ปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่ออะไร เพื่อใคร อย่างไร

ปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่ออะไร เพื่อใคร อย่างไร

เศรษฐกิจไทย เป็นเศรษฐกิจ ๒ระดับ คือระดับคนรวย, คนชั้นกลาง และระดับคนรายได้ต่ำ ซึ่งซ้อนกันอยู่ ดังนั้นถึงเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโต

เพราะส่งออกได้เพิ่ม มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่ม มีการใช้จ่ายของคนรวย คนชั้นกลางระดับสูง แต่การที่คนส่วนใหญ่บ่นว่าเศรษฐกิจพวกเขาไม่ค่อยดี ก็เป็นความจริงแบบคู่ขนานกันไป เพราะการโตของเศรษฐกิจระดับของคนรวยไม่ได้เผื่อแผ่ไปถึงคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง

การที่คนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ คือปัญหาสำคัญที่สุดที่ เราจำเป็นต้องปฏิรูปทั้งระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของคนรวย คนชั้นกลาง การปฏิรูปทางเศรษฐกิจหมายถึงต้องปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (ลักษณะการเป็นเจ้าของ ผู้ควบคุมที่ดิน เงินทุน ปัจจัยการผลิต ปัจจัยการจัดจำหน่าย และการกระจายสินค้าและบริการ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของส่วนรวม และกระจายผลการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสำหรับประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ในแนวทางที่ยั่งยืนหลีกเลี่ยงและลดการทำลายระบบนิเวศ

ประสิทธิภาพของส่วนรวม คือต้องคิดในเชิงเปรียบเทียบต้นทุนทางสังคม (เช่น ระบบนิเวศเสียหาย) และผลตอบแทนทางสังคมด้วย ไม่ได้คิดแค่ประสิทธิภาพของหน่วยธุรกิจ เรื่องกำไร ต้นทุนของธุรกิจเอกชนเฉพาะราย ซึ่งเป็นเรื่องคนส่วนน้อย ทั้งธุรกิจเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่ใช้ทรัพยากรส่วนรวมในราคาต่ำยังทำให้ทรัพยากรส่วนรวม เช่น น้ำ วัตถุดิบธรรมชาติ ฯลฯ ขาดทุนทางสังคมได้ การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องคิดเรื่องต้นทุนทางระบบนิเวศด้วย

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือที่การปฏิรูปที่ดิน การเกษตร ระบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณ การสาธารณสุข ระบบประกันสังคมและรัฐสวัสดิการ เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้สู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึงเป็นธรรม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานที่เหมาะสมทำ มีประสิทธิภาพในการทำงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างระบบเศรษฐกิจภาคต่างๆ ชุมชนต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งเจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมจะเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งกว่าวิธีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และบริษัทขนาดใหญ่อย่างที่เป็นอยู่

ปัจจุบันเราเน้นการพัฒนาแบบพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศสูงเกินไป มูลค่าส่งออกและสั่งเข้าสูงถึง 140% ของ GDP สูงกว่าหลายประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่า เศรษฐกิจเติบโตจริง แต่ไหลออกนอกประเทศและไหลเข้ากระเป๋าคนรวย คนชั้นกลาง ไม่ได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่

เราเป็นประเทศใหญ่ปานกลางเรามีประชากร 68 ล้านคน ใหญ่ราวอันดับที่ 20 ของโลก ที่สามารถเปลี่ยนไปใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เน้นการพึ่งพาตนเองในระดับชุมชนและระดับประเทศ (ผลิตและซื้อขายกันเอง โดยใช้แรงงานและวัตถุดิบภายในประเทศ) เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ การพัฒนาแนวใหม่นี้จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศแบบสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยได้มากกว่า นโยบายที่เน้นการส่งออก/สั่งเข้าสินค้าอุตสาหกรรมแบบที่ทำกันอยู่ การเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทำให้ไทยต้องสั่งเข้าเครื่องจักร พลังงาน วัตถุดิบ ฯลฯ จากต่างประเทศมาก นายทุนต่างประเทศได้ประโยชน์มากกว่าคนไทยที่ได้ผลตอบแทนแค่ค่าแรงงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ไทยมีประชากร ทรัพยากร และศักยภาพที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจแนวพึ่งพาตนเองเพิ่มขึ้นได้อย่างสำคัญ มีที่ดินที่ใช้เพาะปลูกได้ใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก มีทรัพยากรทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่จะหารายได้จากการท่องเที่ยวได้มาก รวมทั้งมีเงินทุนในประเทศ (เงินฝากธนาคารและทุนทรัพย์อื่นๆ) จำนวนมากกว่า GDP ด้วย นายทุนไทยตอนนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท

ถ้าเราปฏิรูปเศรษฐกิจในแนวที่มุ่งกระจายทรัพย์สิน รายได้ ให้ประชาชนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ประชาชน 68 ล้านคนจะมีกำลังซื้อเพิ่ม ตลาดภายในประเทศไทยจะใหญ่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันที่เศรษฐกิจและตลาดภายในของไทยยังมีขนาดเล็กอยู่นั้นก็เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่รายได้ต่ำ กำลังซื้อจึงน้อย เปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย 2 ประเทศนี้มีขนาดทางเศรษฐกิจ (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP) สูงกว่าไทย 7-8 เท่า ถ้าไทยปฏิรูปการกระจายทรัพย์สิน รายได้ สู่คนส่วนใหญ่ พัฒนาคน ทรัพยากร การผลิตและการซื้อขายบริโภคสินค้าและบริการของคนไทยด้วยกันเอง จะทำให้ เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

การปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางใหม่ ควรทำควบคู่กันไปกับการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดโดยทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม (ต่างจากเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา) ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กเข้มแข็งแข่งขันเพื่อประโยชน์ของแรงงานและผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมพัฒนาระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค, วิสาหกิจชุมชนระบบประกันสังคม รัฐสวัสดิการชุมชนสวัสดิการ ที่มีการบริหารจัดการแบบโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันยังมีปัญหาประสิทธิภาพต่ำและขาดความโปร่งใส ควรปฏิรูปในแนวให้เป็นบริษัทมหาชนที่กระจายหุ้นสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม หรือปฏิรูปให้เป็นวิสาหกิจแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจของชุมชน ที่ต้องมีจัดระบบบริหารใหม่โดยนักบริหารมืออาชีพอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และให้บริการที่มีคุณภาพและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของร่วมและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจแนวใหม่ที่สำคัญข้อหนึ่งคือ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยผู้ประกอบการรายย่อย และสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค ที่แต่ละชุมชน ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล สามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องการผลิตอาหารและปัจจัยจำเป็นอื่นๆ ได้มากขึ้น แนวทางพัฒนาที่จะส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทางเลือกอื่นๆ หัตถกรรม อุตสาหกรรม การเกษตร การท่องเที่ยวชุมชน การผลิตพลังงานทางเลือกระดับชุมชน ฯลฯ

การลดสัดส่วนการพึ่งพาโรงงาน ฟาร์มขนาดใหญ่ ธนาคารขนาดใหญ่ ฯลฯ ลงมา อาจทำได้โดยการใช้นโยบายป้องกันการผูกขาดธุรกิจรายใหญ่ การเก็บภาษีธุรกิจรายใหญ่และคนรวยในอัตราก้าวหน้าขึ้น สนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม สหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค วิสาหกิจชุมชนฯลฯ เพิ่มประสิทธิภาพ แข่งขันกับธุรกิจใหญ่ได้ เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิต (แรงงาน) และผู้บริโภค ที่คือประชาชนส่วนใหญ่ และคนที่จะทำให้เศรษฐกิจสังคมไทยเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง