จำนวนข้าราชการกับการล้มละลาย

จำนวนข้าราชการกับการล้มละลาย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คอลัมน์นี้เสนอว่าน่าจะลดจำนวนข้าราชการ ทั้งนี้เพราะมีจำนวนมากจนมีเวลาทำงานไร้สาระกันได้อย่างทั่วถึง

จำนวนข้าราชการสร้างปัญหาสารพัดและอาจเป็นปัจจัยทำให้ประเทศล่มจม ขอยกตัวอย่าง

ตัวอย่างแรกเป็นเรื่องกรีซซึ่งคงเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางแล้วเพราะกรีซยังไม่ฟื้นจากการเพิ่งล้มละลาย กระบวนการจ้างข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มหลังจากกรีซเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตามเงื่อนไขก่อนเข้าเป็นสมาชิกสภาพยุโรป รัฐบาลจ้างข้าราชการเพิ่มขึ้นเพราะต้องการขยายฐานเสียงไม่ว่าพรรคไหนจะได้ครองอำนาจ นอกจากรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเดือนสูงแล้ว ยังต้องจ่ายค่าสวัสดิการชั้นดีอีกด้วย ค่าจ้างและสวัสดิการนั้นรวมกันเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการที่ก่อให้เกิดงบประมาณขาดดุล ตามกฏของสหภาพยุโรป สมาชิกจะปล่อยให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลเกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไม่ได้ กรีซจึงหาทางออกด้วยการตกแต่งบัญชีตบตาสหภาพยุโรป การตบตานั้นทำได้ไม่นานกรรมก็ตามทัน เมื่อกรีซเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายในปี 2552 งบประมาณขาดดุลถึง 13% ของจีดีพี เมื่อกรีซไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หนึ่งในเงื่อนไขที่กรีซต้องทำคือลดค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการลดจำนวนข้าราชการ

ตัวอย่างที่สองเป็นเรื่องเวเนซุเอลาซึ่งตอนนี้ตกอยู่ในสภาวะล้มละลายและใกล้เกิดสงครามกลางเมือง เวเนซุเอลาประสบปัญหาสาหัสทั้งที่มีน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก กระบวนการจ้างข้าราชการเพิ่มขึ้นเกิดตั้งแต่เมื่อครั้งเวเนซุเอลายังส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลกซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายได้มหาศาล (รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของเวเนซุเอลาอาจอ่านได้ในหนังสือเรื่อง “เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) นอกจากข้าราชการพลเรือนแล้ว เวเนซุเอลายังสร้างกองทัพขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วย กองทัพนี้เคยมีจำนวนนายพลมากที่สุดในโลก

นอกจากจะได้รับเงินเดือนสูงแล้ว นายทหารยังมีสวัสดิการสูงมากอีกด้วย ตัวอย่างเช่น สโมสรนายทหารของเวเนซุเอลาเคยได้รับการยกย่องว่าหรูหราที่สุดในโลก นายพลเข้าถึงเหล้านอกชั้นเยี่ยมได้เพราะนำเข้าด้วยราคาแสนถูกด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าอัตราในตลาดเสรีหลายเท่า นายพลเหล่านั้นไม่ค่อยมีอะไรทำแต่รัฐบาลต้องเอาใจ มิฉะนั้นอาจถูกยึดอำนาจ ตอนน้ำมันราคาสูง รัฐบาลมีรายได้พอจ่าย แต่ต้องล้มละลายเมื่อราคาน้ำมันตก

ตัวอย่างที่สามเป็นเรื่องอียิปต์ซึ่งผมเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายจากวอชิงตัน” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน) ย้อนไปเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นพนักงานของธนาคารโลก ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับระบบราชการอียิปต์โดยตรงเมื่อผมเป็นสมาชิกในคณะของธนาคารโลกที่เดินทางไปดูสภาพเศรษฐกิจของอียิปต์ การไปครั้งนั้นสร้างความประทับใจหลายอย่าง ขอนำมาเล่าสองเรื่องคือ เรื่องแรก รัฐบาลอียิปต์สัญญาว่าจะให้ข้อมูลที่เราต้องการรวมทั้งเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการด้วย ผู้อำนวยการกองคนหนึ่งนัดให้ผมไปรับข้อมูลหลายครั้ง แต่เมื่อผมไปถึงก็มีข้ออ้างสารพัดว่ายังเตรียมไม่เสร็จ ในวันสุดท้ายก่อนผมเดินทางกลับ เขาบอกว่าจะส่งไปให้ที่กรุงวอชิงตัน ข้อมูลนั้นไม่เคยปรากฏ

เรื่องที่สองเป็นการนัดคุยกับผู้อำนวยการกองคนหนึ่งในกระทรวงแรงงาน เมื่อผมไปถึงกระทรวงนั้นปรากฏว่าในกระทรวงเต็มไปด้วยผู้คนจนแทบไม่มีทางเดินและตามห้องต่าง ๆ ก็มีคนยืน หรือนั่งห้อยขาอยู่บนโต๊ะทำงานซึ่งต่างกับครั้งก่อน ๆ ที่ผมไปพบข้าราชการในกระทรวงนั้นผมถามผู้อำนวยการคนนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น เขาตอบว่าเป็นวันเงินเดือนออก ข้าราชการทั้งหมดมารับเงินเดือน ตามธรรมดารัฐบาลบอกข้าราชการส่วนใหญ่ว่าไม่ต้องมาทำงาน มิฉะนั้น งานจะเสียเพราะไม่มีที่นั่ง วันนั้นผมคุยกับเขาได้เท่านั้นเพราะในห้องเขาก็มีผู้มารอรับเงินเดือนอยู่หลายคน

ยุคนี้มีเครื่องมือประหยัดแรงงานชั้นดี จำนวนข้าราชการจึงควรลดลง แต่เมืองไทยเริ่มเสพติดประชานิยมแบบเลวร้ายและรัฐบาลก็ต้องการขยายฐานเสียง ฉะนั้น รัฐบาลคงเพิ่มจำนวนข้าราชการและทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การขาดดุลนั้นจะเป็นการปูทางไปสู่ไอเอ็มเอฟซึ่งจะตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลขายสมบัติชาติเช่นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง