ยุคสินค้าออร์แกนิคครองเมือง คนปลูกได้ คนขายยิ้ม

ยุคสินค้าออร์แกนิคครองเมือง คนปลูกได้ คนขายยิ้ม

เราอยู่ในยุคสมัยที่คนเริ่มหวาดกลัวกลับอาหารแปรรูป สิ่งปรุงแต่ง และอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ใช่ของธรรมชาติกันแล้ว

สินค้าออร์แกนิคจึงเป็นพระเอกในยามนี้

เทรนด์ของการดูและใส่ใจสุขภาพ(Health Conscious)เป็นที่พูดถึงมานานและจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เป็นธรรดาของโลกที่ใครๆก็ต้องกลัวตาย อยากจะมีความสุขกับโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษนี้นานๆ สิ่งที่เราเคยรับรู้สมัยเด็กเรื่องโภชนาการก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่ของแปลกใหม่ทั้งหลายเป็นเรื่องเท่ของผู้บริโภค ต่อมาเมื่อมีการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวกับอาหารแปรรูป แป้งขัดขาว สารเคมีและสิ่งปนเปื้อนจากการอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งผลกระทบกับสิ่งที่เรากินใช้อยู่ทุกวัน ตามมาด้วยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บทั้งใหม่ทั้งเก่าที่คร่าชีวิตผู้คนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

ผู้บริโภคจึงพิถีพิถันมากขึ้น สินค้าออร์แกนิคจึงขายดิบขายดี เดิมเป็นของที่หาซื้อยาก ราคาสูง และดูจับต้องได้ยาก ปัจจุบันถือว่าเปลี่ยนไปเยอะทีเดียว จากรายงานของนีลเส็น(Nielsen)บริษัทวิจัยระดับโลก นำเสนอพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐพบว่าปี2016ทีผ่านมา ครัวเรือนอเมริกันเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิคที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มถึง 88เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มูลค่าการซื้อสินค้าประเภทนี้สูงขึ้นถึง11.8เปอร์เซ็นต์

เนื่องจากสินค้าออร์แกนิคมีอุปทานในตลาดมากขึ้น กระจายทุกช่องทางการจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อง่ายขึ้น โดยไปเลือกซื้อศูนย์สินค้าออร์แกนิคโดยเฉพาะถึง27เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือตลาดสินค้าสดพรีเมี่ยม คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ช่องทางอาหารและผักสดสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการรับรู้ ทดลองตลาด และกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง นีลเส็นชี้ว่าตราสัญลักษณ์สินค้าออร์แกนิค(Organic Claims)มีผลต่อการตัดสินใจซื้อถึง29เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่น และความรู้สึกที่ดีของบรรดาผู้ซื้อได้

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตทั้งหลายต้องใส่ใจ นั่นคือเมื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ควรจะไปติดต่อกับองค์กรที่มีหน้าที่รับรองใบอนุญาตหรือสลากเพื่อแสดงบนบรรจุภัณฑ์ของตน มิเช่นนั้นจะเสียโอกาสในการทำตลาด เพราะของดีถ้าไม่บอกหรือทำให้คนรู้ก็ยากที่จะขายออก หากแต่ ไม่ใช่สินค้าทุกประเภทที่ผู้บริโภคจะใส่ไปเสียหมด กรณีที่เป็นสินค้าสำหรับเด็ก กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจถึง40เปอร์เซ็นต์เห็นว่าสำคัญมาก อย่างไรก็ควรเป็นสินค้าออร์แกนิค ขณะที่สินค้าที่บริโภคประจำซื้อซ้ำซื้อซากกลับมีเพียง8เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าสำคัญ ยิ่งอาหารแปรรูปอย่างไอศครีม มีเพียง4เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าต้องกิน’ไอติมออร์แกนิค’

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องของราคาสินค้าประเภทนี้ที่ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป ไข่ไก่ออร์แกนิคราคาสูงกว่าไข่ปกติถึงหนึ่งเท่าตัว ขณะที่นมออร์แกนิคราคาสูงกว่าที่ขายกันถึง87เปอร์เซ็นต์ เรื่องแบรนด์มีผลอย่างมากกับการตัดสินใจซื้อ โดยผลการศึกษาพบกว่า สินค้าออร์แกนิคที่ผลิตโดยแบรนด์เล็กที่ยังไม่เป็นที่รู้จักต้องเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์ดังถึง18เปอร์เซ็นต์เพื่อดึงดูดให้บรรดานักช้อปรักสุขภาพตัดสินใจหยิบลงตระกร้า จึงไม่แปลกที่เกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยจะขยับขยายอะไรได้ยาก เพราะกำไรที่มาถึงมือน้อย ขณะที่ต้นทุนการทำสินค้าออร์แกนิคค่อนข้างสูง

มองอเมริกาก็กลับมาดูพี่น้องเกษตรกรไทย หวังว่าสักวันบรรดาผู้ที่ทำสินค้าออร์แกนิคคนไทยจะได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับการสนับสนุน มีชีวิตที่ดีเพื่อผลิตของดีๆให้ผู้คนได้ต่อไป อย่างน้อยก็ควรจะดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้