จาก Laggard สู่ Outperformer

จาก Laggard สู่ Outperformer

จาก Laggard สู่ Outperformer

ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง หลังจาก Underperform ตลาดหุ้นทั่วโลกมานานกว่า 8เดือน หลายคนยังงงๆ อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจู่ๆ ตลาดหุ้นไทยก็พุ่งขึ้นเกือบ 6% ภายในไม่กี่อาทิตย์ และช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้น บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกก็ไม่ได้ดีมาก เพราะมีทั้งเรื่องเกาหลีเหนือ พายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ ฯลฯ ตลาดหุ้นในเอเชียที่ Perform ดีกว่าเราตลอดทั้งปีก็เคลื่อนไหวน้อยมาก หลายตลาดปรับลงด้วยซ้ำ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ถ้าวัดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (จากทั้งหมด 69 ประเทศในดัชนี MSCI)

หลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะการเมืองดูมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังคุณยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ​ แต่ผมไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้เท่าไร เพราะวันที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมาศาล ดัชนีหุ้นก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง และก่อนหน้านี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเมืองมากนัก ที่ผ่านมาบ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี การเลือกตั้งก็ยังอีกไกล

ผมเชื่อว่าที่หุ้นขึ้นในรอบนี้ นอกจากจะเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติโยกเงินพร้อมๆกัน จากตลาดที่ขึ้นไปแล้วมากๆ อย่าง ฮ่องกง เกาหลี ฟิลิปปินส์ มาเข้าตลาด Laggard อย่างไทย เงินที่ไหลเข้าน่าจะถูกกระตุ้นด้วยสองปัจจัยหลัก คือ 1) จุดต่ำสุดของผลประกอบการของบจ.ได้ผ่านพ้นไปแล้วในไตรมาส2ที่ผ่านมา และ 2) ท่าทีที่เปลี่ยนไปของของธนาคารกลางสหรัฐฯ​ และยุโรป ที่ส่งสัญญาณต่อเนื่องในระยะนี้ ว่าจะไม่รีบร้อนลดงบดุล (ในกรณีของ Fed) และลดวงเงิน QE (ในกรณีของ ECB) ทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ผมไม่แปลกใจที่ต่างชาติเริ่มกลับเข้าตลาดไทยอีกครั้ง ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้เขียนไว้ในคอลัมน์นี้ว่า “ … ผมเชื่อว่าเงินต่างชาติพร้อมที่จะไหลเข้า ถ้าเขาเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของ Profit Cycle ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากสภาพเศรษฐกิจของไทยและโลก ผมคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไรในช่วงไตรมาส 4 ยาวไปถึงปีหน้า ดังนั้นตลาดหุ้นไทยน่าจะมีโอกาสกลับมาเป็น Outperformer ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า …”

ที่ผมคาดไม่ถึง คือตลาดหุ้นจะฟื้นเร็วขนาดนี้ เดิมผมมองว่าเงินต่างชาติน่าจะไหลเข้าในราวเดือน ตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนจะเริ่มโฟกัสไปที่ผลประกอบการของปี 2018 ซึ่งการที่เงินไหลเข้ามาเร็วขึ้น น่าจะเกิดจากมุมมองที่เปลี่ยนไปในเรื่องนโยบายของ Fed และ ECB ทำให้นักลงทุน bullish กับตลาดหุ้นมากขึ้น และเป็นธรรมชาติของนักลงทุนที่จะต้องหาตลาดหุ้นที่มี Upside มากที่สุด และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ซี่งก็หนีไม่พ้นตลาดหุ้นไทย เพราะเราเป็น Laggard ที่ Underperform ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และยังมี Earnings Recovery Story

แต่การที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเร็วและแรง บวกกับค่าเงินบาทที่ยังแข็งกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน ทำให้เราไม่ได้เป็น Laggard อีกต่อไป ถ้าวัดโดยใช้ US Dollar นับจากต้นปี SET Index ปรับขึ้นไปแล้ว 17% สูงกว่ามาเลเซีย (+16%) ฟิลิปปินส์ (+15%) และ อินโดนีเซีย (+13%) เป็นรองแค่ สิงคโปร์ (+20%) ซึ่งก็แปลว่าเราได้ผ่านพ้นช่วงของการทำ “Catch-up Rally” ไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไป ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นได้อีกมากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจไทยและกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก

หลายคนถามผมว่าระดับ SET Index ที่เหมาะสมคือเท่าไร? ถ้าดูตามปัจจัยพื้นฐาน ผมเห็นด้วยกับฝ่ายวิจัย บล. ทิสโก้ที่ประเมินว่า 1,660 คือระดับที่เหมาะสมสำหรับปี 2017 เพราะ Earnings Growth ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 5-6% และค่า Forward P/E ที่ 15 เท่า ก็ไม่ถือว่าต่ำแล้ว แน่นอนถ้าสภาพคล่องยังคงไหลเข้ามามากๆ ดัชนีก็มีโอกาสทะยานสูงขึ้นไปอีก แต่ถ้า Overshoot ไปไกลๆ ก็มีโอกาสสูงเช่นกันที่จะเกิด Correction ในระยะสั้น

ผมเชื่อว่าปีทองของตลาดหุ้นไทยคือปีหน้า ในมุมมองส่วนตัว ผมมองว่ามีโอกาสสูงมากที่ตลาดหุ้นไทยจะทำ New Record High ภายในปี 2018 แต่มีข้อแม้ว่า 1) กำไรของบจ.ต้องขยายตัวได้ตามคาดที่ 12% หรือสูงกว่า 2) ต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และ 3) Fed ยังคงนโยบายลดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป