หุบผามรณะ ห้วงรักเหวลึก กับมหาสมุทรสุดลึกล้ำ (1)

หุบผามรณะ ห้วงรักเหวลึก กับมหาสมุทรสุดลึกล้ำ (1)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสามกองทุนคือประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ คือแกนหลักที่ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่า

เป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพที่ดีมากแห่งหนึ่งของโลก และองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กรก็มักอ้างอิงถือเป็นแบบอย่างที่จะให้ประเทศอื่นดำเนินการให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนประเทศไทยโดยมองข้ามปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ท้าทายอย่างมากในสภาวะปัจจุบันที่ประเทศมีอัตราการเจริญที่ลดต่ำลงต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ในขณะที่สามกองทุนประกันสุขภาพต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเพดานกำหนดปีละหลายแสนล้านบาท  และถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ก็มีแนวโน้มว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที จนอาจถึงขั้นล่มสลายได้

ในปัจจุบัน สามกองทุนประกันสุขภาพนี้ แม้จะแยกออกจากกันและมีอิสระในการบริหารจัดการกองทุน แต่ก็เกี่ยวพันกันอย่างมากเพราะทั้งสามกองทุนต้องใช้งบประมาณจากรัฐจำนวนมหาศาล กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติใช้เงินทั้งหมดปีละหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด กองทุนประกันสังคม แม้จะเป็นกองทุนที่เป็นการร่วมจ่ายระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง แต่รัฐบาลก็ต้องใส่เงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาทต่อปีเป็นส่วนที่สามสมทบเพื่อความมั่นคงของกองทุน และสุดท้ายคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ แม้มิได้มีลักษณะของการบริหารจัดการแบบกองทุน แต่เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางก็ต้องทำหน้าที่เสมือนผู้บริหารกองทุนเช่นกัน เพราะสวัสดิการทั้งหมดมาจากงบประมาณรัฐซึ่งค่าใช้จ่ายสวัสดิการข้าราชการพุ่งสูงเป็นเกือบเจ็ดหมื่นล้านบาทต่อปี รวมสามกองทุน รัฐต้องแบกภาระเฉพาะส่วนประกันสุขภาพและสวัสดิการสูงถึงสองแสนล้านบาทต่อปี

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเชื่อว่า วันใดก็ตามที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ทั้งสามกองทุนก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เคยตั้งคำถามเชิงตุ๊กตาว่าจะทำอย่างไรให้สามกองทุนนี้ไม่มีความทับซ้อนกันดังเช่นปัจจุบัน โดยสมมติว่า ถ้านาย ก. ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่าโครงการบัตรทองหรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค เมื่อ นาย ก. ทำงานเป็นพนักงานองค์กรภายใต้กฎหมายแรงงาน เขาก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เมื่อนาย ก. มีครอบครัว และบุตรได้เข้าทำงานรับราชการ นาย ก.ในฐานะบิดาก็จะได้รับสวัสดิการข้าราชการจากรัฐ ทั้งนี้ ถ้านาย ก. มีฐานะดีพอสมควร ก็อาจซื้อประกันชีวิตและสุขภาพจากบริษัทประกันเพิ่มเติม และถ้าโชคดี องค์กรที่นาย ก.ทำงานก็อาจมีประกันสุขภาพสำหรับพนักงานองค์กรอีกต่างหาก

เช่นนี้จะเห็นได้ว่า นาย ก. เพียงผู้เดียว มีสิทธิเข้าถึงและได้รับสวัสดิการรวมห้าแหล่งสวัสดิการ ซึ่งในทางปฏิบัติ นาย ก. คงไม่ใช้จากทุกแหล่ง และแหล่งเงินสวัสดิการก็คงพิจารณาการเบิกจ่ายของ นาย ก. ที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน

เฉพาะส่วนที่ นาย ก. ซื้อประกันชีวิตและสุขภาพจากบริษัทประกัน และสวัสดิการขององค์กรที่มีประกันสุขภาพให้พนักงานถือเป็นส่วนเสริมที่ทำให้นาย ก. มีหลักประกันเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น และเป็นทางเลือกที่ทำให้นาย ก. มีโอกาสเลือกมากขึ้น แต่สำหรับประชาชนคนอื่นอาจได้รับหลักประกันจากสามกองทุนถ้าเป็นบุคคลที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นข้าราชการ หรือแค่สองกองทุนในกรณีที่ทำงานเป็นพนักงานลูกจ้างเอกชน แต่ก็ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ดี

ประเด็นก็คือในขณะที่ประชาชนมีทางเลือกที่จะใช้กองทุนใดกองทุนหนึ่ง รัฐบาลกลับมีหน้าที่ต้องสนับสนุนงบประมาณจำนวนมหาศาลทุกกองทุนโดยไม่มีทางเลือก รัฐบาลต้องใช้เงินสนับสนุนทั้งกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ เงินสมทบภาครัฐในกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการเต็มจำนวน

ตามประกาศของกรมบัญชีกลางก็ดี หรือประกันสังคมก็ดี มีข้อกำหนดว่าเมื่อประชาชนมีหลายสิทธิก็ให้ใช้สิทธิใดสิทธิหนึ่ง หรือใช้สวัสดิการประกันสังคมให้เต็มก่อนแล้วหากยังขาดให้ใช้สิทธิสมาชิกครอบครัวข้าราชการ แต่ก็กำหนดเพดานไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้

แต่สำหรับงบประมาณที่รัฐต้องสนับสนุนทั้งสามกองทุนนั้น รัฐต้องจ่ายเต็มจำนวนที่สำนักงานกองทุนเสนอมา เพราะการตั้งงบประมาณคิดจากค่าหัวประชากรโดยเฉลี่ย

*** พรุ่งนี้ ติดตามอ่านต่อ ตอน2(จบ) ***