ฤารัฐหลงทาง เน้นสร้างฐานะให้คนรวย

ฤารัฐหลงทาง เน้นสร้างฐานะให้คนรวย

เห็นข่าวรัฐบาลเตรียมยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับกองทุนที่ได้กำไรจากการขายหุ้นที่ลงทุนในสตาร์ทอัพแล้ว รู้สึกสะท้อนใจ

เพราะที่ผ่านมา เราก็รู้มาตลอดว่า รัฐได้ลดภาษีให้กับบริษัทใหญ่ๆ อยู่แล้ว ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือเพียง 20% และยังยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอีก เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมรัฐจึงเน้นช่วยคนรวยที่เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ๆ แต่พอกับคนธรรมดาที่คิดจะตั้งตัว รัฐกลับไม่ช่วย แถมยังซ้ำเติมด้วยการคิดภาษีที่ไม่เป็นธรรมอีก

ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ทั่วโลกต่างมีแนวโน้มออกไปทำงานอาชีพอิสระ มีการสำรวจในสหรัฐพบว่า คนอายุ 18-24 ปี เลือกทำงานอิสระถึง 47% บางคนเรียกเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ว่าเป็น Free Lance Economy หนุ่มสาวเหล่านี้บางคนสามารถใช้นวัตกรรมพัฒนาไปจนเป็นสตาร์ทอัพ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มากมาย รัฐบาลไทยก็อยากได้สตาร์ทอัพมากระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนเขาบ้าง แต่ดูเหมือนการกระทำกับความอยากได้จะสวนทางกัน โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้ของคนทำงานอาชีพอิสระ

อาชีพอิสระหรือที่เรียกเท่ๆ ว่าฟรีแลนซ์นั้น คือการทำธุรกิจด้วยตนเอง ใช้ทุนน้อยแต่เน้นใช้กำลังกายและกำลังความคิดค่อนข้างมาก เมื่องานส่วนใหญ่เริ่มคนเดียวทำคนเดียว อุปสรรคจึงมากเป็นพิเศษ มาดูว่าพวกเขาเจออุปสรรคอะไรบ้าง

1.ความคิด พวกเขาต้องหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้แตกต่างจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในตลาด บางทีกว่าจะได้ไอเดียดีๆ ก็ใช้เวลาหลายปี และถ้าบังเอิญมันไม่ดีจริง ก็เสียหายทั้งเงินทุนและกำลังใจ

2.ความชำนาญ เมื่อเป็นของใหม่ต้องมีการฝึกฝน กว่าจะฝึกจนเก่ง ก็ต้องเสียค่าฝึกอบรมไปมากมาย ที่สำคัญต้องให้เก่งกว่าคนที่ทำอยู่เดิม

3.เงินทุน ช่วงเริ่มต้นยังไม่มีผลงาน ยังกู้เงินธนาคารไม่ได้ เงินส่วนตัวก็ยังน้อย จึงต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ทำให้มีต้นทุนการเงินสูงกว่าคนอื่น

4.แรงงาน ช่วงแรกยังไม่มีเงินจ้าง ก็ต้องทำเองหรืออาจต้องจ้างเพื่อนๆ มาช่วยกันทำ

5.ระบบบัญชี/การตลาด/บริการหลังการขาย เมื่อยังไม่มีทุน จึงต้องทำเองคนเดียวทุกอย่าง ลองผิดลองถูกไปเรื่อย กว่าจะสำเร็จก็เสียหายไปเยอะ อันนี้เป็นต้นทุนแฝงที่คนทั่วไปไม่รู้

แต่สิ่งที่นักสู้อิสระเหล่านี้ได้รับรู้ เมื่อต้องไปเสียภาษีประจำปี หลังจากคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงรู้ว่าคนเหล่านั้นคิดอีกอย่าง

