“Citizen Feedback: เมื่อประชาชนร่วมแก้คอร์รัปชัน”

“Citizen Feedback: เมื่อประชาชนร่วมแก้คอร์รัปชัน”

ปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงและเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในบ้านเรา ทำให้การแก้ไขปัญหาต้องมาจากทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจและประชาชน ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาเป็นพฤติกรรมของสังคมที่ทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง แต่คำถามคือ ประชาชนจะช่วยแก้ได้อย่างไร เพราะประชาชนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการใช้เงินของภาครัฐ มีแต่มักถูกกระทำ เช่นตอนไปติดต่อราชการ อาจถูกแกล้งเตะถ่วง หาเรื่องให้ช้าต่างๆนานา เพื่อกดดันให้ต้องจ่ายเงินพิเศษ ให้สินบน ไม่อย่างนั้นธุระไม่เสร็จ ทำให้เป็นต้นทุน เสียเวลา เสียเงินและเสียใจ ทั้งที่ไม่อยากไปยุ่ง คำถามคือ ประชาชนจะทำอะไรได้ในการแก้คอร์รัปชัน

ในบ้านเรา คอร์รัปชันจะมีสี่ประเภทหลักที่เกิดบ่อย หนึ่ง คอร์รัปชันด้านนโยบายที่ผู้มีอำนาจการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกนโยบายหรือเปลี่ยนนโยบายเดิมเพื่อหาผลประโยชน์จากการออกหรือเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว รวมถึงจากทรัพย์สินราชการ ที่ตนเองกำกับดูแล เช่น ออกนโยบายให้มีการขาย เช่า ให้หาประโยชน์ ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีหรือแบ่งปันรายได้ โดยมีวาระซ่อนเร้นเพื่อเปิดช่องให้มีโอกาสที่จะทุจริตเพื่อหารายได้ให้กับตนเอง

สอง คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินงบประมาณแผ่นดินโดยหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐซื้อของแพงกว่าที่ควรต้องจ่ายและได้ของไม่ดีเพราะการทุจริตคอร์รัปชัน

สาม หารายได้จากตำแหน่งหน้าที่ที่ประชาชนและบริษัทธุรกิจมาติดต่อส่วนราชการเพื่อขอใบอนุญาตตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ โดยแกล้งทำเรื่องให้ล่าช้า ติดขัด ไม่ยอมอนุมัติ เพื่อหารายได้ หาประโยชน์ให้ตนเอง ทั้งๆที่เรื่องที่ยื่นมาถูกต้องทุกอย่าง และสี่ ทุจริตจากการไม่ทำหน้าที่ที่ต้องรักษากฎระเบียบและกฎหมาย ปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมาย ไม่มีการจับกุม เพื่อหาผลประโยชน์จากการไม่ทำหน้าที่

สี่รูปแบบนี้คือ คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและกว้างขวางในบ้านเรา ซึ่งในทุกกรณี ตัวกลางที่เป็นพื้นที่ของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันก็คือ ฝ่ายราชการ และทั้งสี่รูปแบบนี้ก็เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่ไม่ถูกต้อง หาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่หรือจากการไม่ทำหน้าที่ ส่งผลกระทบและสร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ประชาชน และประเทศ

วันนี้อยากเขียนถึงโครงการ Citizen Feedback ของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC โครงการ CAC เป็นโครงการที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยประกาศตัวทำธุรกิจอย่างสะอาด หมายถึง ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบนในการทำธุรกิจ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อปลายปี 2554 มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ในโครงการนี้ 852 บริษัท และในบริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์นี้มี 264 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC โดยผ่านการสอบทานจากผู้ตรวจสอบภายนอกว่าบริษัทมีนโยบาย มีแนวปฏิบัติ และบริษัทปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ได้วางไว้จริง แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่บริษัทจะไม่รับ ไม่จ่ายหรือให้สินบนในการทำธุรกิจ

