ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนส.ค.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนส.ค.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนสิงหาคม

ในช่วงต้นเดือนมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษ โดยธนาคารกลางของอังกฤษมีมติ 6-2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์ ต่อมาในช่วงกลางเดือน มีการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฏาคมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดย FOMC ได้ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% เป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จึงควรรอให้อัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณที่ดีขึ้นก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการยังเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากตลาดแรงงานสหรัฐที่อยู่ในภาวะจ้างงานเต็มศักยภาพแล้ว ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค. เช่นกัน ซึ่งคณะกรรมการ ECB เห็นว่าค่าเงินยูโรแข็งค่ามากเกินไป และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังไม่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนก.ค. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนมีการประชุมผู้นำธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ๊คสัน โฮล แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญในทางนโยบายการเงินใหม่ ๆ ออกมาตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้ารอ โดยประธานธนาคารกลางยุโรปไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น และประธานธนาคารกลางสหรัฐก็เลี่ยงที่จะระบุถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐในการแถลงสุนทรพจน์

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจน เงินเฟ้อชะลอตัวจากด้านอุปทาน ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย และสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (Underpricing of risks)

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของไทยล่าสุด จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ไตรมาสที่สองของปีนี้ว่าขยายตัวได้ 3.7% จากปีก่อนหรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยภาคต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อย ๆ ฟื้นตัวจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โดย สศช. ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นขยายตัว 3.5 – 4.0% จากเดิม 3.3 -3.8%

ความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยกเว้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีมีความผันผวนในเดือนนี้ กล่าวคือ ผลจากการจำกัดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยและผลจากการซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงต้นเดือนปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดของปี โดยรุ่นอายุ 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน มาแตะที่ระดับ 1.0383%, 1.0507% และ 1.2151% ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นเกิดแรงขาย อีกทั้งการกลับมาขายสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับปรับตัวขึ้นมา โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงปลายเดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1201%, 1.2143% และ 1.4275% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ

สถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดของปี จากกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรต่อเนื่อง ยอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท (13/09/60) เพิ่มขึ้นจาก 6.34 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี2559ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก กล่าวคือ ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินทุนจากต่างชาติที่หันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ที่การถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย

นอกจากนี้ ความไม่เชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐ และแผนการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดขนาดงบดุลของเฟด นำมาซึ่งการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตลอดจนความกังวลสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้เงินไหลมายังสินทรัพย์ปลอดภัย ปัจจุบัน พันธบัตรระยะสั้นโดยเฉพาะรุ่นอายุไม่เกิน 3 เดือนซื้อขายกันต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก ส่วนพันธบัตรระยะยาว โดยฉพาะรุ่นอายุ 10 ปีของไทยและสหรัฐแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 2.42%, สหรัฐ 2.20%, 13/09/60)คาดว่าเหตุการณ์นี้อาจจะคงอยู่ไปสักระยะหนึ่ง จนกว่ากระแสเงินทุนดังกล่าวจะย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น หรือมีการปรับเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ จึงมีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนจะปรับตัวกลับขึ้นมา มากกว่าจะปรับลดลงต่อไป