1.ความคิด เป็นสิ่งที่ได้มาฟรี ไม่มีต้นทุน

2.ความชำนาญ เป็นเรื่องของพรสวรรค์

3.เงินทุน ใช้เพียงเล็กน้อยเพราะเพิ่งเริ่มต้น

4.แรงงาน ถ้าไม่มีใบเสร็จ ก็ไม่เชื่อว่าจ้างงานใคร

5.ระบบบัญชี/การตลาด/บริการหลังการขาย เมื่อเจ้าของทำเอง จึงไม่มีต้นทุน

นี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่สรรพากรหรือนักภาษีอากรรุ่นเก่าคิดกันแบบนี้จริงๆ พวกเขาจึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า มันไม่มีต้นทุนในงานของคนทำงานอิสระ พวกเขาจึงกำหนดให้อาชีพอิสระที่รับจ้างทำของ หรือรับทำงานให้คนอื่นหรือบริษัทอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียงเท่ากับคนกินเงินเดือน คือหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2)) ซึ่งโดยนัยก็คือหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย เพราะตามปรกติ คนกินเงินเดือนเมื่อไปทำงานให้กับบริษัท ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรอยู่แล้ว บริษัทเป็นผู้ออกใครจ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด เพราะค่าใช้จ่ายของคนกินเงินเดือน จะมีก็เพียงค่าเสื้อผ้าและค่าเดินทางไปทำงาน ที่เหลือคือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น สำหรับคนทำงานอาชีพอิสระจึงสรุปได้ว่า หักค่าใช้จ่ายได้เพียงแค่ค่าดำรงชีพเหมือนกับคนกินเงินเดือน

เพื่อให้เห็นภาพ จะขอยกตัวอย่างว่า ถ้านายก.มีรายได้จากเงินเดือนปีละ 500,000 บาท ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาว่างรับงานข้างนอกมาทำในลักษณะรับจ้างทำของ มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 500,000 บาท รวมเป็นหนึ่งล้านบาทต่อปี แต่นายก.จะหักค่าใช้จ่าย ได้เพียง 100,000 บาทในส่วนของรายได้จากเงินเดือนเท่านั้น ในส่วนของอาชีพเสริมที่รับจ๊อบมาทำ จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เลย

หรือหากถ้าในก.คนนี้ รับงานมาทำที่บ้านของตัวเอง มีรายได้ทั้งปีหนึ่งล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย 300,000 บาท เป็นส่วนของต้นทุนจริงในการดำเนินงาน แต่เมื่อไปยื่นเสียภาษี กรมสรรพากรจะให้หักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น สรุปแล้ว ไม่ว่ารายได้ของเราจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าระบุว่าเป็นอาชีพอิสระรับจ้างทำของ ไม่ว่าจะมีรายได้ปีละ 300,000 บาท 1 ล้านบาท หรือ 3 ล้านบาท จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเพียง 100,000 บาทเท่านั้น นี่คือความพิสดารของกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งหากเราคิดด้วยหลักตรรกะพื้นๆ เมื่อคนเรารับงานมาทำมากขึ้น ทำให้มีรายได้สูงขึ้น ต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินการก็ต้องสูงตาม ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่ารับรอง ค่าการตลาด ค่าฝึกอบรมพัฒนาตนเอง หรือค่าอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ

นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายแฝง เช่น เสนองานแล้วไม่ผ่าน (แต่ลงทุนลงแรงทำไปแล้ว), สินค้าเสียหายในระหว่างการผลิต หรือค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นหลักประกันในชีวิต เช่น ค่าประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เงินเก็บสำหรับการเกษียณอายุ(ลูกจ้างบริษัทจะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เพราะในสหรัฐ ได้มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า ค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้พนักงานนั้น นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการพนักงานอีกถึง 30% ดังนั้นบริษัทในสหรัฐจึงเริ่มนิยมการจ้างแรงงานอิสระ จ่ายงานออกไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องสวัสดิการ ในทางกลับกัน จึงพอที่จะอนุมานได้ว่าสำหรับคนทำงานอาชีพอิสระแล้ว หากเขาต้องการมีหลักประกันให้ตนเอง ให้กับครอบครัว เขาก็ต้องมีต้นทุนในส่วนนี้เหมือนกัน มันคือต้นทุนอย่างหนึ่ง ที่รัฐมองข้ามมาโดยตลอด

ส่วนที่รัฐได้ออกมายาหอมว่า ในปีภาษีใหม่นี้จะให้คนทำงานอาชีพอิสระหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% ของรายได้นั้น กลายเป็นเรื่องของการเล่นคำเสียมากกว่า เพราะคนที่จะหักใครจ่ายได้สูงถึง 50% แล้วได้วงเงินถึง 100,000 บาท นั้นก็คือคนที่มีรายได้เพียง 200,000 บาทต่อปีเท่านั้น ถามว่าถ้าคนเราอุตส่าห์ออกมาประกอบอาชีพอิสระทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว ยังมีรายได้ปีละ 200,000 บาท(ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย) จะออกมาเสี่ยงทำไม เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องตลกร้ายให้คนเขาล้อเลียนเปล่าๆ

