หุบผามรณะ ห้วงรักเหวลึก และมหาสมุทรสุดลึกล้ำ ตอน 2(จบ)

หุบผามรณะ ห้วงรักเหวลึก และมหาสมุทรสุดลึกล้ำ ตอน 2(จบ)

ประเด็นปัญหาก็คือกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมได้ตั้งงบประมาณรายหัวเพื่อจ่ายให้โรงพยาบาลที่มีสัญญาต่อกันทุกโรงพยาบาล

แต่ในทางปฏิบัติประชาชนไม่ได้ใช้สิทธินั้นทุกคนตัวอย่างที่ชัดเจนคืองบประมาณรายหัวของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อเสนอรัฐบาลจะเสนอสำหรับประชาชนทั้งประเทศที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการประมาณ 48 ล้านคน แต่มีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยประมาณ 20 ล้านคนต่อปี นั่นหมายความว่าประชาชนประมาณ 28 ล้านคนไม่ได้ใช้บริการ เช่นเดียวกับสำนักงานประกันสังคมที่โรงพยาบาลคู่สัญญาได้รับเงินค่ารายหัว แต่เมื่อไม่ได้ให้บริการผู้ประกันตน เงินจำนวนนี้ทางสำนักงานประกันสังคมก็ไม่สามารถเรียกคืนได้ และยิ่งถ้าเป็นประชาชนเช่นนาย ก. นับล้านคนดังที่ยกเป็นตัวอย่างข้างต้น ที่มีขีดความสามารถทำประกันชีวิตและสุขภาพเอง ก็หมายความว่า ทั้งกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมก็ได้ตั้งงบประมาณรายหัวให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาโดยที่โรงพยาบาลเหล่านั้นไม่ได้ให้บริการใดๆเลยกับคนอีกนับล้านคน

ระบบที่ กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมดำเนินการในปัจจุบันคือการเกลี่ยค่ารายหัวจากผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิไปให้ผู้ใช้สิทธิที่ใช้เกินค่าเฉลี่ย แต่การเกลี่ยเช่นว่านี้ทำให้เกิดความลักลั่นในสังคมอย่างมาก เพราะเงินกองทุนเป็นเรื่องของสิทธิของแต่ละคน และเมื่อไม่มีการใช้เงินดังกล่าวก็ต้องส่งคืนรัฐ และสำหรับผู้ใช้สิทธิเกินค่าเฉลี่ยก็น่าจะเป็นหน้าที่ของกองทุนดูแลตามระเบียบการเบิกจ่าย ไม่ใช่เอาเงินของคนอื่นที่ไม่ได้ใช้สิทธิมาจ่ายแทน การเกลี่ยไปเกลี่ยมาเช่นว่านี้กลายเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจของสำนักงานกองทุน และมีโอกาสที่จะเกิดการรั่วไหลได้โดยง่าย

นอกจากนั้น เงินค่ารายหัวบางรายการที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้โรงพยาบาลคู่สัญญาที่ไม่ได้ให้บริการใดๆปีละหลายสิบล้านรายทำให้รัฐต้องเสียเงินจำนวนมากที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน เป็นความซ้ำซ้อนและทับซ้อนที่กำลังเกิดกับระบบประกันสุขภาพมากขึ้นทุกปี

รัฐบาลคงต้องหันมาพิจารณาระบบประกันสุขภาพอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาความทับซ้อนของกองทุนเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกองทุนที่ใช้เงินงบประมาณจากรัฐมากที่สุดปีละกว่าแสนล้านบาท ถือเป็นหุบผามรณะที่เมื่อตกลงไปแล้วคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย กองทุนประกันสังคม ถือเป็นห้วงรักเหวลึก เพราะถึงแม้รัฐบาลจะมีปัญหา แต่ก็เป็นภาคสมทบที่ยังมีอีกสองส่วนเป็นเงินส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ปัญหาจึงมีบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่ากองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนสวัสดิการข้าราชการถือเป็นมหาสมุทรสุดลึกล้ำที่ถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม เพราะรัฐรับภาระทั้งหมดด้วยมีข้อจำกัดเรื่องการเบิกจ่ายน้อยกว่าอีกสองกองทุนอย่างมาก

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงต่ำเหลือแค่ ร้อยละ 1.6 จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดภาระกับรัฐที่จะต้องดูแลผู้ที่ไม่มีความสามารถในการสร้างผลิตภาพเพิ่มขึ้น แต่เงินงบประมาณจากรัฐก็ดี จากคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานก็ดีมีแต่จะลดน้อยถอยลง และถ้าจำนวนเงินที่เข้ากองทุนมีน้อยกว่าเงินที่ออก ในที่สุดทุกกองทุนก็คงหนีไม่พ้นการล่มสลาย

แท้จริงแล้ว ปัญหาเรื่องอัตราการเกิดลดลงและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ไม่ได้เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียวแต่เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรป สหรัฐ และเอเชีย หลายประเทศออกมาตรการที่จะชะลอปัญหาโดยทั้งภาครัฐและเอกชนมีความร่วมมือกัน อาทิยืดอายุการทำงานหรือการเกษียณอายุงานให้ยาวออกไปจากที่เคยใช้ 60 ปี ก็เป็น 65 ปี หรือ 67 ปี เพื่อให้ยังมีเงินสมทบจากคนทำงานเข้าสู่ระบบ ออกมาตรการสนับสนุนให้เกิดการการออมและการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ นโยบายที่ทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีช่วยตัวเองได้และเป็นภาระสังคมน้อยสุด ตลอดจนมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงานของคนทำงาน ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆทดแทนแรงงานคนที่ไม่พอสำหรับการผลิต เช่นนี้เป็นต้น

สิ่งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลก็คือปัญหาเหล่านี้คงไม่สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว แต่สิ่งน่าจะทำได้โดยทันทีคือการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนและทับซ้อนระหว่างกองทุนทั้งสามที่รัฐต้องรับภาระ ถ้ารัฐได้แก้ปัญหานี้ ไม่มีความซ้ำซ้อน รัฐก็สามารถลดงบประมาณสนับสนุนกองทุนได้จำนวนมหาศาล แต่ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับปล่อยให้เกิดการรั่วไหลมหาศาลเช่นกัน และเป็นที่มาของหุบเหวมรณะ ห้วงรักเหวลึก และมหาสมุทรสุดลึกล้ำ ที่แสดงถึงความอ่อนด้อยในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาล