“บริษัทยั่งยืน ประเทศยั่งยืน โลกยั่งยืน”

“บริษัทยั่งยืน ประเทศยั่งยืน โลกยั่งยืน”

อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมงานสัมมนาประจำปีของสถาบันกรรมการบริษัทประเทศสิงคโปร์ (Singapore Institute of Directors)

จัดในหัวข้อ “ความยั่งยืน : ประเด็นสำคัญ” โดยไปร่วมกับกรรมการบริษัทของบริษัทในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกสถาบันไอโอดี รวมแล้วทั้งหมด 14 ท่าน ซึ่งได้ความรู้มาก วันนี้ก็เลยอยากจะเก็บตกจากการสัมมนาที่สิงคโปร์มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ทราบ

ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่นักธุรกิจส่วนมากรับรู้ แต่อาจไม่ตระหนักหรือเข้าใจดีถึงความสำคัญของความยั่งยืนที่จะมีต่อการทำธุรกิจ หลายคนอาจมองความยั่งยืนเป็นประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทก็ตอบสนองโดยการทำโครงการซีเอสอาร์ หรือทำโครงการเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว แต่ในความเป็นจริง ความยั่งยืนในแง่การทำธุรกิจมีความหมายมาก ไม่ใช่เรื่องการมีโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งคราว เช่น นำพนักงานบริษัทปลูกป่า ทาสีโรงเรียนหรือช่วยเก็บขยะที่ชายหาด

ปัจจุบันความหมายของความยั่งยืนในแง่การทำธุรกิจคือ ปรับปรุงกระบวนการทำหรือปฏิบัติการของธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกเหนือจากเรื่องกำไรขาดทุน นำสู่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจและสังคม ที่สำคัญการปรับปรุงนี้ควรเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การทำธุรกิจของบริษัท ขับเคลื่อนโดยนโยบาย แนวปฏิบัติและการมีส่วนร่วมของพนักงาน เป็นกระบวนการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ฝังอยู่ในยุทธศาสตร์หรือแผนงานธุรกิจของบริษัท

ปัจจุบัน ความยั่งยืนกำลังเป็นกระแสที่มาแรงมากในสังคมธุรกิจทั่วโลก เป็นเรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ตื่นตัวและให้ความสำคัญ การเติบโตของกระแสนี้เป็นพลวัตจากแนวโน้มสำคัญ 3 ด้านที่เป็นแรงขับเคลื่อน

  1. ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบันเองที่อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ความเพียงพอของน้ำสะอาด ปริมาณอากาศบริสุทธิ์ที่เหลืออยู่ คุณภาพของป่าไม้ ทะเล หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่ผ่านมาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองได้ทำให้ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะคุณภาพน้ำและอากาศ ลดลงมากและอาจไม่สามารถเลี้ยงดูหรือสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรทั่วโลกได้ ถ้าไม่มีการแก้ไข
  2. วิธีการทำธุรกิจและการบริโภคที่สิ้นเปลืองเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ความไม่เพียงพอหรือความไม่สมดุลด้านธรรมชาติเกิดขึ้น ทำให้จำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ความสำคัญและความต้องการลักษณะนี้ ปัจจุบันสะท้อนชัดเจนมากจากวงเงินลงทุนในระบบการเงินโลกที่นับวันจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นๆ ในงานสัมมนามีการพูดถึงตัวเลขวงเงินลงทุนกว่า 70 ล้านล้านดอลลาร์ที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินลงทุนที่ระบบการเงินโลกมีการบริหารจัดการอยู่ทั้งหมดขณะนี้

กระแสการลงทุนแบบนี้กำลังพุ่งแรงและได้กลายเป็นความต้องการของนักลงทุนที่อยากสนับสนุนเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทธุรกิจเอง เวลาเสาะหาพันธมิตรหรือบริษัทคู่ค้า ก็จะเน้นหาบริษัทธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ทำให้กระแสความยั่งยืนนับวันจะขยายวงกว้างขึ้น จนกลายเป็นประเด็นคาดหวังปกติของนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก

  1. ประชากรโลกรุ่นใหม่ หมายถึง ประชากรอายุประมาณ 35 ปีลงมา ที่เราเรียกว่า เจน Y ซึ่งจะเติบโตเป็นนักลงทุนและนักธุรกิจในอนาคต ประชากรโลกรุ่นนี้เข้าใจและพร้อมให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนอย่างไม่ตั้งคำถาม เพราะได้ถูกบ่มเพาะเรื่องนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ประชากรหรือคนรุ่นใหม่นี้เลือกที่จะซื้อสินค้า ทำธุรกิจหรือลงทุนในธุรกิจหรือสินค้าที่ใช้ความยั่งยืนเป็นโมเดลธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพและลูกหลานรุ่นสองและสามของธุรกิจครอบครัว

ในงานสัมมนา มีการพูดถึงวิธีการลงทุนของกลุ่มเศรษฐีใหม่นี้ที่ให้ความสำคัญไม่ใช่เฉพาะแค่การลงทุนในบริษัทที่มีความยั่งยืนเป็นยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ แต่พร้อมเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจใหม่ที่มีอนาคต ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน สามารถตั้งได้และเติบโตต่อไปได้ และเมื่อเติบโตแล้วก็จะถอนเงินลงทุนนำไปช่วยเหลือบริษัทอื่นที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในลักษณะเดียวกัน

แต่ที่ประทับใจที่สุดในงาน ก็คือ แขกรับเชิญพิเศษที่ผู้จัดได้เชิญมาพูดในช่วงหลังรับประทานอาหารกลางวัน เป็นเด็กสิงคโปร์อายุ 14 ปี ชื่อ Dylan Soh ที่ได้เตือนสติผู้ใหญ่ว่า ผู้ใหญ่หรือการทำธุรกิจที่ผ่านมา ได้ทิ้งปัญหาและความเสียหายในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับคนหนุ่มสาวหรือรุ่นเด็กเช่นเขามาก

ถ้าเทียบสิ่งแวดล้อมเป็นกระเป๋าตังค์ รุ่นผู้ใหญ่จะใช้มากกว่าหา ทำให้เกิดติดลบในเรื่องสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความเสียหายอย่างที่เห็นสำหรับรุ่นเขาคงต้องทำกลับทางคือ ใช้สิ่งแวดล้อมให้น้อยลง แต่รักษาหรือสร้างคืนสิ่งแวดล้อมให้มาก เพื่ออนาคตของโลกและของรุ่นเขาเอง ผู้ฟังปรบมือกันกึกก้อง สะท้อนชัดเจนว่า เด็กรุ่นใหม่แคร์และเอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่ารุ่นเก่าหรือผู้ใหญ่รุ่นปัจจุบัน และพร้อมสนับสนุนธุรกิจให้ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจ

กระแสความยั่งยืนที่นับวันจะเติบโตและเข้มแข็งนี้ ทำให้ธุรกิจต้องตระหนักและปรับตัว เพื่อให้วิธีการทำธุรกิจเป็นที่ยอมรับของสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่การเติบโตที่สร้างความยั่งยืนให้กับตนเองและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ได้เริ่มให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้ ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทธุรกิจที่ต้องเปิดเผยข้อมูล ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืน ว่าบริษัทของตนมีนโยบาย มีแนวปฏิบัติและได้ทำอะไรบ้างในประเด็นความยั่งยืนในการทำธุรกิจ

ในกรณีของไทย มีการแสดงข้อมูลในการสัมมนาว่าเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 100 บริษัทแรกได้มีการจัดทำรายงานดังกล่าวครบถ้วน และอยู่ในคุณภาพที่สูงเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในประเทศอาเซียนอื่นๆ เป็นพัฒนาการความก้าวหน้าที่น่าชมเชย โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืนมาตลอด ล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียนไทย 17 บริษัทที่ติดหรือได้รับการเชิญให้มีชื่ออยู่ในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (DJSI)

การทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการบริษัทที่ต้องปรับแนวคิด จากที่เคยมุ่งแต่ตัวเลขการเงินและกำไร ไปสู่การให้ความสำคัญกับวิธีการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การประหยัดพลังงาน การรักษาคุณภาพน้ำ การป้องกันการเกิดควันพิษ การบริหารจัดการของเสียและน้ำเสีย ผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เรื่องสิทธิมนุษยชน การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การไม่เอาเปรียบหรือครอบงำตลาดเพื่อไม่ให้มีการแข่งขัน รวมถึงความเป็นธรรมต่อพนักงาน

นี่คือตัวอย่างของประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และเกี่ยวกับความยั่งยืนของธุรกิจของบริษัทโดยตรง เป็นประเด็นที่คณะกรรมการบริษัทต้องให้ความสำคัญและปรับตัว