การเมืองยุคใหม่ของไทย ต้องสลัดออกจากนักเลือกตั้ง

การเมืองยุคใหม่ของไทย ต้องสลัดออกจากนักเลือกตั้ง

เมื่อผมพูดถึง “การเมืองยุคใหม่” ผมไม่ได้หมายถึงแต่เพียงเรื่องของอายุหรือคนรุ่นไหน หากแต่ต้องการจะสื่อว่าในยุคดิจิทัลนี้การเมืองแบบเก่า

มิอาจจะแก้ปัญหาที่สั่งสมมาช้านานของประเทศได้

และคำว่า “การเมืองยุคใหม่” ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลเสมอไป หากแต่ยังต้องกลับไปสู่ค่านิยมพื้นฐานของการสร้างสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมของประเทศ

นั่นคือการทำอย่างไรให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยเหมือนอย่างที่คนข้างนอกเห็นคุณค่าหลายประการของไทย

การเมือง ประชานิยม เป็นแนวทางของนักการเมืองเก่าที่ต้องการจะลดแลกแจกแถมชาวบ้านเพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งคราวหน้า

แต่การเมือง “ยุคใหม่” คือการสร้างความสำนึกร่วมของคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

บารัก โอบามา พลิกประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐด้วยการประกาศ นโยบาย Change อันหมายถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายปลายทางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมือง

โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คำขวัญ Make America Great Again ได้ผลกับคนเกือบทุกระดับชั้นเพราะเขาทำให้คนอเมริกันที่รู้สึกหดหู่ท้อถอยรู้สึกมีความหวังว่าอเมริกาจะเอา “ความยิ่งใหญ่” กลับมาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าคำนิยาม “ความยิ่งใหญ่” จะตีความไปได้ในหลาย ๆ ด้านที่อาจจะเป็นทางลบก็ตาม

ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยทั้งประเทศจะไม่เพียงหวังให้ นักการเมืองกลุ่มเดียวนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงถาวรอีก

ถึงเวลาหรือยังที่คนทั้งประเทศทุกสาขาวิชาชีพจะมองว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” เพื่อจะทำให้ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่สามารถจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนบ้านทุก ๆ ประเทศและได้ความเคารพนับถือจากประเทศใหญ่ ๆ ทั้งหลายว่าเรามีความเป็นตัวของตัวเอง มีศักดิ์ศรีและความเป็นประเทศที่กล้าคิดกล้าทำและกล้ายืนอยู่แถวหน้าของความเป็นเลิศอย่างไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใคร

หรือบางทีคำขวัญสำหรับคนไทยในยุคใหม่นี้คือการฟื้นความคาดหวังของชาติร่วมกันเพื่อให้ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเป็นเป้าหมายของคนในชาติโดยไม่แบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป

Make Thailand Proud Again!

การเมืองยุคใหม่ของไทยจะต้องมาจากการตระหนักถึงการยอมรับว่าเราไม่อาจจะปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างที่ใครเคยพูดเอาไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองแต่เพียงกลุ่มเดียว”

ผมเสนอให้มีการตั้ง social startups ที่กระจายตัวไปในแวดวงต่าง ๆ ของสังคมเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ (อายุตั้งแต่ 18 ถึง 80) ในการใช้ความคิดแบบใหม่ เทคโนโลยีที่สร้างพลังให้กับปัจเจกเพื่อก่อตัวเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคม

กลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เสริมส่งให้การเมืองเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วนที่มีความภาคภูมิในบทบาทของตนเองต่อสังคมเป็นส่วนรวม

ไม่ใช่เป็นการเมืองอุปถัมภ์ที่ชนชั้นล่างต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อ “นักเลือกตั้ง” ที่ใช้ภาษีประชาชนมาอ้างบุญคุณกับรากหญ้า จนทำให้คนฐานรากในเมืองและชนบทตกอยู่ในภาวะต้องพึ่งพานักการเมืองที่อ้าง “อาณัติ” ที่ได้มาจากวันเลือกตั้งวันเดียวเท่านั้น

หากเราสลัด การเมืองของนักเลือกตั้งไม่ได้ เราก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองในยุคดิจิทัลนี้ได้เช่นกัน