วงการสตรีมมิ่งสะเทือน เมื่อ’สปอทิฟาย’บุกไทย

วงการสตรีมมิ่งสะเทือน เมื่อ’สปอทิฟาย’บุกไทย

หลังจากที่จูกซ์(Joox)ครองใจคนฟังเพลงมานาน ตอนนี้ถึงเวลาที่ทุกสายตาจับจ้อง’สปอทิฟาย(Spotify)’แบรนด์ระดับโลกที่เข้ามาเขย่าตลาดสตรีมมิ่งของไทย

ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและใช้งานได้ในปริมาณที่เหลือเฟือ จึงไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งดาวน์โหลดเพลงเป็นไฟล์และเก็บเอาไว้ที่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป เอาความจำเครื่องที่มีไปเก็บรูปถ่ายนับร้อยนับพันรูปจะดีกว่า แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการสตรีมมิ่งจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในการบริโภคความบันเทิง ทั้งดูหนังและฟังเพลง สปอทิฟายเริ่มทำการตลาดแล้วท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในการแย่งคนฟัง ยิ่งมีคนฟังมาก โอกาสที่จะขายโฆษณาและรายได้ของธุรกิจก็มากขึ้นตามไปดัวย

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สปอทิฟายมีจำนวนผู้ใช้งานแตะ 140 ล้านบัญชี และ34เปอร์เซ็นหรือประมาณ48ล้านบัญชียอมจ่ายเงิน(Paid Subscriber)เพื่อใช้บริการได้อย่าจุใจ และเชื่อว่าในปี2020จะเติบโตแตะ100ล้านบัญชีเลยทีเดียว  สมัยก่อนเราเชื่อกันว่า ไม่มีใครยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเพลงฟัง แต่ทุกวันนี้ผู้คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อช่องทางในการฟังเพลงโดยที่ไม่เปลืองพื้นที่ของมือถือ ซึ่งเป็นช่องทางใหญ่ที่สุด มากกว่าครึ่งนึงของผู้ใช้บริการสปอทิฟายทั่วโลกฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟน และฟังได้ทุกเพลงที่อยากจะฟังจากคลังเพลงหลายล้านเพลงบนระบบของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเหล่านี้ ซึ่งสปอทิฟายก็สร้างรายการเพลง(Playlist)เอาไว้ถึง2พันล้านรายการ ฟังตลอดชีวิตก็ยังฟังไม่หมด

อาณาจักรของสปอทิฟายแผ่ขยายออกไปถึง60ประเทศรวมถึงประเทศไทย รายได้ก็ใหญ่โตทีเดียว ปี2016 ทำเงินได้ถึง3.3พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่แปลกน่าแปลกใจว่า เมื่อสปอทิฟายปักหมุดประเทศไทยในการรุกตลาดเพลง บรรดาแบรนด์ต่างๆก็ต้องรู้สึกหวั่นใจเป็นธรรมดาเพราะว่าต้องต่อกรกับคู่แข่งระดับโลก และไม่ใช่แค่บริการเรื่องเพลงอย่างเดียว ล่าสุดมีลูกเล่น”Spotify.me”ซึ่งคอยเก็บรวมรวมพฤติกรรมการใช้งานของเราเอาไว้และส่งต่อไปในถังข้อมูลขนาดใหญ่ เมื่อเข้าไปใช้งานก็จะจัดชุดของเพลงและข้อมูลที่สอดคล้องกับการใช้งานที่ผ่านมาจนเรารู้สึกว่าแอพตัวนี้ช่างรู้ใจเราจริงๆ

แต่ของฟรีไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มีวันมีในโลก สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือ สปอทิปายจะส่งข้อมูลเหล่านี้ไปขายให้กับแบรนด์ต่างๆ ประเภทและรูปแบบของการฟังเพลงสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ด้วยซ้ำ ซึ่งทีมการตลาดของสปอทิฟายก็พยายามอย่างหนักในการวิเคราะห์ข้อมูลจนได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเช่น ลูกค้าที่ชอบฟังเพลงไปเรื่อยๆขณะทำกิจกรรมอย่างอื่นหรือใช้งานฟังก์ชั่นอื่นบนสามาร์ทโฟนน่าจะออกกำลังกายไม่น้อยกว่า45นาที  เพราะดูท่าจะฟังแต่เพลง ไม่ได้ดูวิดีโอคอนเทนท์ จึงเป็นไปได้ที่จะฟังในยิม ผู้ที่สร้างรายการเพลงขึ้นมาใหม่เอง มีแนวโน้มจะซื้อวิดีโอเกมมากว่าคนฟังประเภทอื่น หรือคนฟังที่ผู้หลงใหลเพลงเก่าสุดโปรดกลับชอบดูภาพยนต์หรือซีรี่ยส์เรื่องใหม่ก่อนใครเพื่อน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้แอพสตรีมมิ่งนี้โตวันโตคืน และครองใจคนทั่วโลก ไม่เพียงแต่สปอทิฟายหรอกครับ ต่อจากนี้เราจะเห็นบรรดาผู้ให้บริการต่างๆใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มี(Big Data)และเอามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง(Machine Learning) นับวันก็ยิ่งจะ’รู้ใจ’เรามากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าคิดนะครับว่า หรือแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะเอาอกเอาใจเราได้มากกว่ามนุษย์ด้วยกันเองในวันข้างหน้า