สต้าร์ทอัพ (Startup) กับการแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุข

สต้าร์ทอัพ (Startup) กับการแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุข

ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป (Focus Group) ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพที่กำลังผลักดัน

ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเราดีขึ้น บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนระดับมันสมองที่อยู่ในวงการแพทย์ สาธารณสุข วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ นักประดิษฐ์ นักออกแบนวัตกรรมใหม่ๆรวมถึงนักกฎหมายและอีกหลายอาชีพ จัดว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ต้องการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมสต้าร์ทอัพด้านสุขภาพโดยไม่ถูกจำกัดอันเนื่องมาจากกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งของรัฐ จนถึงขนาดที่มีผลต่อความคิดริเริ่มในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Healthcare Startup Regulation Unlocked) 

ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Thailand 4.0 ในทุกมิติ การขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่มิติใหม่นี้คงเป็นเรื่องยากถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเข้ามาช่วย เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆจะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมหาศาล พร้อมทั้งกำจัดจุดอ่อนในระบบที่ใช้มนุษย์ตัดสินใจ ด้วยข้อมลที่ถูกต้อง แน่นอน รวดเร็ว ง่ายต่อการประมวลผล และในที่สุดก็จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ช่วยผลักดันประเทศให้ไปสู่เป้าประสงค์ได้เร็วขึ้น 

ในปัจจุบันเราคงได้ยินกิจกรรมสต้าร์ทอัพในหลายรูปแบบและหลายธุรกิจ ที่คุ้นเคยมากสุดก็คงเป็นกิจกรรมในส่วนของระบบการเงินการคลังที่เรียกว่า Financial Technology หรือเรียกสั้นๆว่า FinTech แต่ถ้าจะเกิดในระบบสาธารณสุข ก็น่าจะเรียกว่า Healthcare Technology หรือ HealthTech 

จริงๆแล้วระบบสาธารณสุขก็มีการใช้ข้อมูลมานานแล้วที่เรียกว่า Health Information Technology หรือ HIT แต่การใช้ข้อมูลเป็นเพียงเรื่องพื้นฐานและไม่ได้นำมาพัฒนาเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพอนามัยของประชาชนมากนัก แต่ใช้ในด้านการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการสำหรับการศึกษาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก การนำเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้โดยสต้าร์ทอัพจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลให้เข้ามาสู่โหมดของการแก้ปัญหาที่เป็นคอขวดในระบบสาธารณสุขที่ทำให้ระบบเดินได้ดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาใช้ข้อมูลได้มากขึ้น และข้อมูลทั้งหลายก็จะถูกจัดกระทำในลักษณะที่เป็นการปกป้องการนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดๆ มีการจัดระบบการแชร์ข้อมูล การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล (Privacy) มีการรับรองคุณภาพความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Certification) ป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อความความมั่นคงของประเทศ (Cyber Security) 

สิ่งที่จะได้กลับมาก็คือจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่จะทำให้ระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทำได้ดีขึ้น อาทิการให้การรักษาแบบการให้การรักษาทางไกล (Telemedicine) การให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ (Online Healthcare) การแบ่งปันข้อมูลในทางการแพทย์ ( Data Sharing) หรือแม้กระทั่งการยุติข้อพิพาททางการแพทย์ (Dispute Resolution) เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างของนวัตกรรมที่เทคโนโลยีสารสนเทศจะถูกนำมาใช้โดยกิจกรรมสต้าร์ทอัพทางด้าน healthcare หรือ HealthTech 

ในต่างประเทศนั้น สต้าร์ทอัพได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆในระบบสาธารณสุขอย่างมีสาระสำคัญ การใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) ของสต้าร์ทอัพ ทำให้เกิดนวัตกรรมการดูแลรักษาสุขภาพในทางที่ดีขึ้น เกิดการสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายด้านการแพทย์และยา สร้างความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลคนไข้เพื่อให้มีประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น มีการจัดการประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาลของตัวเองได้แม้จะได้รับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล การออกแบบซอฟท์แวร์แชร์ประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเข้าพบแพทย์ การแชร์ข้อมูลด้านการแพทย์และการวิจัย การเก็บข้อมูลคนไข้อย่างละเอียดในกรณีที่ต้องใช้เป็นหลักฐาน การสร้างความโปร่งใสในอุตสาหกรรมยา การบันทึกข้อมูลทุกประเภทที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การติดตามยารักษาโรค และอื่นๆอีกมากมายที่เหล่าสต้าร์ทอัพในต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว 

