ยกคุณภาพการเมืองไทย ด้วย social startup!

ยกคุณภาพการเมืองไทย ด้วย social startup!

ขณะที่แวดวงการเมืองกำลังถกกันเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” ผมก็กำลังมอง “การเมืองคนรุ่นใหม่” ที่น่าจะเป็นทางออกของประเทศชาติมากกว่า

หากเรานอนหลับไปสัก 50 ปี ตื่นขึ้นมาก็คงจะแปลกใจไม่น้อยว่าทำไมหัวข้อการถกแถลงในสังคมไทยวันนี้ยังเหมือนเดิม เปลี่ยนเฉพาะตัวละครและศัพท์แสงที่ใช้ แต่เนื้อหาสาระนั้นไม่ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าอะไรมากนักเลย

เหตุเพราะเราติด “กับดัก” ทางความคิดและวัฒนธรรม “ระบบอุปถัมภ์”ที่มีความเหนียวแน่นเข้มข้นในสังคมไทยอย่างยิ่ง กลายเป็นอุปสรรคของการเดินหน้าสร้าง “การเมืองที่มีคุณภาพ” สำหรับประเทศที่กำลังบอกตัวเองว่าจะต้องก้าวไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ให้จงได้

คำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” กลายเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ได้รับเอ่ยขานทุกครั้งที่การเมืองระดับชาติเข้าภาวะตีบตัน อีกทั้งความเข้าใจของคนกลุ่มต่าง ๆ ต่อหัวข้อนี้ก็มีความแตกต่างอย่างหลากหลาย เหมือนคนตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างตะโกนด้วยเสียงอันดังว่าความเข้าใจของตนถูกต้องกว่าของคนอื่น ๆ

ทั้ง ๆ หากตรวจสอบทบทวนกันแล้วก็จะได้คำตอบว่าทุกคนตีความเข้าข้างตนเองมากกว่าที่จะวิพากษ์จากมุมกว้างและพิเคราะห์จากผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าที่จะพยายามตอบคำถามเพียงแต่ว่า

“แล้วฉันจะได้อะไรจากข้อเสนอนี้?”

เพราะตราบที่วิธีคิดยังวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า “ฉันได้อะไร?” แทนที่จะหาคำตอบต่อคำถามว่า “แล้วประเทศชาติจะได้อะไร?” คนไทยทั้งประเทศก็ยังไม่อาจจะหลุดพ้นจากกับดักนี้ได้

ทางออกของประเทศชาติจึงต้องอยู่ที่ “การเมืองของคนรุ่นใหม่” ที่จะต้องปรับแนวคิดและวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ปลดแอกตัวเองออกจากค่านิยมระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม ระดมความคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อเขียน “พิมพ์เขียว” สำหรับ “การเมืองคุณภาพ” เพื่อสร้างอนาคตของความเป็นประชาธิปไตยที่คนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของชาติอย่างแท้จริง

หากนับจำนวน “นักการเมือง” ในประเทศวันนี้มีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ไม่กี่ร้อยคน หากรวมผู้คนที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมืองเหล่านี้ด้วยก็คงจะมีไม่กี่พันคนเท่านั้น แต่ดูเหมือนคนทั้งประเทศต้องถูกกำหนดให้อยู่ในสภาพที่ต้องเลือกระหว่างคนไม่กี่กลุ่มที่มีแนวคิดที่ติดอยู่กับค่านิยมเก่า ๆ

สื่อมวลชนกระแสหลักทุกวันนี้ เวลามีประเด็น “การเมือง” ก็จะขอความเห็นจาก “นักการเมือง” ไม่กี่คนในไม่กี่กลุ่มซึ่งล้วนแล้วแต่สังกัดกลุ่มก้อนเดิม ๆ โดยที่ “สมาชิกพรรคการเมือง” ที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีสิทธิมีส่วนในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางของความเคลื่อนไหวทางสังคมแต่อย่างใดเลย

ยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อวิชาชีพทุกแขนงและแนวคิดทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง เราจะยังยอมให้คำว่า “การเมือง” ย่ำเท้าอยู่กับที่อย่างนี้หรือ?

ผมกำลังเสนอความคิดว่าหากอาชีพต่าง ๆ มี startups เพื่อก้าวเข้าสู่การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมทันสมัยผ่านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ไฉนการเมืองไทยจึงไม่เกิด startups โดยคนรุ่นใหม่เพื่อเขย่าวงการการเมืองเพื่อปรับกิจกรรมสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

การขับเคลื่อนให้เกิด startup เพื่อแก้ pain points (จุดที่สร้างความเจ็บปวด) ทางการเมืองจะเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองไทยอย่างแท้จริง

ขอเรียกมันว่า social startup เพื่อการเขย่าการเมืองไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล...และเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์และระดมความเห็นเพื่อยกระดับการเมืองให้ทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริงครับ