ออปชั่นกับการซื้อประกัน

ออปชั่นกับการซื้อประกัน

ออปชั่นกับการซื้อประกัน

ความสนใจในการลงทุนบนออปชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีให้ซื้อขายทั้งในกระดาน SET และ TFEX ถ้าเป็นทางฝั่งกระดานซื้อขาย SET จะเรียกว่า Derivative Warrant แต่ถ้าซื้อขายบน TFEX ก็จะมีออปชั่นที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 สำหรับนักลงทุนที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับออปชั่น ก่อนจะเริ่มศึกษาลงไปลึกๆ ควรเข้าใจในหลักการของออปชั่นในภาพใหญ่ก่อน วันนี้ผมอยากนำหลักการในภาพใหญ่ของออปชั่นที่ดูเหมือนจะยังใหม่กับนักลงทุนหลายๆท่าน มาเปรียบเทียบกับการซื้อประกันซึ่งทุกๆคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

พื้นฐานของธุรกิจประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันประเภทใดก็แล้วแต่ หลักการของธุรกิจนี้คล้ายคลึงกันคือ บริษัทผู้ออกกรมธรรม์ประกันมีภาระผูกผันชดเชยค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซื้อประกัน เพื่อแลกกับเบี้ยประกันที่ได้รับ โดยผู้ออกกรมธรรม์จะเก็บเบี้ยประกันมาเรื่อยๆทุกปี ผู้ซื้อประกันก็ต้องยอมจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อยๆเพื่อแลกกับความสบายใจในอนาคต ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะสามารถมาเคลมค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนจากผู้ออกกรมธรรม์ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์พิเศษใดๆที่ทำให้ผู้ถือกรมธรรม์มาเคลมค่าชดเชยจนเกิน ค่าเบี้ยประกันที่ทางบริษัทรับมาตอนแรก ก็จะทำให้บริษัทผู้ออกกรมธรรม์มีกำไร

การลงทุนในสินค้าออปชั่น จริงๆแล้วก็อยู่บนหลักการเดียวกัน ค่าพรีเมียมของออปชั่น ก็เสมือนค่าเบี้ยประกัน นักลงทุนที่ทำการ Short ออปชั่น ก็ทำหน้าที่เหมือนผู้ออกกรมธรรม์ประกัน โดยรับค่าพรีเมียมออปชั่นเข้ามาเป็นรายได้ พร้อมภาระเงื่อนไขที่ผูกพันจนกว่าออปชั่นจะหมดอายุสัญญา โดยภาระผูกพันคือให้สิทธินักลงทุนฝั่งตรงข้ามที่ทำการซื้อออปชั่นที่เป็นคนจ่ายค่าพรีเมียมมาใช้สิทธิบนออปชั่นนั้นได้

ถ้าเทียบกรมธรรม์ประกันกับออปชั่นบนดัชนี ในสถานการณ์ที่ตลาดนิ่งๆไซด์เวย์ SET50 แกว่งตัวแคบๆ โอกาสที่นักลงทุนฝั่งซื้อออปชั่นจะมาขอใช้สิทธิบนออปชั่นนั้นจะน้อย ทำให้นักลงทุนที่ทำการ Short ออปชั่นจะได้กำไรบนค่าพรีเมียมออปชั่นที่รับเข้ามา คนที่ซื้อออปชั่นไปก็ดูเหมือนจะเสียค่าพรีเมียมไปฟรีๆ เพราะไม่ได้ไปเคลมใช้สิทธิใดๆจนออปชั่นหมดอายุสัญญาไป

ในทางตรงกันข้าม กรณีที่ตลาดปรับตัวขึ้นแรงหรือลงแรง โอกาสที่นักลงทุนฝั่งซื้อออปชั่นจะมาขอใช้สิทธิบนออปชั่นนั้นจะมากขึ้น ถ้าดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ผู้ซื้อคอลออปชั่นก็จะมาขอใช้สิทธิ (หรือ ถ้าดัชนีปรับตัวลงแรง ผู้ซื้อพุทออปชั่นก็จะมาขอใช้สิทธิ) และนักลงทุนที่ Short ออปชั่นไปจะมีภาระผูกผันรับผิดชอบค่าตอบแทนบนสิทธิอันนั้น และอาจจะขาดทุนได้มาก ถ้าค่าตอบแทนที่จ่ายออกไปนั้นมากเกินค่าพรีเมียมออปชั่นที่รับเข้ามา

ถ้าเราเข้าใจในหลักการข้างต้น จะเห็นว่านักลงทุนฝั่ง Short ออปชั่นจะรับค่าพรีเมียมไปล่วงหน้า แต่ยังมีภาระผูกผันในอนาคตอยู่ จึงควรสำรองเงินสดไว้ หรือ วางหลักประกันไว้ในระดับนึงเผื่อนักลงทุนอีกฝั่งมาใช้สิทธิกรณีที่ทิศทางตลาดเป็นใจกับเค้า เช่นเดียวกับบริษัทประกันที่จำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้เยอะๆไว้สำหรับคนที่จะมาเคลมประกันในอนาคต ส่วนค่าพรีเมียมที่ได้จากการ Short ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าคุ้มค่าไหมกับความเสี่ยงที่อีกฝ่ายจะมาใช้สิทธิในอนาคต ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าตลาดผันผวนแรงๆ เราควรเรียกร้องค่าพรีเมียมที่สูงขึ้น เพราะตลาดที่ผันผวนแรงๆ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่อีกฝั่งจะมาใช้สิทธิกับเรา เช่นเดียวกับค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือประกันภัยจะปรับเพิ่มขึ้นลงตามความเสี่ยงและโอกาสที่ผู้ซื้อประกันจะมาเคลมเพิ่มขึ้น

หลักการข้างต้นที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ทฤษฏีต่างๆในการประเมินค่าพรีเมียมของออปชั่นที่ขึ้นลงตามสภาวะความผันผวนของตลาด ซึ่งนักลงทุนสามารถไปศึกษาต่อได้ในอนาคตครับ