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรามีปัญหาในระบบสาธารณสุขไม่น้อย ไม่ว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน การขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็น การเดินทางไกลเพื่อเข้าพบแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีระบบการคมนาคมที่สะดวก การขาดแคลนเวชภัณฑ์และเครื่องมือในทางการแพทย์เพื่อทำหัตถกรรม นอกจากนั้นเรายังมีปัญหาใหญ่เรื่องงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ไม่เคยได้รับเต็มตามที่ตั้งไป เกิดการเกลี่ยงบประมาณ เกิดความเหลื่อมล้ำในการให้การรักษาพยาบาล สถานพยาบาลของรัฐจำนวนมากดำเนินการอย่างขาดทุนจนทำให้เกิดการถดถอยการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบที่ไม่สมบูรณ์นี้ก็ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์กับผู้เสียหายทางการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งๆที่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากต้นเหตุคือความไม่สมบูรณ์ในการให้การรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากข้อจำกัดที่อยู่เหนือการควบคุม ผู้เสียหายเองก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้โดยสะดวกทั้งๆที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเขาเอง เมื่อข้อพิพาทจบลงด้วยการใช้พยานบุคคลเข้าสืบหักล้าง ทั้งๆที่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แต่ถูกเก็บอย่างกระจัดกระจาย และผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่นนี้ถือเป็นปัญหาเรื้องรังที่สะสมมานาน 

นวัตกรรมใหม่ๆเกี่ยวข้อมูลสารสนเทศที่กลุ่มสต้าร์ทอัพดำเนินการออกแบบและสร้างแพลทฟอร์ม (Platform) ใหม่ๆนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับระบบสาธารณสุขของประเทศทั้งในแง่ธุรกิจและสวัสดิการสังคม ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลที่มีข้อจำกัดน้อยลงเรื่อยๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางโรคที่ขาดแคลนอาจให้ความเห็นผ่านระบบสื่อสารทางไกลที่เรียกว่า Telemedicine ประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยสามารถสืบค้นได้จากสถานพยาบาลทุกแห่งช่วยให้เกิดความมั่นใจในการวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยหรือผู้เสียหายทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยสะดวกรวดเร็ว และเป็นข้อมูลเดียวกันกับที่เก็บไว้ใสถานพยาบาล การยุติข้อพิพาททำได้ง่ายขึ้นเพราะมีข้อมูลที่เป็นพยานเอกสารที่น่าเชื่อถือมากกว่าพยานบุคคล ระบบศาลยุติธรรมก็จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ดุลยพินิจน้อยลง หรืออาจจะพูดอีกนัยหนึ่งว่านวัตกรรมที่เกิดจากสต้าร์ทอัพจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขที่เรื้อรังมานานได้ดีขึ้น 

ได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งว่าระบบเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์มหาศาลเพราะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการลดลง การใช้ดุลยพินิจของมนุษย์น้อยลง ข้อมูลมีความถูกต้องแน่นอนอยู่ในระบบเดียวกัน มีความรวดเร็วในการถ่ายทอดส่งต่อข้อมูลชั่วพริบตา เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลใหม่ๆก็ยิ่งเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ประโยชน์ 

สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนใจขณะนี้ก็คือนวัตกรรมที่เกิดจากสต้าร์ทอัพด้านต่างๆยังติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบปฏิบัติมากมายที่ไม่เอื้ออำนวยให้การคิดค้นต่อยอดเกิดขึ้น ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ หรือระบบดิจิตอล ที่ยังมีการควบคุมเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงแต่กลับเป็นการสกัดกั้นความคิดใหม่ๆของกลุ่มสต้าร์ทอัพ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยาและอาหารของ อย. กฎหมายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค รวมตลอดทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา การใช้เวลานานในการอนุมัติ ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปสำหรับธุรกิจสต้าร์ทอัพที่มีเงินทุนค่อนข้างจำกัด แม้กระทั่งระบบการพิจารณาพิพากษาคดีหรือระบบยุติธรรมที่ยังไม่รับรองข้อมูลสารสนเทศที่ไม่ใช่เอกสาร เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องเข้ามาดูเพื่อปลดล็อค ช่วยให้ผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆในระบบสาธารณสุขเข้ามาคิดค้นสร้างแพลตฟอร์มให้เข้าถึงประชาชนจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน 

ถ้ารัฐบาลต้องการยกระดับประเทศให้เป็นประเทศไทยยุคก้าวหน้าที่เรียกว่า Thailand 4.0 ก็คงต้องยอมรับความจริงว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดจากนวัตกรรมของกลุ่มสต้าร์ทอัพเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ ระบบสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นระบบใหญ่ที่ประกอบด้วยระบบย่อยอีกมากมายมหาศาลที่ขับเคลื่อนระบบใหญ่ เปรียบเสมือนท่อน้ำขนาดใหญ่ที่มีข้อต่อมากมายหลายข้อระหว่างต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ละข้อต่อก็มักจะเป็นส่วนที่เกิดการรั่วไหลมากบ้างน้อยบ้าง กว่าน้ำจากต้นน้ำจะถึงปลายน้ำก็เกือบจะไม่มีน้ำเหลือให้คนปลายน้ำใช้ สต้าร์ทอัพจะเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่หรือจุดอ่อนที่เหมือนน้ำที่รั่วไหล และเป็นการเพิ่มแรงดัน เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่เพิ่มแรงดันน้ำให้น้ำไหลแรงขึ้น จึงถือว่าเป็นประโยชน์กับสังคมประเทศชาติที่ไม่ควรมองข้าม