หากเรานึกไม่ออกว่าอาชีพอิสระที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) มีอะไรบ้าง จะขอยกตัวอย่างพอสังเขปเช่น อาชีพรับจ้างจัดงานอีเวนท์ อาชีพโปรแกรมเมอร์ อาชีพรับจ้างออกแบบและบริหารเว็บไซต์ งานออกแบบกราฟฟิก รวมถึงอาชีพรับจ้างประกอบสินค้าให้กับโรงงานต่างๆ ซึ่งหลายอาชีพถือเป็นงานสร้างสรรนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เสียด้วยซ้ำ แต่คำตอบที่ได้จากกรมสรรพกรคือ ถ้าอยากหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง คุณต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัท แล้วใช้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายแบบนิติบุคคล คำถามคือ คุณพร้อมที่จะเดิมพันด้วยเงินทุนที่คุณเก็บมาทั้งชีวิตหรือไม่

ลำพังเพียงแค่คนเรามีความมั่นใจว่าเราแน่พอที่จะออกมาทำงานอิสระแข่งกับบริษัทใหญ่ เราต้องพร้อมลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมมากมายกว่าที่จะแข่งขันในตลาดได้ ดังนั้น เมื่อรัฐรู้ข้อมูลนี้แล้ว ต้องพยายามสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้กลายเป็นรายใหญ่ ให้เป็นรากฐานที่แน่นหนาของสังคม เหมือนสร้างให้มีต้นไม้เล็กใหญ่อยู่เต็มป่า ไม่ใช่แค่มีต้นโพธิ์ ต้นไทรอยู่ 4-5 ต้น เหมือนที่เศรษฐกิจของไทยอยู่ในกำมือของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4-5 ตระกูลเท่านั้น

อยากจะให้รัฐมองโลกอย่างเป็นจริง ดูอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขาให้ผู้ประกอบการอิสระหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หักค่าใช้จ่ายได้เหมือนบริษัท เช่น สามารถหักค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม ค่าโฆษณา ค่ารับรอง ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน เรียกได้ว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่สมควรในการทำธุรกิจสามารถหักได้หมด เท่าที่สอบถามเพื่อนฝูงในแวดวงธุรกิจ พบว่านี่เป็นหลักการที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะให้ผู้ประกอบการอิสระหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ 30% ของรายได้ โดยไม่มีเพดาน รายได้มาก ก็หักค่าใช้จ่ายได้สูงตามรายได้ แถมยังไม่ต้องแสดงหลักฐานใดๆ (เพียงทำบัญชีค่าใช้จ่ายให้ดู) แต่ถ้าแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 30% กรมสรรพกรอาจมีการขอตรวจสอบ และเจ้าของธุรกิจต้องแสดงหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินให้ตรวจสอบได้

ถ้าทิศทางของคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานอิสระ รัฐเองก็อยากให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น ทั้งยังหวังที่จะให้มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาบ้าง รัฐควรจะพิจารณาเก็บภาษีด้วยความเป็นธรรม คนรุ่นใหม่มีความตั้งใจสูง อย่าให้มาไฟมอดเพราะวิธีคิดแบบเดิมๆ ของคนรุ่นเก่าเลย ไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยมีนักคิดค้นนักบุกเบิกน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก เพราะหันไปทางไหน มีแต่คนบ่นว่า ไม่คุ้ม ไม่จูงใจ เหนื่อยเปล่า

จากภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า รัฐกำลังพัฒนาชาติไปผิดทิศผิดทางหรือเปล่า ทำไมช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งถ่างกว้าง ความมั่งคั่งตกอยู่กับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ 4-5 ตระกูลที่กุมทรัพยากรทั้งประเทศ เจ้าของธุรกิจรายย่อยที่จะตั้งตัวสะสมทุนรอนไปสู้กับรายใหญ่ แทบไม่มีโอกาสแทรกตัวขึ้นมาเลย

ถ้ารัฐอยากแก้ไข ไม่ยากครับ คำตอบอยู่ในสายลม ใช้หัวใจฟังสักนิด แล้วจะรู้เองว่า ต้องทำอย่างไร

/////

โดย บรรยง วิทยวีรศักดิ์