ความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคมมากกว่าแค่‘ซีเอสอาร์’

ความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคมมากกว่าแค่‘ซีเอสอาร์’

ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาคนในแวดวงธุรกิจตลอดจนผู้บริโภคต่างก็ต้องเคยได้ยินเรื่อง “ซีเอสอาร์(CSR)” ที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม

แต่ไม่กี่ปีให้หลังมานี้เริ่มมีคนออกมาพูดถึงแนวคิดใหม่ๆ อย่าง “ซีเอสวี (CSV)” ที่เป็นการแก้ปัญหาสังคมแต่ไม่ลืมเรื่องของผลกำไรทางธุรกิจแบบลงลึกไปกว่าซีเอสอาร์

ซีเอสวี มาจากคำว่า Creating Shared Value หรือ การสร้างค่านิยมร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม มีพื้นฐานความคิดมาจากการที่ส่วนหนึ่งของความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีกับสังคมที่องค์กรเป็นสมาชิกอยู่ ซีเอสวีจึงเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไปพร้อมๆ กับที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน

หลักแนวคิดสองอย่างนี้อาจดูไม่แตกต่างกันมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทางความคิดของซีเอสอาร์ และซีเอสวี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะซีเอสอาร์เป็นเรื่องของการทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ มีภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการต่างๆ จึงออกมาในรูปแบบของการตอบสนองต่อความคาดหวังและมาตรฐานทางสังคมซึ่งมีขอบเขตที่กว้างไปถึงเรื่องที่ตัวองค์กรอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เลย การดำเนินการอาจจะเป็นได้ทั้งแบบทำครั้งเดียวจบหรือแบบต่อเนื่อง 

ขณะที่ ซีเอสวี เป็นเรื่องของการสร้างผลกำไรในระยะยาวที่ช่วยแก้ปัญหาทางสังคมได้ด้วย โดยจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาทางสังคมโดยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์หรือความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นหลัก หรือการสร้างรูปแบบของการทำธุรกิจที่นำเอาประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขของสังคมมาเป็นโจทย์ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ 

โดยคำนึงถึง 3 สิ่งสำคัญ 1. ต้องก่อให้เกิดผลตอบแทนทางธุรกิจ 2. ต้องตอบสนองต่อปัญหาหรือความจำเป็นของสังคมที่จำเพาะเจาะจง 3. ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือสินทรัพย์ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในประเทศไทยเองก็มีหลายองค์กรขนาดใหญ่ที่ได้นำแนวคิดแบบซีเอสวี มาปรับใช้ เช่น เนสท์เล่ (ไทย) พัฒนากาแฟคุณภาพเพื่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีทั้งแปลงทดสอบสาธิต ศูนย์รับซื้อกาแฟไปจนถึงการจัดทำกล้าพันธุ์ที่ดีให้กระจายออกไปสู่เกษตรกร ซึ่งนอกจากจะช่วยชุมชนแล้วยังส่งผลดีในเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบ

นอกจากนี้ในวงการเทคสตาร์ทอัพมีอีกหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต อย่าง การีนา ที่ผ่านมาพยายามผลักดันเรื่อง อีสปอร์ต มีการยกระดับพร้อมส่งเสริมนักกีฬาไทยในทุกๆด้าน ในอีกทางหนึ่งยังก่อให้เกิดความแข็งแรงในเกมเมอร์คอมมูนิตี้ด้วย

เห็นได้ชัดว่าความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคมต้องการมากกว่าแค่การตอบสนองต่อความคาดหวังอย่างซีเอสอาร์ แต่การคิดต่อยอดแบบซีเอสวีจะเป็นการแก้ปัญหาทางสังคมและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

เพราะสังคมต้องการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแหล่งรายได้ ในขณะที่ธุรกิจก็ต้องพึ่งพาการบริโภคจากชุมชน ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นทั้งองค์กรและสังคมต่างก็ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันจึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ขององค์กรที่ควรหันมาปรับทัศนคติว่าการทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้นไม่ใช่ “ค่าใช้จ่าย” แต่เป็น “กลยุทธ์” ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน