เคลีย์ปมเจ้าหนี้เอิร์ธ ก่อนถึงทางตันยื่นฟื้นฟูฯ

เคลีย์ปมเจ้าหนี้เอิร์ธ  ก่อนถึงทางตันยื่นฟื้นฟูฯ

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

ความคืบหน้าการดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการ ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใกล้จะถึงบทสรุปได้แล้ว หลังจากทางฝ่ายผู้บริหารของบริษัทเปิดโต๊ะชี้แจงถึงที่มาที่ไปของหนี้ที่เกิดขึ้นกว่า 36,000 ล้านบาท ความจำเป็นการเดินหน้ายื่นขอฟื้นฟูกิจการด้วยมูลค่าหนี้ล้นพ้นตัว

การเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันเพื่อฟ้องกลับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งนำข้อมูลของบริษัทเปิดเผยต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ จนเป็นที่มากระแสเงินสดสะดุด

แม้ว่าล่าสุดทางเอิร์ธ สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ของตัวเองได้แล้วระดับหนึ่ง รวมไปถึงการถอนการร้องฟ้องสถาบันการเงินที่นำข้อมูลของบริษัทไปเปิดเผย แต่ใจความสำคัญอยู่ที่ หนี้ที่เพิ่มขึ้นมา 26,000 ล้านบาท มีที่มาที่ไปอย่างไร

เบื้องต้นผู้บริหาร ‘ขจรพงศ์ คำดี ’ ชี้แจงว่าหนี้มีทั้งหมด 47,480 ล้านบาทมาจากกลุ่มสถาบันการเงิน ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย 10,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 2,500-2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรี 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประมาณ 340-350 ล้านบาท

ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้จากคู่ค้าธุรกิจที่สาธารณะประชาชนจีนประมาณ 6-7 ราย ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส กับธุรกิจที่บริษัทได้ตกลงไว้แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

เมื่อที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ‘ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบีเอเอส ’ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ก็พอสรุปได้ว่าเจ้าก้อนหนี้เพิ่มขึ้นมามีสาระสำคัญมากน้อยแค่ไหน

จำนวนหนี้ทั้งหมดที่มีการฟ้องร้อง 36,972 ล้านบาท ถูกบันทึกในงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560 มีเพียง 827 ล้านบาท ส่วน 36,145 ล้านบาท เป็นหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นและยังไม่ได้ถูกบันทึกในงบการเงินดังกล่าว

รายละเอียดเจ้าหนี้แต่ละราย มีความน่าสนใจมาก กรณีเจ้าหนี้รายใหญ่สุด 2 ราย‘ เทียนจิน โบไทจงชิน เทรดดิ้ง ’ เรียกร้องค่าเสียหาย 12,600 ล้านบาท และ‘ เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง’ เรียกร้องค่าเสียหาย11,200 ล้านบาท

ทั้งสองบริษัทเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะร่วมลงทุนด้วยกันรู้จักกันมานานตั้งแต่ปี 2557 เมื่อบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงจึงได้เรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสดังกล่าว

โดยหนี้จำนวนนี้ทางเอิร์ธ ฯ ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดให้กับผู้สอบบัญชีได้อีกว่ามาจากอะไรบ้างถึงเป็นก้อนหนี้ขนาดใหญ่ได้ขนาดนี้

ที่สำคัญสัญญาร่วมมือ ของเจ้าหนี้ทั้งสองราย ระบุว่าคู่สัญญาทุกฝ่ายตกลงว่าจะไม่มีคู่สัญญาฝ่ายใดจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายใด ๆ ยกเว้นจงใจ หรือประมาณ อย่างร้ายแรง ซึ่งที่ผ่านมาจากสถานกาณ์ของ เอิร์ธฯ ที่อ้างว่าประสบปัญหาหนี้ไม่มีเงินใช้หมุนเวียน เพราะถูกตัดอายัดเงินสด ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความตั้งใจหรือจงใจได้

ขณะที่เจ้าหนี้บุคคลรายเดียว ‘หลิน ตงไห่’ ฟ้องร้องหนี้เกือบ 3,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกันกับสองบริษัทข้างต้น ซึ่งมีการลงนามสัญญาร่วมมือในรูปแบบเดียวกัน และยังมีการทำธุรกรรมกันต่อเนื่องแม้ว่าสถาบันการเงินในไทยจะอายัดสินเชื่อบริษัทไปแล้วก็ตาม

กรณีของธนาคารกรุงไทย ที่มีหนี้สินเชื่อ ผิดนัดชำระหนี้ 2 งวด รวม 897 ล้านบาท มาจากการขอสินเชื่อเพื่อชำระค่าสินค้า สินเชื่อเพื่อชำระสินค้านำเข้า วงเงินสินเชื่อทรัสต์รีซีท ซึ่งมีหลักฐานเรียกร้องค่าเสียหายที่เอิร์ธ ฯ ต้องชำระชัดเจน ทั้ง คำขอสินเชื่อ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ใบกำกับสินค้า ใบแจ้งหนี้

การชี้แจงของผู้สอบบัญชีฉบับนี้พอที่จะประเมินก้าวต่อไปของ เอิร์ธฯ ว่าจะลงเอยในรูปแบบไหน ซึ่งบริษัทยังยืนยันขอแก้ไขปัญหาทางการเงินของบริษัทด้วยการยื่นฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกเดียวที่มีในเวลานี้

ด้วยการหารือร่วมกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินให้ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนภายใต้การฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางต่อไป เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ

การหันหน้ามาเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และให้เป็นผู้เลือกผู้บริหารและเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นต่อศาลล้มละลายกลางวันที่ 18 กันยายนนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของเอิร์ธ ฯ แต่คงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ต้องถูกแช่แข็งหุ้นตัวนี้ไปอีกนาน พร้อมกับความเชื่อมั่นที่ถูกสั่นคลอนไปแล้ว