทุน เพียงพอที่ทำให้ฐานการเงินบริษัทดีขึ้น แต่การเติบโตคงเป็นอีกเรื่องว่าจะสามารถการแข่งขันและรักษากำไรได้มากน้อยแค่ไหน