ผิดไม่ได้ ผิดไม่เป็น = คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น

ผิดไม่ได้ ผิดไม่เป็น = คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น

ผมกำลังสงสัยอยู่ว่าปัญหาคุณภาพของนักเรียนไทยที่ตกต่ำลงเรื่อยๆนั้นไม่ได้มาจากทางโรงเรียนเพียงด้านเดียว

หากแต่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคม ซึ่งทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างปัญหาให้มันหนักหนาสาหัสและแก้ไขได้ยากมากขึ้น

หากเราเริ่มต้นที่คำถามว่าทำไมเด็กนักเรียนไทย “ คิด” ไม่เป็น ก็ต้องถามต่อไปว่าคนไทยส่วนใหญ่ “ คิด” กันเป็นหรือเปล่า ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับต่างๆ “ คิด” กันได้หรือไม่ ข้าราชการระดับต่างๆที่เผชิญหน้ากับปัญหาในการที่จะต้องตัดสินใจบ้างในงานของตน ได้ “คิด” แก้ไขอะไรบ้างนอกเหนือจากการตัดสินใจอย่างเถรตรงไปตามกฎระเบียบ (ย้ำว่า เถรตรง ) ซึ่งหากเป็นข้าราชการระดับหัวหน้าหน่วยงานไม่สามารถ/ไม่กล้าจะ “ คิด” ได้และทำอะไรตามนายสั่งมาหรือทำตามกฎระเบียบ ก็เท่ากับเป็นเพียงคนเดินสารเท่านั้น ( แม้ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานการศึกษาระดับที่คนคิดว่าสูงแล้ว ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยก็เป็นเพียงคนเดินสารเท่านั้น )

ดังนั้น ก่อนที่จะประนามเด็กและหาทางทำให้เด็ก “คิด” เป็น ผู้ใหญ่ทั้งหมดต้อง “ คิด” เป็นเสียก่อน

ปัญหาใหญ่อยู่ตรงนี้ครับ ผมคิดว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไทย “ คิด” ไม่เป็น เพราะสังคมไทยควบคุมคนโดยทำให้คนทั้งหมดไม่กล้า “ คิด”

กระบวนการทำให้คนไทยไม่กล้า “ คิด” เป็นการควบคุมทางสังคมที่ฝังรากลึกลงไปในระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน อันส่งผลให้แก่อำนาจถูกสถาปนาให้อยู่เหนือกว่าการตัดสินใจของมนุษย์

กระบวนการควบคุมทางสังคมที่ทำให้คนไทย “ คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น”เริ่มด้วยการทำให้คนไทยไม่กล้าที่จะลองผิดลองถูก ซึ่งทำให้ทุกคนเล่มเกมส์ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ตลอดมา

การสอนสั่งในครอบครัวเป็นเสมือนการ “จับจ้อง” ลูกว่าลูกจะต้องทำถูกตามวิธีคิดวิธีรู้สึกของพ่อแม่ผู้ปกครองเสมอ คำถามที่เด็กพบเสมอได้แก่ ทำไมเธอไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ทำไมเธอทำอย่างนี้ คำถามลักษณะนี้ทำให้ลูกหลานใสครอบครัวไม่กล้าที่จะคิดอะไรต่อไป นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมเด็กในปัจจุบันถึงนอนดึกมากขึ้น ก็เพราะการตื่นอยู่ในยามดึกที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลับไปแล้วคือเวลาเสรีของเด็ก

การ “จับจ้อง” ในครอบครัวปัจจุบันเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะในด้านหนึ่ง การขยายตัวของครอบครัวเดี่ยวได้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเวลาในการจ้องมองจับผิด (แม้ว่าจะด้วยความรัก ) มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ครอบครัวเดี่ยวก็ซึมซับความคาดหวัง/ความกดดันมาจากสังคมที่ต้องทำให้ตีกรอบ/บังคับให้ลูกหลานทำในสิ่งที่สังคม ( บังคับ)เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น

การ “จับจ้อง” ในครอบครัวสัมพันธ์แนบแน่นกับกระบวนการการควบคุมคนไทยของรัฐไทย ซึ่งเป็นการควบคุมที่ทำให้พลเมืองไม่กล้า “ คิด” กระบวนการควบคุมของรัฐไทยมีสองมิติซ้อนกันอยู่ มิติแรก ได้แก่ การควบคุมโดยอำนาจตามกฎหมาย/กฎระเบียบ อีกมิติหนึ่งเป็นการควบคุมทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมิติที่สองนี้สำคัญและมีพลังอย่างมากต่อคนไทย

การควบคุมทางอารมณ์ความรู้สึก ก็คือ การทำให้คนไทยเกรงกลัวการทำ “ ผิด” จากขนบที่มีมา/อ้างว่ามีมาก่อนแล้วหรือระเบียบ ( ตัวอย่างการอ้างขนบ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ้างในการลงโทษคุณเนติวิทย์ด้วยข้ออ้างว่าสถาบันมีความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่สมควรจะอ้างอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เรื่องของตน )

การควบคุมนักเรียนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับนั้นเป็นการนำเอาการควบคุมทางสังคมเข้ามาสู่การควบคุมตัวตนของนักเรียนนักศึกษา ( Social Constraint to Self- Constraint) ซึ่งทำให้นักเรียนนักศึกษาได้ต่อยอดความเกรงกลัวจากครอบครัวมาสู่การไม่กล้าทำอะไรที่ “ ผิด” ไปจากขนบหรือคำสั่งของครู การต่อยอดการไม่กล้า “ คิด” นี้ดำเนินมาอย่างมั่นคงแข็งแรง จึงไม่ต้องแปลกใจอะไร หากนักศึกษาระดับปริญญาตรี/โท จะไม่เคยตอบตรงคำถาม เพราะการตอบตรงกับคำถามนั้นมีความเสี่ยงที่จะผิดหรือถูก พวกเขาและเธอจึงหลบๆเลี่ยงๆไปทางโน้นทางนี้ตลอดเวลา( ฮา )

นักเรียนนักศึกษาที่จบออกมาทำงานในหน่วยงานราชการหรือบริษัทต่างๆ ก็ยังอยู่ในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด “ ผิดไม่ได้ ผิดไม่เป็น” อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทั้งหมดพยายามยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพราะทำให้ตัวเองปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงและไม่ต้อง “ คิด” อะไรให้กระทบกระเทือนตนเอง ความคิดสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นไม่ได้ ลองคิดถึงการติดต่อราชการทั่วไปดูซิครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการที่ทำหน้าที่หลักสำคัญในการทำให้คนไทย “ไม่กล้าคิด” ดูซิครับ ( มหาวิทยาลัยที่มีคนตั้งใจสร้างความรู้ก็ถูกข้าราชการกระทรวงศึกษาโดยเฉพาะ สกอ. ทำลายความตั้งใจไปหมดแล้ว สกอ.จะรู้สึกตัวว่าทำ “ ผิด” บ้างหรือไม่ )

กระบวนการควบคุมคนให้ “ ไม่กล้าผิด” จนนำไปสู่ “ ไม่กล้าคิด​” มีผลต่อเนื่องในการทำงานกับบริษัทข้ามชาติด้วยนะครับ บริษัทรถยนต์ชื่อดังของญี่ปุ่นกำลังคิดและวางแผนกันว่าจะย้านฐานการผลิตจากประเทศไทยไปสู่ประเทศอื่น เนื่องจากพบว่าศักยภาพของคนงานไทยไม่สามารถพัฒนาไปมากกว่าการควบคุมเครื่องจักรหรือการทำตามคำสั่งเท่านั้น การก้าวข้ามไปสู่การทำงานที่เร็วขึ้นและมีคุณภาพขึ้นนั้นไม่สามารถจะทำได้เพราะพนักงานคนไทยไม่กล้าที่จะคิดอะไรได้

กระบวนการควบคุมทางสังคมอันนำมาสู่การควบคุมตัวตนก่อให้เกิดความตึงเครียด (Tension )ในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง เสียงแตรบนท้องถนนจึงมีความหมายเป็นเสียง “ก่นด่า” ว่าคุณผิด ไม่ใช่เสียงของการบอกกล่าวให้รับรู้รถอีกคันกำลังมา และการก่นด่าด้วยเสียงแตกได้ทำให้ความโกรธเคือง/โมโหปะทุขึ้นมาง่ายขึ้น เพราะความตึงเครียดของความรู้สึกของ “ ผิดไม่ได้ ผิดไม่เป็น” นี้เอง รวมไปถึงการเกิดขึ้นและขยายตัวของโรคทางจิตบางประเภทด้วยครับ

ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยนะครับแต่อยากจะขอให้ลองช่วยกันคิดดูว่าอะไรเกิดขึ้นในสังคมไทย

หากพวกเราในสังคมไทยไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา รอแต่อัศวินขี่ม้าขาว ก็คงไม่ทันการณ์ครับ