ชนะเพราะอะไร แพ้เพราะอะไร

ชนะเพราะอะไร แพ้เพราะอะไร

แม้ตัวเลขจะสูง ก็ไม่ใช่ 'เครื่องพิสูจน์' แห่งความสำเร็จ

ผมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึงปีนี้ 2560 คำถามหนึ่งที่เจอเสมอคือ 'ทำผลตอบแทนได้ปีละเท่าไร'

เมื่อก่อนผมไม่อยากตอบคำถามนี้เท่าไรนัก เพราะหลังวิกฤตการเงินปี 2008 พอร์ตของผมก็เด้งขึ้นมาสูงมาก จนไม่น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดี เช่น ปี 2554 ผมทำผลตอบแทนได้ 57% ในขณะที่ SET ติดลบ 0.72% และแม้จะคิดเฉลี่ยทบต้นออกมาแล้ว ก็ยังได้ปีละเกือบ 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูเกินจริง

เหตุเพราะสมัยก่อน เงินของผมยังไม่เยอะ พอทุ่มกับหุ้นตัวหนึ่งแล้วผลออกมาดี พอร์ตก็เลยบวกมาก ดังนั้น แม้ตัวเลขจะสูง ก็ไม่ใช่ 'เครื่องพิสูจน์' แห่งความสำเร็จ

ถึงวันนี้ ผมลงทุนมา 14 ปี ผ่านวิกฤตครั้งสุดท้ายมาแล้วเกือบสิบปี เมื่อเอาพอร์ตมาตรวจสอบดูอีกครั้ง ก็มั่นใจว่าตัวเองมาถูกทาง เพราะผลตอบแทนที่ออกมา คิดเฉลี่ยทบต้น แม้จะไม่มากเหมือนยุคแรกๆ แต่ยังเอาชนะตลาดได้นับเป็นช่วงตัว และ 'on the way' สู่ความมั่งคั่งระดับสูงในบั้นปลายชีวิต ตามแผนที่วางไว้

ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ก็เพื่อจะบอกท่านว่า การจะวัดผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น ข้อแรกคือ ต้องทิ้งระยะเวลาพอสมควร อย่างน้อย 5-7 ปีขึ้นไป และหากจะให้ผลตอบแทนดังกล่าวสะท้อนความสามารถที่แท้จริงได้ชัดเจนขึ้น ก็ต้องฝ่าฟันจนครบรอบวัฏจักร ทั้งตลาดหมี กระทิง หรือ sideways รวมๆ แล้วไม่ควรจะต่ำกว่าสิบปี ยิ่งถ้าเคยผ่านวิกฤตหนักๆ มาแล้ว จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก

(คนที่อ้างว่า ทำผลตอบแทนได้เป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ โดยลงทุนมาเพียง 1-2 ปี ซึ่งได้ยินอยู่เป็นประจำสมัยที่ตลาดขึ้นเอาๆ จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ)

ข้อที่สองคือ ต้องเอาผลตอบแทนของตัวเองเทียบกับตลาด ถ้าเราดี แต่ตลาดดีกว่า ย่อมไม่ได้แปลว่าเราเก่ง หากเราทำได้ 30% ในปีที่ตลาดบวก 35% (เช่นปี 2555) แม้พอร์ตจะโตขึ้นเกือบ 1 ใน 3 แต่แท้จริงแล้ว เรา 'สอบตก' ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่ดี แต่ตลาดไม่ดียิ่งกว่า ก็แปลว่าผลงานของเราไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป

และสุดท้าย อย่าลืม 'หาเหตุผล' จากผลลัพธ์ที่ออกมา กล่าวคือ ต้องคิดวิเคราะห์ว่าชนะหรือแพ้เพราะอะไร

อาทิ เราอาจชนะตลาด แต่เป็นเพราะหุ้นในพอร์ตตัวหนึ่งบังเอิญวิ่งขึ้นมาหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเราอาจแพ้ตลาด เพราะเพิ่งเพิ่มเงินลงทุนก้อนโตเข้าไป ทำให้ผลตอบแทนถูกฉุดลงมาต่ำ หากตัดปัจจัยพิเศษออกไป บรรทัดสุดท้ายจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหนอย่างไร ต้องหาคำตอบออกมาให้ได้

แค่รู้ว่า 'แพ้' หรือ 'ชนะ' ยังไม่พอ ต้องรู้ด้วยว่า แพ้เพราะอะไร ชนะเพราะอะไร จึงจะสรุปบทเรียน และเอาอดีตไปปรับใช้กับอนาคตได้อย่างถูกต้องครับ