‘นกแอร์’ไขก๊อกครั้งใหญ่ วัดใจผู้ถือหุ้นก่อนเพิ่มทุน

‘นกแอร์’ไขก๊อกครั้งใหญ่ วัดใจผู้ถือหุ้นก่อนเพิ่มทุน

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

การประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สายการบินนกแอร์ ของ ‘พาที สารสิน’ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2560 โดยยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท และแต่งตั้ง ‘ปิยะ ยอดมณี ‘ จากรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไปรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน ทำให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่ติดตามหุ้นตัวนี้โล่งใจจากราคาหุ้นขึ้นมาทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือน เพราะมีความชัดเจนว่า นกแอร์ จะไปทิศทางไหน

เดิมสายการบินนี้ภายใต้การบริหารงานของ ‘พาที’ ประสบภาวะขาดทุนนับตั้งแต่ปี 2557 ทำให้มียอดขาดทุนสะสม ณ สิ้นงวด 6 เดือนปี 2560 ที่ 4,367 ล้านบาท มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 156 ล้านบาท จนทำให้เกิดคำถามมากมายว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับสายการบินนี้

ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น เดิมมี การบินไทย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 39.2 % กลายเป็นอันดับ 2 ที่ 21.57 % หลังจากไม่ใส่เงินเพิ่มทุนช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลายเป็นกลุ่ม จุฬางกูร ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 แทนที่ 41.77%

หากดูจากการเข้าซื้อหุ้นของกลุ่มจุฬางกูร แล้ว ถือได้ว่าเข้ามาในต้นทุนที่สูงกว่าราคาในปัจจุบัน จากรายงานได้มาและจำหน่ายหลักทรัพย์ ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ราคาหุ้นที่เข้าซื้อช่วงปี 2559-2560 มีช่วงราคาสูงสุด 8.55 – 7.85 บาท/หุ้น และ 4.62-4.08 บาท /หุ้น

จากการเข้ามาลงทุน ‘ณัฐพล จุฬางกูร’ มีราคาต้นทุนสูงสุด 10.3 บาท/หุ้น ขณะที่ ‘ทวีฉัตร จุฬางกูร’ มีราคาต้นทุนสูงสุด 8.55 บาท/หุ้น หากดูจากการเพิ่มทุนรอบใหม่ ที่นกแอร์ประกาศออกมาล่าสุด ด้วยการเพิ่มทุนจำนวน 1,207 ล้านหุ้น แบ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม 1,135 ล้านหุ้น ในอัตรา1หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท ซึ่งจะขายระหว่าง 16-20 ตุลาคมนี้ ที่เหลือ 71 ล้านหุ้น จะเป็นการรองรับแปรสภาพวอร์แรนต์ ตามแผนการเพิ่มทุนครั้งนี้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ปรับปรุงฝูงบิน ขยายเส้นทางและเครือข่ายการบิน

น่าส่งผลทำให้มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ( Dilution Effect ) ในรอบนี้ลดลงประมาณ 3.29 %  เทียบกับการเพิ่มทุนครั้งก่อนมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นประมาณ 18 %  หากกลุ่มผู้ถือหุ้นอยากจะคงสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้ ด้วยการเพิ่มทุนในรอบนี้ ต้องคำนึงถึงราคาเฉลี่ยใหม่ของนกแอร์เข้าไปด้วย

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย ได้ประเมินการเพิ่มทุนในครั้งนี้เกิดในช่วงการเปลี่ยนผู้บริหาร ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดี และเชื่อมั่นต่อบริษัทมากขึ้นจากราคาหุ้นที่ปรับตัวตอบรับข่าว ทำให้มีความน่าสนใจใส่เงินเพิ่มทุนมีมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ของบริษัทที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน การปรับตัวผู้บริหาร และแผนงานในอนาคต นักลงทุนเชื่อว่าไม่ได้ทำให้บริษัทแย่ลงไปกว่าเดิม ส่วนกลยุทธ์ลงทุนแนนำ ซื้อ หากบริษัทมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากกว่านี้

นอกจากด้านผลของราคาหุ้นแล้วเมื่อดู จากบริหารงาน ถือได้ว่านกแอร์มีความจำเป็นหลังชนฝาที่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอกรรมการรอบใหม่ หลังจากแผนที่เคยเสนอให้พิจาณาถูกตีกลับว่ายังไม่เห็นความชัดเจนเพียงพอ รวมทั้งการบริหารงานก็เช่นกัน

โดยนกแอร์ขาดทุนมาจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่ารายได้ และรับรู้ผลการขาดทุนจากนกสกู๊ต ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมาจากราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถบริหารจัดการให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด และไปเพิ่มรายได้จากการขายและบริการให้มากขึ้น

โดย 6 เดือนที่ผ่านมา นกแอร์ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) อยู่ที่ 84.81 % มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4.4 % จำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 11.49 % ด้วยเครื่องบินที่มากขึ้นอยู่ที่ 30.58 ลำ แต่ส่วนรายได้ผู้โดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร อยู่ที่ 1.96 บาท ปรับตัวลดลง 12.11 %

ท่ามกลางผลประกอบการที่ยังติดลบ แต่อดีตผู้บริหาร ‘พาที’ มองเป้าหมายปีนี้จะขาดทุนลดลงจากปี 2559 ที่ขาดทุน 2,800 ล้านบาท เพราะได้ผลดีจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินบาที่แข็งค่าทำให้ลดค่าใช้จ่ายในเงินสกุลดอลลาร์ และจะสามารถกลับมาพลิกมามีกำไรได้ในปี 2561 ด้วยความเชื่อมั่นว่าอัตราบรรทุกผู้โดยสารกลับมาที่เป้าหมาย 85 % มีการลดค่าใช้จ่ายเครื่องบินในปีนี้ไปได้ 4 ลำ และเพิ่มใหม่เพียง 1 ลำในปลายปีนี้

หากแผนการดังกล่าวสามารถทำได้จริง ก็อยู่ภายใต้การจัดการของผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งกรรมการทั้งการบินไทย และ กลุ่มจุฬางกูร จะเห็นชอบ หรืออยากเห็นนกแอร์มีศักยภาพมากกว่านี้ คงต้องวัดที่การประชุมผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้น 20 กันยายนี้ และการเพิ่มทุนในรอบเดือนตุลาคมว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอีกรอบหรือไม่