ท้าทายอนาคต

ท้าทายอนาคต

ช่วงเวลานี้ถือเป็นรอยต่อสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอีกครั้ง

เพราะเรากำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นั่นคือการปฏิวัติเทคโนโลยีหรือที่บ้านเรากำหนดเป็นนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

ในประเทศอื่นๆ อาจใช้ชื่อนโยบายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนมีความหมายเดียวกันคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นตัวขับเคลื่อน ยกระดับธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยเป็นกำแพงขวางกั้นการเติบโตของธุรกิจในอดีตได้ถูกเทคโนโลยีทำลายลงอย่างราบคาบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนับล้านๆ คนในชั่วพริบตา หรือต้นทุนในการจัดการที่ลดลงมหาศาลฯลฯ

เวทีเสวนาและกิจกรรมให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจในทุกวันนี้จึงเปลี่ยนทิศทางมาสู่เรื่องดิจิทัลอย่างเต็มพิกัด ขณะเดียวกันมีการตื่นตัวในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่ก้าวหน้าไปไกล รวมไปถึงความรู้ในเทคโนโลยีแขนงอื่นๆ ก็ล้วนมีความคึกคักไม่แพ้กัน ทั้งหุ่นยนต์, บิ๊กดาต้า, เอไอ, ไอโอที, บล็อกเชน ฯลฯ ล้วนเป็นตัวทำลายขีดจำกัดทางธุรกิจเดิมๆ ทั้งสิ้น คลื่นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในครั้งนี้จึงส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้

แล้วคนทั่วๆ ไปจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ในฐานะปุถุชนก็คงได้รับผลบวกจากเทคโนโลยีที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเพราะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย แต่ในฐานะของคนที่ทำงานให้ภาคธุรกิจรวมไปถึงผู้บริหารและเจ้าขององค์กร อาจต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้

เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจไปหมด ทำให้ธุรกิจที่เราทำอยู่ในวันนี้อาจหมดความหมายไปได้ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราจึงจำเป็นต้องมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับผลกระทบที่กำลังจะมาถึง

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปทางใด เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อถือให้กับทั้งลูกค้าและซัพพลายเออร์ให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ทุกฝ่ายจะก้าวไปด้วยกัน นั่นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ซัพพลายเออร์ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่ลูกค้าก็ยังคงได้รับสินค้าและบริการที่ดียิ่งกว่าเดิม

ดังนั้นทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงการอยู่รอด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตไปสู่อนาคตและทุกฝ่ายล้วนมองเห็นความสำคัญของความร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ

กลยุทธ์ในการดึงทุกฝ่ายให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยอันดับแรก คือต้องตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของธุรกิจ เพราะระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีอาจเปลี่ยนธุรกิจจากดาวรุ่งไปเป็นดาวร่วงได้ง่าย ๆ

กรณีศึกษาที่คลาสสิกที่สุดก็คือยุครุ่งเรืองของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งถูกผูกขาดอยู่กับความสำเร็จของโนเกียแห่งฟินแลนด์เพียงรายเดียว แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจากโทรศัพท์มือถือจะเติบโตสู่การเป็นสมาร์ทโฟน และกลายเป็นอุปกรณ์ที่แทบจะเป็นอวัยวะหนึ่งของผู้คนในยุคปัจจุบัน และก็ไม่มีใครคิดเช่นกันว่าโนเกียซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในยุคนั้นจะตกขอบธุรกิจจนต้องหาทางกลับสู่สมรภูมิสมาร์ทโฟนได้อย่างยากลำบากในทุกวันนี้

เราจึงต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แสวงหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ผันแปรตลอดเวลา และต้องตระหนักว่าแนวทางที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต อาจไม่มีค่าใดๆ เลยในปัจจุบัน เพราะสภาพแวดล้อมและตัวแปรต่างๆ ล้วนแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง