บจ.ไทยติดหล่มการเงิน ต่อคิวเข้าฟื้นฟูกิจการ

บจ.ไทยติดหล่มการเงิน ต่อคิวเข้าฟื้นฟูกิจการ

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

เมื่อดูพื้นฐานบริษัทจดทะเบียนไทยมักได้รับเสียงสะท้อนในด้านบวกว่ามีความแข็งแกร่ง ต้านทานภาวะเศรษฐกิจในช่วงฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี จากจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด 572 บริษัทใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม แสดงศักยภาพความแข็งแกร่งทั้งยอดขายและกำไร จากผลดำเนินงานครึ่งปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากยอดขายอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.09% มีกำไรสุทธิ 5.16 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.62% อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ซึ่งไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน อยู่ที่ 1.16 เท่า ลดลงจากปีก่อนที่ 1.21 เท่า สามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ถึง 152 บริษัท เป็นเม็ดเงิน1.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ถึง 23.59 %

เมื่อประเมินจากตัวเลขข้างต้น บริษัทจดทะเบียนไทยส่วนใหญ่ถือว่าไม่ค่อยมีปัญหาฐานการเงินถึงขั้นวิกฤติมาก แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีปัญหาทางการเงินจนทำให้ธุรกิจสะดุดไม่ต่อไม่ได้ โดยส่วนใหญ่จะติดหล่มภาระหนี้สิ้นมากกว่าสินทรัพย์ จากเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ ขาดสภาพคล่อง คู่ค้าไม่มั่นใจฐานะการเงิน ถูกตัดวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และสุดท้ายนำสู่ผลประกอบการขาดทุน จนส่วนทุนติดลบในที่สุด

โดยมีกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายมีปัญหา หากยังมีความสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทางตลาดหลักทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาแก้ไขที่ชัดเจน แบ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างแก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (NPG) 9 บริษัท กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอน( NP) จำนวน 26 บริษัท

ในกลุ่มนี้บริษัทหากเป็นกรณีที่แย่กว่านั้น คือบริษัทประเมินแล้วว่าไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ด้วยภาระหนี้สิ้นจำนวนมากจนบริษัทแก้ไขเองไม่ได้ ทำให้ต้องเลือกแก้ไขด้วยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง เพื่อหวังว่าในอนาคตจะทำให้ธุรกิจดำเนินกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิม

ช่วงปี 2560 ที่ผ่าน มีหลายบริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เห็นกันและเป็นประเด็นที่น่าสนใจหลายบริษัท

บริษัท แอล .วี.เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) LVT ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล ออกแบบ และพัฒนา เครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับอุตสาหกรรมซีเมนต์และอุตสาหกรรมได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนรับคำร้อง ยังไม่แล้วเสร็จเพราะจะมีการนัดไต่สวนพยานเพื่อรับคำร้องอีก จนถึงเดือนธ.ค.

บริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) PAE ดำเนินธุรกิจงานวิศวกรรมและก่อสร้าง โดยเน้นที่ก๊าซ น้ำมันธรรมชาติ และปิโตรเคมี ต้องเผชิญปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องอย่างหนัก จนกระทบส่วนทุนติดลบ มีการเพิ่มทุนบ่อยครั้งจนกลายเป็นปัญหาภาระหนี้สิ้นมากกว่าสินทรัพย์ในที่สุด

บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) RICH ผู้ประกอบการบริการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งยังอยู่ในระหว่างที่ศาลนัดไต่สวนสืบพยานจนถึงเดือนธ.ค. หลังมีผู้คัดค้านจากเจ้าหนี้ 20 ราย รวมมูลหนี้ 1,034 ล้านบาท ไม่เห็นด้วย

บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) POLAR ซึ่งเดิม คือ บริษัท วธน แคปปิตัล ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ อะเดย์ จาก บริษั ทธนวรินทร์ ถึง 308 ล้านบาท ไม่ประสบความสำเร็จหลังทีมบรรณธิการยกทีมลาออก จนสุดท้ายต้องถอนการลงทุนออกไป

หลังจากนั้นโพลาริสฯ มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตามมา และมีหนี้เก่าจากบริษัทเดิมที่ผ่านการฟื้นฟูกิจการมาแล้ว จนเป็นเหตุอ้างว่าต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอีกรอบ แต่ภายในไม่ถึงเดือนบริษัทประกาศยกเลิกยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการท่ามกลางความงุงงงของผู้ลงทุน

จนมาถึงข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้มีการชี้แจงกรณี ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โดยเด็ดขาด สะท้อนว่าบริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นครบถ้วน ตามเกณฑ์การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ปัจจุบันศาลอยู่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำร้อง

ล่าสุด กรณี บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) EARTH ที่เตรียมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ยังต้องรอคำสั่งศาลวันที่ 21 ก.ย.นี้ ว่าจะรับพิจาณาคดีนี้หรือไม่ หลังจากมีการไกล่เกลี่ย เจ้าหนี้ และแถลงคำให้การกับศาลเรียบร้อยแล้ว

เนื่องจากเจ้าหนี้ 7 รายคัดค้านยื่นฟื้นฟูกิจการ ใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย การระบุถึงมูลหนี้เพิ่มขึ้น 26,000 ล้านบาท ควรจะต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และประเด็นการแต่งตั้งผู้บริหารแผน ต้องการให้ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนภายใต้การฟื้นฟูกิจการ

หลังจากมีการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางเจ้าหนี้ได้ถอนคำคัดค้าน เพราะเอิร์ธฯ ยินยอมที่ให้ทางอีวายเป็นผู้จัดทำแผนและบริหาร โดยบริษัทไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งชั่วคราวและถาวร ซึ่งจะมีการจัดทำแผนแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนหลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมประกาศเจตนาชำระหนี้คือให้กับเจ้าหนี้ทุกราย 100 % ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด

ทุกรายยังต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาปกติ ซึ่งสิทธิต่างๆ จะเป็นของเจ้าหนี้ 

ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยในฐานเจ้าของบริษัท ต้องทำใจตีค่าเงินลงทุนในหุ้นเหล่านี้เป็นศูนย์