“เขตทหาร”ต้องเข้าได้

“เขตทหาร”ต้องเข้าได้

คำประกาศยุติการใช้ “เรือเหาะ” ของ ผบ.ทบ. เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ใช้ระบบ “ปิดลับ” และ “ชงเองกินเอง”

คำว่า “ชงเองกินเอง” หมายความว่า ตั้งเรื่องจากความต้องการของตัวเอง ซึ่งหลายๆ กรณีก็ไม่ชัดว่ามีความต้องการจริงๆ หรือแค่ “ผู้ใหญ่” ที่ต้องการ แต่ “ผู้ใช้” คือกำลังพลที่ต้องเจ็บตายอยู่ในสนาม ไม่ได้ต้องการ หรือต้องการอย่างอื่น

เมื่อเสนอความต้องการเอง (ชง) ก็ตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาเอง โดยอ้างเหตุผลว่าทหารมีความเชี่ยวชาญสูงสุด จากนั้นก็กดดันให้ฝ่ายบริหาร (บางยุคทหารก็เป็นฝ่ายบริหารเสียเอง เช่น ยุคนี้) และสภาอนุมัติ โดยอ้าง “ความจำเป็นทางความมั่นคง” เพื่อปิดปากคนค้านหรือผู้ที่ต้องการตรวจสอบ เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณ ก็ไปจัดซื้อเอง แล้วก็ตรวจรับสินค้าเอง และสุดท้ายก็ประเมินความคุ้มค่าเองอีก

อย่างกรณีเรือเหาะฉาว เอาแค่เรื่องราคาก็ไม่มีใครรู้ชัดๆ ว่าองค์ประกอบของ “ระบบเรือเหาะ” แต่ละส่วน มีราคาเท่าไรแน่ ข้อมูลจากฝ่ายตรวจสอบ ระบุว่า เรือเหาะ 350 ล้านบาท แยกเป็น บอลลูน 260 ล้านบาท, กล้องตรวจการณ์ 70 ล้านบาท และอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้่น 20 ล้านบาท แต่ข้อมูลจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ที่ออกมาชี้แจง คือ กล้องตรวจการณ์ 250 ล้านบาท มี 5 ตัว (แสดงว่ากล้องตัวละ 50 ล้านเลยทีเดียว), บอลลูน กับ โรงจอด 100 ล้านบาท

ความสับสน งุนงงแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” มูลค่าถึง 3.6 หมื่นล้าน ที่ป่านนี้สังคมยังไม่รู้เลยว่าจ่ายงวดแรกไปเท่าไร และผูกพันงบประมาณกี่ปีกันแน่ ผูกพันไปแล้วลำเดียว หรือ 3 ลำล่วงหน้ากันเลย (มัดมือชกรัฐบาลเลือกตั้งในอนาคต) เพราะเอกสารที่เสนอเข้า ครม.ล้วนเป็น “เอกสารมุมแดง”

หรืออย่างโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ที่จริงๆ แล้วคือ “ไม้ล้างป่าช้า” ป่านนี้กระบวนการตรวจสอบยังไปไม่ถึงไหน ทั้งที่เผาผลาญงบประมาณไปรวมๆ แล้วกว่าพันล้านบาท หากตรวจสอบดูจะพบว่ามีการจัดซื้อหนักสุด เยอะสุด ในยุค ผบ.ทบ.และรัฐบาลเดียวกันกับที่ซื้อ “เรือเหาะ” นั่นเอง

เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากภาษีประชาชน และส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางกับคนชั้นล่างที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุดผ่านระบบเงินเดือนและ VAT ฉะนั้นคำชี้แจงที่นายกฯ ประยุทธ์ เคยพูดว่าไม่ได้กระทบอะไรกับประชาชน เพราะเป็นงบของกองทัพเอง หลักคิดแบบนี้จึงใช้ไม่ได้

เพราะงบทั้งหมดมาจากประชาชน ข้าวของยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่จัดซื้อมาจึงเป็นของประชาชนด้วย ฉะนั้น “เขตทหาร” จึงต้องเข้าได้ ไม่ใช่ “ห้ามเข้า” เหมือนทุกวันนี้