แต่ถึงแม้บริษัทเอกชนจะมีความต้องการที่จะไม่จ่ายสินบน แต่เมื่อต้องไปทำธุรกิจหรือติดต่องานกับบางส่วนราชการ ปัญหาก็ยังมีอยู่ คือ ในหลายหน่วยงานราชการ บางหน่วยงานยังใช้วิธีไม่เดินเรื่องหรือไม่ทำเรื่องให้เสร็จตามกระบวนการอนุญาต ถ้าไม่มีการให้เงินพิเศษหรือจ่ายสินบน ซึ่งสร้างปัญหาและความล่าช้าให้กับประชาชนและบริษัทธุรกิจที่ไปติดต่อกับราชการมาก ทั้งที่รัฐบาลเองก็ต้องการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ หัวหน้าส่วนราชการเองก็ไม่อยากให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ส่วนไหนที่เรียกสินบนหรือสร้างปัญหาให้กับผู้ที่มาติดต่อ ซึ่งถ้ามีข้อมูลก็จะสามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาได้ดีขึ้น คำถามคือ ทำอย่างไรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจะมีข้อมูลว่าหน่วยงานไหนมีปัญหาในเรื่องแบบนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตหรือ CAC ได้ศึกษาเรื่องนี้ และพบว่ามีประสบการณ์ที่ดีหลายแห่งในต่างประเทศที่ประชาชนที่ติดต่อราชการจะเป็นผู้แจ้งปัญหาเองว่าเจอเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ แจ้งความพึงพอใจต่อการให้บริการของหน่วยงานรัฐว่าเป็นอย่างไร มีอุปสรรคและความสำเร็จอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลนำไปสู่การแก้ปัญหา ที่สำคัญ เมื่อข้อมูลของประชาชนที่รับบริการจากภาครัฐถูกนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ก็จะทราบว่าปัญหาความล่าช้า ความไม่พึงพอใจ และการเรียกสินบนโดยเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการอยู่ที่หน่วยงานไหน เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

แนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาโครงการ “Citizen Feedback”หรือ “สังคมดี๊ดี สองนาทีง่ายๆ” โดยโครงการ CAC ร่วมกับองค์กรเอกชนอีกสามองค์กรคือ สมาคมนักวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย และบริษัท Hand Enterprise Solutionsเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาใช้บริการหน่วยงานภาครัฐ สามารถประเมินความพึงพอใจการให้บริการหน่วยงานรัฐที่ไปติดต่อโดยวิธีสแกน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ในหน่วยงานที่ไปใช้บริการ นำไปสู่การตอบแบบสอบถามออนไลน์สั้นๆที่ใช้เวลาเพียงสองนาที โดยผู้ตอบสามารถให้คะแนนความพึงพอใจของบริการที่ได้รับ ระบุถึงความประทับใจและอุปสรรคที่พบจากการใช้บริการ รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายสินบนด้วย ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามสามารถให้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องเปิดเผยตัวตนและสามารถติดตามผลการประเมินได้ตลอดเวลา

ขณะนี้ โครงการได้เริ่มแล้วในลักษณะของโครงการต้นแบบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อทดสอบระบบ การรายงาน และการประเมินข้อมูล โดยเริ่มที่หน่วยราชการห้าแห่ง ระหว่างวันที่ 18 กันยายน – 13 ตุลาคมนี้ ได้แก่ 1. ฝ่ายทะเบียน กรมการขนส่งทางบก 2. ศูนย์รับรองใบอนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 3. สำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร 4. สำนักงานที่ดินเขตพื้นที่ห้วยขวาง และ 5. สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีโดยการร่วมมือและประสานงานเป็นอย่างดี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก...)

ข้อมูลที่ได้จากการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการจะถูกนำไปวิเคราะห์ประมวลผล โดยสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นการวิเคราะห์และประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนอย่างมืออาชีพ ตามมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้สามารถมั่นใจถึงคุณภาพ ความเป็นกลาง และความน่าเชื่อถือของผลการประเมินที่จะออกมา

ช่วงเวลาหนึ่งเดือนของโครงการต้นแบบในหน่วยงานราชการทั้งห้าพื้นที่จึงเป็นโอกาสและจุดทดสอบสำคัญที่ประชาชนจะสามารถให้ความคิดเห็นและมีส่วนทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานและการปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อมีการขยายขอบเขตโครงการออกไปในปีหน้า ให้มีหน่วยงานราชการจำนวนมากขึ้นในทุกส่วนของประเทศให้มีการประเมินการให้บริการในลักษณะนี้ ข้อมูลจากประชาชนทั้งประเทศจะสามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เงื่อนไขของการเรียกสินบนหรือเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในการให้บริการประชาชนตามหน้าที่ของราชการก็จะลดลงโดยปริยาย

นี่คือจุดเริ่มต้นของพลังความเห็นของประชาชนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทำได้ง่ายๆ ภายในสองนาที ซึ่งเท่าที่ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์แรก ประชาชนผู้ใช้บริการตอบรับเป็นอย่างดี ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมให้ความเห็น และร่วมกันสนับสนุนแก้ปัญหา