คลินิกหมอครอบครัว กับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล

คลินิกหมอครอบครัว กับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล

รื่องของโครงการคลีนิกหมอครอบครัวและระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster หรือ PCC) เป็นโครงการใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข

เป้าหมายคือต้องการลดความแออัดของคนไข้ที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลทั่วไปมากเกินไป

เท่าที่รับฟังจากที่ประชุมกรรมาธิการที่ผู้ชี้แจงเป็นสาธารณสุขนิเทศน์ และแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลางที่มีประสบการณ์เรื่องคลินิกครอบครัวมาช้านาน มีลักษณะการทำงานเหมือนคุณหมอสมัยก่อนที่ปั่นจักรยานไปพบผู้คนชาวบ้านร้านถิ่นในชุมชน พูดคุยเรื่องสุขภาพอนามัยถามไถ่ทุกข์สุข

ที่บ้านต่างจังหวัด ยังจำได้สมัยเด็กๆ เพิ่งมีโรงพยาบาลมาตั้งในเขตตำบลที่คุณตาเป็นกำนัน คนเกิดคนตายที่โรงพยาบาล ต้องมาแจ้งที่บ้านเพราะเป็นที่ทำการกำนัน ออกสูติบัตร มรณบัตร เพราะโรงพยาบาลไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล

ชาวบ้านร้านถิ่น ยังไม่ค่อยเข้าโรงพยาบาล คุณชวดเป็นแพทย์ประจำตำบล จำได้ว่ามีคนป่วยมาหาไม่ขาด ท่านมีศักดินาเป็น หมื่นบรรเทาอาพาทย์

ตัวเองและน้องอีกสองคนก็คลอดโดยหมอตำแย ยกเว้นคนที่สี่ คนสุดท้อง มาคลอดที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมทำหมันคุณแม่

แต่ที่จำได้อย่างหนึ่งคือ แพทย์คนแรกๆ ที่มาประจำโรงพยาบาลชัยนาท หัวล้านเถิก ปั่นจักรยานไปตามทางในตำบล ข้างหลังจักรยานมีกระเป๋าหยูกยากระจุกกระจิก ชาวบ้านร้านถิ่นรักท่านมาก ลูกเด็กเล็กแดงรู้จักคุณหมอคนนี้หมด

เป็นช่วงรอยต่อระหว่างแพทย์สมัยเก่ากับแพทย์สมัยใหม่ การรักษาแบบพื้นฐานต่างกันบ้าง แต่ที่สำคัญคือคุณหมอที่ปั่นจักรยานกับคุณชวดที่เป็นหมอแผนโบราณเจอกันก็คุยกัน ดูจะถูกคอกันดี ไม่มีใครคิดแย่งลูกค้าใคร

การประชุมกรรมาธิการวันนี้ จึงเหมือนกลับไปสมัยโบราณ ให้หมอกับคนในชุมชนใกล้ชิดกัน ไปมาหาสู่กัน แต่เรียกเสียใหม่ว่า คลินิกหมอครอบครัว เน้นให้บริการระดับปฐมภูมิ

หลังจากฟังผู้ชี้แจงแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยมั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ประชาชนในชุมชนไม่ได้อยู่ในสังคมแบบโบราณที่ผู้คนพบปะพุดคุยแบบเห็นหน้าค่าตาไถ่ถามทุกข์สุข แต่ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสื่อสารกันแทน มันเหมือนกับว่าผู้คนในปัจจุบันรู้เรื่องการดูแลตัวเองขั้นปฐมภูมิอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้น ถ้าเกินกำลัง ก็ไปหาหมอโรงพยาบาล ซึ่งการเดินทางเดี๋ยวนี้ก็สะดวกมากขึ้น แล้วใครจะไปหาแพทย์เพื่อการรักษาระดับปฐมภูมิ พูดง่ายๆ ก็คือ มันข้ามขั้นตอนนี้ไปแล้ว

เข้าใจดีว่ารัฐต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี ดูแลตัวเองและพบแพทย์เพื่อรักษาพยาบาลขั้นต้น ไม่ใช่เป็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไปโรงพยาบาลทั่วไปจนแน่นไปหมด

อาจจะดีสำหรับประชาชนที่อยู่ห่างไกลเมือง คนยากคนจนที่ไม่มีเงินนั่งรถมาหาหมอในเมือง แต่จะมีสักกี่คน แล้วจะคุ้มกันหรือไม่ที่จะมีทีมหมอครอบครัว ที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ที่ไม่แน่ใจว่าจะเอามาจากไหน เพราะแม้กระทั่งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ยกระดับมาจากสถานีอนามัยเดิม ก็ยังไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ครบ

