เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

นเดือนที่ผ่านมา มีสิ่งที่ผู้เขียนยินดีและภูมิใจคือ หนังสือเล่มที่หกของผู้เขียน ที่เป็นเล่มล่าสุดและใช้เวลาเขียนยาวนานได้รับการตีพิมพ์

และจำหน่าย หนังสือเล่มนี้คือ “Learn and change fast in 4.0—ชนะอย่างไรในยุค 4.0

ที่ว่าใช้เวลาเขียนยาวนานเป็นเพราะภารกิจที่มากขึ้น ทำให้มีเวลาเหลือมาเขียนหนังสือน้อยลง แต่ที่ภูมิใจก็เป็นเพราะว่า นอกจากจะได้ผู้ใหญ่ที่เคารพถึง 4 ท่านกรุณาเขียนคำนิยมให้แล้ว ผู้เขียนก็ยังดีใจว่าภาพที่มองไว้ในหนังสือไม่ได้ แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นดั่งคำนิยมของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการคำนึงผลกระทบของกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี”

หากให้สรุปธีมหลักของหนังสือเล่มแล้ว จะสามารถสรุปได้ในประโยคสั้น ๆ ที่ว่า “เศรษฐกิจผันผวน การค้าโดดเดี่ยว การเมืองอึมครึม แต่เทคโนโลยีให้ความหวัง” โดยประเด็นทั้งสี่นั้น จะทำให้ภาพในอนาคตจะเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และอึมครึม ดังนั้น ผู้อ่านจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าในปัจจุบัน ประเด็นที่อยู่ในธีมหลักของหนังสือนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

ประเด็นแรก ได้แก่เศรษฐกิจที่ผันผวน โดยจะเห็นได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายมองว่าเริ่มฟื้นตัวนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่น รวมถึงภาคการผลิตและตลาดแรงงานในประเทศเจริญแล้วที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีเศรษฐกิจบางตัว เช่น อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการใช้กำลังการผลิตทั่วโลกกลับยังอยู่ในระดับต่ำ

ภาพเช่นนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) เศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนฟื้นตัวพร้อมกัน (Global synchronized growth) นั้นเป็นการขยายตัวของฝั่งการผลิต (supply) เป็นหลัก แต่ฝั่งการใช้จ่าย (demand) ยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังต่ำแม้ว่าราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญฟื้นขึ้นจากปีที่แล้วก็ตาม

(2) ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่ขยายตัวเกินปัจจัยพื้นฐาน ผลจากการอัดฉีดของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องทั่วโลกสูง และไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นและนำไปสู่ฟองสบู่โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ

(3) การที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกเริ่มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น เริ่มจากสหรัฐที่ประกาศลดทอนขนาดงบดุล ยุโรปที่จะลดทอนการอัดฉีด รวมถึงญี่ปุ่นที่อาจจำเป็นต้องลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะเงินเฟ้อจากราคาสินทรัพย์ (Asset price inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางเหล่านั้นต้องเข้ามาคุมมิให้ฟองสบู่ใหญ่เกินจนอาจเกิดวิกฤตในอนาคตปัจจัยทั้งสามจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปผันผวนคาดเดายาก ทำให้การบริหารธุรกิจและการลงทุนในช่วงต่อไปยิ่งยากขึ้น

ประเด็นที่สอง ได้แก่การค้าโดดเดี่ยว โดยในประเด็นนี้นั้น แม้ว่ากระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ (Anti-globalization) ที่รุนแรงปีที่แล้วจะลดลง เพราะสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อันได้แก่ สหรัฐและจีนจะยังไม่เกิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐต้องการพึ่งจีนในการควบคุมเกาหลีเหนือไม่ให้สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ (แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าใดนัก)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ากระแสต่อต้านการค้าการลงทุนมีทิศทางจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งจาก (1) รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2015 มีการร้องเรียนประเด็น NTB ทั่วโลกถึง 86 กรณี เพิ่มขึ้นจากเพียง 4 กรณีในช่วง 20 ปีก่อน (2) ทิศทางการลงทุนทางตรง (FDI) ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง โดยกระแสเงินทุนไหลเข้า 25 ประเทศตลาดเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 8% ของ GDP ในปี 2005 เหลือประมาณ 1% ของ GDP ในอีก 10 ปีต่อมา

นอกจากนั้นการกีดกันการลงทุนแฝงผ่านมาตรการของทางการ เช่น การที่รัฐบาลทรัมพ์ประกาศห้ามเอกชนจีนบางบริษัททำการควบรวมกิจการ (M&A) กับบริษัทสหรัฐ รวมถึงการที่คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินว่าบริษัทแอปเปิ้ลของสหรัฐเลี่ยงภาษีในไอร์แลนด์นาน 11 ปี และสั่งปรับ Google ฐานจัดอันดับค้นหาข้อมูลไม่เป็นธรรม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การลงทุนลดลงเช่นกัน

ประเด็นที่สาม ได้แก่การเมืองอึมครึม เห็นได้ชัดสุด จากสถานการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการซ้อมยิงขีปนาวุธและทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ขณะที่สหรัฐและสหประชาชาติก็ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การสั่งสมกำลังอาวุธมากขึ้น และความเสี่ยงที่จะเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการทหารที่สูงขึ้นเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย ได้แก่เทคโนโลยีให้ความหวัง (แต่ก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง) โดยเทคโนโลยีในยุค 4.0 เช่น Internet of Things, AI, Cloud Computing และ Fintech ที่แม้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับมวลมนุษยชาติ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการผลิตและนำความสะดวกสบายมาสู่ชีวิตประจำวันนั้น แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ เช่น (1) แย่งงานและอาชีพปัจจุบัน เนื่องจากงานหลายประเภท โดยเฉพาะงานประจำ (Routine) สามารถเครื่องจักรสามารถทำได้มีประสิทธิภาพกว่า (2) ทำร้ายธุรกิจเดิม กำเนิดธุรกิจใหม่ (Disruptive Technology) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะมาแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น และ (3) มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนมหาอำนาจด้านธุรกิจใหม่ของโลก จากจ้าวธุรกิจเดิม เช่น GE, Ford, Safeway และ Siemens เป็น Google, Tesla, Amazon และ Alibaba นอกจากนั้น เทคโนโลยี 4.0 บางอย่างก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลกในอนาคต เช่น Crypto-currency เป็นต้น

แน่นอนว่า ปัจจัยทั้งสี่กระทบต่อธุรกิจและการลงทุนมหาศาล แต่จะเรียนรู้ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ติดตามได้ในหนังสือเล่มนี้

//

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่