นโยบาย Robotics ของไทย ต้องเพิ่มความเร็วและความเข้ม

นโยบาย Robotics ของไทย ต้องเพิ่มความเร็วและความเข้ม

เห็นข่าวคณะรัฐมนตรีอนุมัตินโยบาย “พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้แล้วก็เกิดความหวังว่า

เราจะก้าวเข้าสู่ยุค robotics อย่างแท้จริงในอนาคต

และจะต้องพ่วงการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ artificial intelligence อย่างเป็นระบบเพื่อให้คนทุกวงการได้เดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งรัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม อุตตม เสาวนายน ให้สัมภาษณ์ผมผ่าน Facebook Live ว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต, การเกษตร, แพทย์, และการบริการ

เราจะพูดถึง smart factory หรือ smart farming ไม่ได้เลยถ้าไทยไม่มีนโยบายชัดเจนในการเปิดทางให้ robotics เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะโดยมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะให้มีการลงทุนและปรับตัวเองเข้าสู่ระบบที่ใช้เทคโนโยลีใหม่นี้

ตัวเลขทางการบอกว่าทุกวันนี้วงการอุตสาหกรรมไทยใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเพียง 15% ของโรงงานทั้งหมด จึงมีการตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ความต้องการที่จะปรับเข้าสู่ระบบอัตโนมัติมีสูงถึง 50%

ปัญหาวันนี้คือเรายังต้องนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ เสียเงินไม่น้อยกว่าปีละกว่า 260,000 ล้านบาท

จึงไม่ต้องสงสัยว่าได้เวลาที่ประเทศไทยจะกำหนดนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะโลกหมุนเร็วเกินกว่าที่เราตามทันได้หากยังไม่ปรับตัวให้ทำการผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ

ผมเห็นนโยบายสองสามข้อของนโยบายนี้แล้วก็ได้แต่หวังว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวแล้ว รัฐจะจับมือกับเอกชนเดินหน้าทำให้เกิดเป็นความจริงได้ในเร็ววัน

ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการหันมาใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตนอย่างจริงจัง

ตามมาด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า System Integrator (SI) ให้มากพอในอันที่จะรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม และต้องทำให้การผลิต SI ในประเทศไทยเองมีต้นทุนในระดับที่แข่งกับคนอื่นได้

แต่ที่สำคัญกว่าอะไรอื่นคือเรื่องของ “คน” ที่จะต้องสร้างขึ้นมารองรับนโยบายนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะไม่ว่าเราจะลงทุนด้านเงินและวัตถุมากมายเพียงใด หากไม่มีบุคลากรในประเทศที่จะทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็จะไม่สามารถทำให้แผนนี้เป็นความจริง

ดังนั้นข้อเสนอให้ตั้ง Center of Robotics Excellence หรือศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศทางด้านหุ่นยนต์จึงเป็นทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่ทำเรื่องนี้สามารถประสานให้เกิดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง

คำว่า "ความเป็นเลิศ” มีความหมายสำคัญเป็นพิเศษในภาวะที่เราต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานทุกอย่างให้เป็นสากล เพราะเราต้องคบหาและทำงานร่วมกันทุกประเทศในโลกภายใต้กติกาแห่งยุคดิจิตัลใหม่นี้

ก้าวแรกของนโยบายนี้อาจจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำงานแทนระบบต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ แต่ก้าวต่อไปก็คือการสร้างหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่ยกระดับขึ้นดั่งเช่นที่เราเห็นในต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์สำรวจอวกาศ, หุ่นยนต์บริการหรือหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ทางการแพทย์และหุ่นยนต์ที่สามารถทำหน้าที่แทนคนได้ผ่านระบบ machine learning ด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังกลายเป็นหัวใจของการกรุยทางเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง

ยุค robotics กำลังเขย่าโลก เราไม่อาจจะเพียงแค่เดินตามเท่านั้น หากแต่จะต้องเร่งความเร็วไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเป็นอันขาด!