แล้วก็เกิดคำถามกับทางฝ่ายแพทย์ว่าจะมีแพทย์ที่ไหนไปอยู่ชนบทได้นานๆ แพทย์จบใหม่ใช้ทุนอาจเป็นไปได้ แต่พอแต่งงานมีครอบครัวมีลูก ก็ต้องคิดถึงการเติบโตในหน้าที่การงานและรายได้รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จะมีสักกี่คนที่ยอมอยู่ชนบทตลอดชีวิต ก็คงจะขอย้ายเข้าโรงพยาบาลในเมือง มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

ก็ขนาดแพทย์ชนบท ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นแพทย์ในตัวอำเภอ เพียงแต่อยู่ในต่างจังหวัด ก็ยังคิดขยับขยายเข้าเมือง หมอคลินิกครอบครัวก็คงไม่ต่างกัน

ยกเว้นว่าเราผลิตแพทย์ล้นเหลือเฟือ เดินเตะฝุ่น ไม่มีงานโรงพยาบาลในเขตเมืองทำ ก็อาจไม่มีทางเลือกมากนักที่จะไปเป็นหมอครอบครัว

อีกคำถามคือ ความก้าวหน้าของหมอครอบครัวจะเป็นอย่างไร เส้นทางการเติบโตในวิชาชีพของพวกเขามีหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็เท่ากับไม่มีอนาคต แล้วใครจะยอมให้ชีวิตเป็นอย่างนั้นตลอดปีตลอดชาติ

ที่คิดว่าอาจเอาแพทย์เกษียณราชการมาเป็นหมอครอบครัว อาจคิดได้ แต่ไม่น่าทำได้ เพราะมันพ้นวัยที่จะมาทำงานลุยๆ แบบนี้ อายุอานามขนาดนี้ย่อมมีครอบครัวมีลูกมีหลานดูแล

ถ้ามีคลีนิกครอบครัว หนึ่งทีมคลีนิกต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน ก็ต้องมีทีมแพทย์ 6,500 ทีมโดยประมาณ ถ้าคิดว่าจะก้าวไปให้บริการถึงผู้ใช้สวัสดิการราชการกับประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมประชากร 65 ล้านคน เพื่อจะได้งบประมาณรายหัวหัวละ 1,500 บาท คล้ายกับที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ทำตอนนี้อยู่แล้ว ระบบงบประมาณสาธารณสุขก็คงจะซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก และไม่คิดว่าผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการและผู้ประกันสังคมจะมาใช้บริการ เพราะทั้งสองกลุ่มมีโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ให้บริการดีกว่า คิดแล้วก็ดูเหมือนว่าโครงการนี้ไม่น่าเป็นประโยชน์คุ้มค่า ไม่ว่ามองในแง่ไหนๆ บุคคลากรก็ไม่มี งบประมาณก็ไม่มี งานก็ซ้ำซ้อนกับ รพสต. หรือสถานีอนามัยเดิมที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

ถ้าทำ รพสต.ให้ดีๆ น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะสถานที่ก็มีแล้ว เครื่องมือหัตถการก็มีแล้ว บุคลากรก็มีอยู่บ้างแล้ว อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน มีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน บางแห่งมีศักยภาพถึงขนาดมีห้องทำการผ่าตัดเล็กได้โดยไม่ต้องส่งต่อโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ จะขาดก็แต่ไม่มีแพทย์ประจำ มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนยาที่มีน้อยชนิด และเครื่องมือหัตถการทางการแพทย์อาจไม่ทันสมัยเท่าโรงพยาบาลทั่วไป แต่ถ้าเน้นให้ดูแลเบื้องต้น ก็น่าจะทำได้ ถ้าปรับปรุงให้ดีขึ้นในส่วนที่เป็นข้อจำกัด

โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว การจะกลับไปทำอะไรแบบเดิมๆ คงไม่ได้

คิดถึงประเทศกำลังพัฒนา หรือแม้ด้อยพัฒนาหลายประเทศในอดีตเช่น อินเดีย จีน ที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพราะค่าใช้จ่ายตั้งเสา ลากสาย ติดตั้งโครงข่าย ใช้เงินมหาศาล แต่พอมีเทคโนโลยีสื่อสารโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาเหล่านั้นถูกก้าวข้ามโดยอัตโนมัติ กลายเป็นเรื่องล้าสมัย หายไปเลย

โครงการหมอคลีนิกครอบครัว ก็คงต้องคิดให้ดีๆ มิฉะนั้นจะกลายเป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกโครงการหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก แต่ถ้ายกระดับปรับปรุงโรงพยาบาลสุขภาพตำบลที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และยังเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่คุ้มค่าอีกด้วย