แอดวานซ์ฯปรับพอร์ตใหญ่รวบธุรกิจบรอดแบนด์เพิ่มแวลลู

แอดวานซ์ฯปรับพอร์ตใหญ่รวบธุรกิจบรอดแบนด์เพิ่มแวลลู

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

ต้องยอมรับเลยว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีผู้ประกอบการอยู่เพียง 3 ราย แต่แข่งขันกันในระดับที่ดุเดือดทั้งด้านบริการ โครงข่ายสัญญาณ เนื้อหาความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ

ยิ่งมีตัวเลขให้เห็นว่ารายได้จากข้อมูล (DATA) โตพุ่งสูงขึ้นทุกปี สวนทางกับรายได้จากเสียง (VOICE) ที่ปรับตัวลงทุกปีเช่นกัน ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่างเร่งหาทางเจาะช่องทางในกลุ่มที่มีรายได้เติบโตมากขึ้น

ฐานะเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC มีลูกค้าในมือ 40 ล้านเลขหมาย มีส่วนแบ่งทางการตลาด 48 %ได้เริ่มเข้ามา ขยายฐานรายได้ในกลุ่มบรอดแบนด์ จากการตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2558 ให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ภายในปี 2562 ด้วยการขยับจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม มาเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแทน  ดังนั้นสนามการแข่งขันจึงไม่ได้จำกัดเฉพราะผู้เล่นที่แย่งชิงเค้กกันแค่ 3 รายอีกต่อไป เพราะยังมีผู้เล่นในตลาดดิจิทัลอีกจำนวนมากที่ แอดวานซ์ฯ ต้องแข่งขัน

รายได้จากธุรกิจกลุ่มบรอดแบนด์ของแอดวานซ์ ฯ ช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 มีรายได้จากธุรกิจนี้คิดเป็น 2.3 % ของรายได้จากการให้บริการ 63,517 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 1,460 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้บริการ 4.45 แสนราย มีรายได้อยู่ที่ 600 บาท/ราย/เดือน ท่ามกลางส่วนแบ่งการตลาดที่แอดวานซ์ ฯ มีอยู่ที่ 5 % ห่างจากอันดับ 1 ทรูออนไลน์ที่กินส่วนแบ่งการตลาดถึง 38% และอันดับ 2  ทรีบรอดแบนด์ที่ 33 % หากแอดวานซ์ฯ ต้องการจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตามที่ประกาศเอาไว้ต้องขยับตัวทำอะไรบ้างอย่าง ซึ่งเมื่อดูกลุ่ม บมจ. ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL ในฐานบริษัทย่อย สามารถต่อภาพการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลได้ไม่ยาก

ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ ธุรกิจของซีเอส ฯ มีบริการด้านไอทีมากสุด 82 % บริการด้านเสียงและโทรศัพท์ 12 % และบริการสมุดหน้าเหลือง 6 % โดยมีอัตราการเติบโตปรับลดลงอย่างน่าใจหาย

จากครึ่งปีแรก ปี 2560 บริการด้านไอที โตเพียง 1 % ส่วนธุรกิจอื่น ไม่เติบโตแถมติดลบด้วยตัวเลขสองหลักมาหลายไตรมาส แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างธุรกิจสมุดหน้าเหลืองจากสิ่งพิมพ์เป็นรูปแบบออนไลน์แล้วก็ตาม แต่ผลประกอบการรวมครึ่งปีแรกปีนี้ มีรายได้ 1,410 ล้านบาท ลดลง 3 % กำไรอยู่ที่ 154 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.5 %

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจบริการด้านไอทีถือว่าซีเอสฯยังมีจุดแข็งมีบริการทั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ คลาว์คอมพิวเตอร์ และโซลูชั่นไอที ซึ่งมีลูกค้าที่ให้บริการในมือจำนวนมาก โดยมีจำนวนลูกค้ากลุ่มนี้แบ่งเป็นบริการอินเตอร์เน็ตแบบวงจรเช่า 5,818 ราย บริการศูนย์คอมพิวเตอร์ 554 ราย และ บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงตามคอนโดมีเนียม 15,752 ราย บวกกับการเติบโตธุรกิจนี้ในอนาคตสามารถเสริมให้กับแอดวานซ์ ฯ ได้ทันที ด้วยการที่แอดวานซ์เสนอซื้อหุ้นกับผู้ถือใหญ่สองรายของ ซีเอส ฯ คือ บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ถือผ่านบริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด 42.07 % และ Singapore Telecommunication Limited อีก 14.14 % ในราคา 7.80 บาท ซึ่งจะมีการตรวจสอบสถานะกิจการ หรือการเจรจาต่อรองราคาอีกครั้ง เพื่อดำเนินแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

ถ้าหากราคาดังกล่าวเป็นจริงแอดวานซ์ ฯ ใช้เงินประมาณ 2,605 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในครั้งนี้ เมื่อรวมกรณีต้องทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด จะใช้เงินรวมกันไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เทียบกับกระแสเงินสดของ แอดววานซ์ ฯ ที่มี ทั้งกระแสเงินสดจากธุรกิจระดับ 3 หมื่นล้านบาท งบลงทุนธุรกิจและโครงข่ายในปีนี้ 40,000-45,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบฐานะการเงิน แถมน่าจะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันยังเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับ ไทยคม จากการวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ว่ามีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นตามสัดส่วนที่ถือ คิดเป็นมูลค่า 1.2 บาทต่อหุ้น ซึ่งปัจจุบันด้านธุรกิจดาวเทียมของไทยคมกำลังประสบปัญหาฐานลูกค้ารายใหม่ไม่เติบโต สะท้อนจากรายได้ที่ลดลงทั้งดาวเทียมทั่วไป และดาวเทียมสำหรับบรอดแบนด์

โดยมีการคาดการณ์ว่ากำไรในครึ่บงปีหลังปี 2560 ยังมีแนวโน้มไม่สดใส จากครึ่งปีแรกประกาศกำไร 475 ล้านบาท ลดลง 63 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งทั้งปีคาดว่ามีกำไรที่ 802 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไรที่ 785 ล้านบาท

ดังนั้นหากจากประเมินการปรับพอร์ตธุรกิจของแอดวานซ์ ฯ ครั้งนี้ถือได้ว่าได้ประโยชน์ในกลุ่มกันทุกฝ่าย แถมผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สิงคโปร์ได้รับเงินลงทุนคืนกลับไปด้วยซ้ำ จากนี้ไปคงต้องรอดูว่า แอดวานซ์ ฯจะขึ้นมาแข่งขันกับอันดับ 1 และ 2 ในธุรกิจบรอดแบนด์ได้มากน้อยแค่ไหน