ขึ้นราคาบุหรี่แต่นักสูบไม่ลด ปัญหาไม่ใช่แค่เงิน

ขึ้นราคาบุหรี่แต่นักสูบไม่ลด ปัญหาไม่ใช่แค่เงิน

“บุหรี่ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ทำลายสุขภาพ”

ในหนังสือแบบเรียนพูดถึงพิษภัยของบุหรี่อย่างละเอียด ตั้งแต่สารประกอบที่เป็นอันตราย จนถึงโรคร้ายของสิงห์อมควัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลงเลย จากข้อมูลของบริษัทวิจัย’ไอเอ็มอาร์เอ กรุ๊ป(IMRA Group)’ พบว่าในปี2559รายได้ของธุรกิจบุหรี่ทั่วโลกคิดเป็น 8.2แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท หากเปรียบเทียบเป็นสีสันกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี2560ของประเทศไทยที่มูลค่า2.7ล้านล้านบาท พบว่าขนาดของอาณาจักรยาสูบนี้ใหญ่โตกว่าถึง10เท่าทีเดียว

แม้ว่าทุกประเทศจะรณรงค์กันหนักหน่วงเรื่องนี้ แต่ยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นชัดเจนจากผู้สูบหน้าใหม่หน้าเก่าในประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ประชากรนักสูบส่วนใหญ่ถึง60เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกจะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามด้วยทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกา และ ออสเตรเลีย ขณะที่บรรดาผู้ผลิตบุหรี่ก็มีเล่ห์กลที่เหลือร้ายในการออกสินค้าใหม่ๆที่เป็น’พรีเมี่ยม’มากขึ้น ทั้งรสชาติ กลิ่น และบรรจุภัณฑ์ ยิ่งดึงดูดให้ผู้คนต่างเสพกันแบบไม่เกรงใจสุขภาพปอด

หากพิจารณา’ขาใหญ่’ของวงการบุหรี่จากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์(Euromonitor)ปี2558แล้ว บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ ไชน่า โทบัคโค่(China Tobacco)ของประเทศจีน ซึ่งผลิตป้อนตลาดในประเทศก็คิดเป็นสัดส่วนขนาดมหึมาถึง44เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือฟิลลิป มอริส อินเตอร์เนชั่นแนล(Phillip Morris International)เจ้าของแบรนด์’มาร์ลโบโร(Marlboro)’คิดเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยบริทิช อเมริกัน โทบัคโค่(British American Tobacco)จากสหราชอาณาจักรที่มีส่วนแบ่งตลาด11 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเจแปน โทบัคโค(Japan Tobacco)ซึ่งครองตลาดในประเทศที่สูบบุหรี่จัดที่สุดแห่งหนึ่งอย่างญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนถึง9เปอร์เซ็นต์

ออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายสักหน่อย ทั้งที่บุหรี่สร้างปัญหาและเบียดเบียนงบประมาณรัฐในการเยียวยาผู้ป่วยจำนวนมาก แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของธุรกิจบุหรี่แล้ว กลับเป็นกิจการที่รัฐมีผลประโยชน์และอยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของม่านควันบุหรี่แทบทั้งนั้น  มาตรการลด ละ เลิกบุหรี่ บางครั้งจึงเป็นเหมือนการแสดงหน้าฉากที่ผู้แสดงก็ไม่ได้สนใจผลลัพธ์มากนัก

ประเทศออสเตรเลียที่ถือว่าราคาบุหรี่แพงที่สุดในโลก นักสูบต้องจ่ายเงินซื้อซองละพันกว่าบาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ลดลงเท่าที่ควร มีงานวิจัยมากมายนำเสนอเรื่องนี้ และพยายามอธิบายว่าเรื่องราคาบุหรี่กับความต้องการซื้อคงไม่สามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์กันแบบตรงๆเหมือนเทียบบัญญัติไตรยางค์ได้ เพราะมีปัจจัยทางด้านสังคมเกี่ยวข้องด้วย เพราะคนที่ยากจน ผู้ที่มีปัญหาทางร่างกายและจิตใจ มีแนวโน้มต้องการสูบบุหรี่มากกว่าคนทั่วไป เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าการสูบบุรี่เป็นการปลดปล่อยและเชื่อว่าช่วยจัดการความเครียดที่ถาโถมในชีวิตได้

ผศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร์ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองในฐานะนักการตลาดว่า พฤติกรรมการซื้อบุหรี่ของผู้ที่สูบเป็นประจำนั้นเป็นการซื้อแบบเสพติด ซื้อแบบควบคุมตัวเองไม่ได้(Compulsive Buying Behavior) ราคาจะขยับเป็นเท่าไหร่ก็จะหาทางซื้อให้ได้เพราะบุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ถ้าติดแล้วก็จะถอนตัวได้ยาก คล้ายกับผู้ที่เสพติดการชอปปิ้ง(Shopaholic)ที่มีอาการเหล่านี้ เจอของลดราคาหรือเจอแบรนด์โปรดก็วิ่งเข้าใส่แบบไม่ลืมหูลืมตา รู้ตัวอีกทีก็รูดซื้อสินค้าเต็มวงเงินเสียแล้ว

ดังนั้นเรื่องของบุหรี่หรืออบายมุขทั้งหลายจะยังคงเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปอีกนานทีเดียว ถ้าส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้พิจารณาเรื่องอ่านนอกจากผลกระทบด้านราคา(Price Effect)เพียงอย่างเดียว