เปิดตัว... “พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560”

เปิดตัว... “พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560”

านเสวนา “ก้าวสู่ยุคใหม่ของการแข่งขันทางการค้ากับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560” ดูจะเป็นการเปิดตัว

กฏหมายฉบับปรับปรุงใหม่ที่ยิ่งใหญ่พอควร และน่าจะหมายรวมถึงการแนะนำองค์กรอิสระที่ชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ด้วย พร้อมโชว์ตัวแมสคอท“Fair Knight”โดยนัยยะก็คือองค์กรนี้จะทำหน้าที่เป็นอัศวินที่มีดาบไว้ลงโทษคนผิด และมีโล่ไว้ปกป้องผู้ประกอบการที่บริสุทธิ์

การจะเป็นอัศวินแห่งความเที่ยงธรรมได้คงไม่ง่ายนัก ยิ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจล้นฟ้าทำหน้าที่กำกับดูแล “ธรรมนูญการค้า” เปรียบความยิ่งใหญ่ได้ใกล้เคียง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เลยทีเดียว เพียงแค่กฏหมายฉบับนี้บังคับใช้กับภาคธุรกิจเท่านั้น

เมื่อเป็นกฏหมายสำหรับภาคธุรกิจ ก็ต้องฟังผู้แทนภาคธุรกิจที่ปล่อยวลีเด็ดบนเวทีว่าการใช้ดาบ ใช้โล่ ต้องถูกคน ถ้าเราใช้ดาบฟันผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ แต่ปกป้องผู้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องดี" คุณรัฐไกร ลิ้มศิริตระกูล นักกฏหมายผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นว่าในตลาดของการแข่งขันจะมีกลไกตลาดควบคุม ระบบนิเวศน์ของธุรกิจมีทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ เป็นโลกความจริงที่ทุกๆส่วนไม่ได้เป็นอิสระจากกันโดยเด็ดขาด แต่ทั้งหมดเกื้อกูลกันอยู่ บรรดาผู้ประกอบการทุกขนาด ก็มีทั้งผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิภาพ กฏหมายนี้ไม่มีเจตนาคุ้มครองผู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพแต่หลักการคือต้องส่งเสริมให้รายเล็กโตขึ้นและต้องไม่ทำลายความสามารถของรายใหญ่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องเป็นกฏหมายที่ทำให้กฏกติกาเดินหน้าไปด้วยกันได้ ถ้ากฏหมายเข้มจนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ย่อมกระทบไปตลอดห่วงโซ่

เขาย้ำว่าโลกธุรกิจทุกวันนี้ไม่ใช่แข่งขันกันแค่ในประเทศแต่แข่งในระดับสากล เป็นโลกที่ไร้พรมแดนไปแล้ว ขณะที่กฏหมายแข่งขันทางการค้าของหลายๆประเทศจะมีผลประโยชน์ของชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น กรรมการที่จะเข้ามาต้องใช้กฏหมายนี้ด้วยความระมัดระวังยิ่ง

ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมฯยังมองว่าเนื้อหากฏหมายฉบับใหม่นี้ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่จุดต่างที่สำคัญคือ “ผู้บังคับใช้กฏหมาย” จากเดิมมีข้าราชการ มีภาคธุรกิจ มีผู้รู้ด้านการค้าการลงทุน แต่ฉบับใหม่นี้กำหนดคุณสมบัติกรรมการ ต้องไม่เป็นภาคธุรกิจ ต้องไม่เป็นข้าราชการ ทั้งๆที่เป็นกฏหมายสำหรับภาคธุรกิจที่กรรมการจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการค้าการลงทุนอย่างดียิ่ง

ดูเหมือนประเด็นที่ผู้แทนทุกภาคส่วนบนเวทีให้ความสนใจตรงกันก็คือคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่ถูกกำหนดให้มี 7 ท่าน เช่นคุณดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่มองว่าความสำคัญของกฏหมายฉบับนี้อยู่ที่ "กรรมการ” ซึ่งต้องมีความโปร่งใส เก่งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีความรู้มีประสบการณ์ประกอบกันหมด เนื่องจากกฏหมายนี้ผสมระหว่างเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และกฏหมาย ทั้งยังท้วงติงในคุณสมบัติของกรรมการว่ายังไม่มีการกำหนดถึงการขัดผลประโยชน์(conflic of interest)เนื่องจากกรรมการทั้งชุดนี้ต้องเป็น “กรรมการกึ่งตุลาการ” มีบทบาทเป็นกรรมการสอบสวนสืบสวนด้วย มีอำนาจเรียกผู้ประกอบการธุรกิจมาสอบได้โดยไม่ต้องแจ้งความและถ้ามีอำนาจสั่งฟ้องได้ก็จะเรียกได้ว่ารวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ได้ในจุดเดียว ดังนั้น คุณสมบัติของกรรมการคณะนี้จึงต้องโปร่งใสที่สุด นั่นคือ ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ มีกระบวนการตรวจสอบ มีจรรยาบรรณ และมีจริยธรรมตุลาการ

สอดคล้องกับดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโครงสร้างกรรมการและการตั้งสำนักงานเป็นองค์กรอิสระนั้นถือว่าดีขึ้น กรรมการมีอำนาจขึ้นมาก แต่การสรรหานั้นไม่ง่าย ขณะที่กลไกถ่วงดุลตรวจสอบยังไม่ดีพอ ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นองค์กรอิสระแล้วแต่ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดี ดังนั้น จึงควรออกกฏระเบียบภายในให้โปร่งใส สำหรับเนื้อหาสาระของ พร.บ.เอง ดร.เดือนเด่นให้ความเห็นว่ามีหลายส่วนที่ต้องชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความคำว่า “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งกว้างมาก

  พรบ.นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 และจะเข้าสู่กระบวนการสรรหา คณะกรรมการซึ่งนับเป็น หัวใจของกฏหมายฉบับนี้ ดังที่ภาคธุรกิจ ภาคตุลาการ และภาควิชาการ ต่างให้ความเห็นไว้บนเวที ... เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนที่ออกจากห้องเสวนาในวันนั้น ...คงรอดูหน้าตาของคณะกรรมการผู้เปรียบเสมือน ศาลธรรมนูญทางการค้าชุดนี้อย่างใจจดจ่อ

โดย... อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์