ลงทุนยังไงให้พอการเกษียณ

ลงทุนยังไงให้พอการเกษียณ

ลงทุนยังไงให้พอการเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เมื่อวันก่อนตอนขึ้นลิฟต์ได้มีโอกาสได้ดูโฆษณาของทางตลาดหลักทรัพย์ผ่านสื่อที่ติดอยู่ในลิฟต์โดยเนื้อหาได้ให้คนไปสัมภาษณ์ประชาชนว่ารู้มั้ยว่าตัวเองต้องมีเงินเท่าไหร่ก่อนการเกษียณ ซึ่งคำตอบของคนจะได้หลากหลายกันออกไป ซึ่งมีตั้งแต่ไม่ทราบ ยังไม่คิด หรือตอบจำนวนเงินบางจำนวนออกมา ดูน่าสนใจดี สุดท้ายก็มีการเฉลยว่าเราต้องมีเงินอย่างน้อย 4 ล้านบาทเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ยังทำสื่อประเภทตัววิ่งซึ่งเป็นการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทางตลาดหลักทรัพย์มีความพยายามในการให้ความรู้เกี่ยวกับการออมการลงทุน และการบริหารความมั่งคั่ง

วันนี้ก็เลยอยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม เริ่มจากตัวเลข 4 ล้านก่อนแล้วกันว่ามันมาจากไหน ผมว่าถ้าเราต้องการมีเงินใช้ให้ได้วันละ 500 บาท เดือนนึงประมาณ15,000 บาทโดยประมาณ ปีนึงก็ตก 182,500 บาท นั่นก็หมายความว่า เงิน 4 ล้านของเราจะพอให้เราใช้ได้ไปอีกประมาณ 21-22 ปี นั่นเอง นั่นหมายถึงเราไม่ได้นำเงิน 4 ล้านไปลงทุนนะครับ ตุถ้าเรานำเงิน 4 ล้านไปลงทุน (สมมติว่าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 2.5 ต่อปี) เราจะมีเงินใช้ได้ไปถึง 30 ปีทีเดียว ซึ่งเท่ากับเราจะมีเงินใช้เพิ่มขึ้นมาอีกถึง 10 ปี นี่คือพลังของการลงทุนครับ แต่นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีเงินเหลือไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ยกเว้นแต่ถ้าเรามีบ้านหรือรถอยู่แล้วนะครับ

ประเด็นต่อมา คือ เราควรจะวางแผนลงทุนอย่างไรเพื่อให้ได้เงิน 4 ล้านบาท ผมให้ตัวเลขอย่างนี้ครับว่า ให้เราเริ่มลงทุนเก็บเงินตั้งแต่อายุ 30 โดยเริ่มต้นเก็บปีละ 80,000 บาท ฟังดูอาจจะเยอะแต่ถ้าคิดเป็นเดือนก็ตกเดือนละ 6,667 บาท ซึ่งน่าจะเป็นเงินที่เราพอจะเก็บออมได้ แต่มีข้อแม้นะครับว่าทุกปีให้เราเพิ่มการลงทุนขึ้นอีกร้อยละ 3 ซึ่งก็คือปีต่อมาเราต้องเก็บเพิ่มเป็นปีละ 82,400 บาท หรือเพิ่มมาแค่ 2,400 บาท หรือเพิ่มแค่เดือนละ 200 บาท ซึ่งพอเราอายุ 60 เราต้องเก็บเงินในปีสุดท้ายเป็น 194,181 บาท หรือตกเดือนละ 16,182 บาท ครับในสุดท้ายเราถึงจะมีเงินเก็บถึง 4 ล้านบาท

ทีนี้ถ้าผมบอกว่าถ้าเรานำเงินจำนวนเดียวกันแต่นำเงินแต่ละเดือนไปลงทุนในกองทุน LTF และ RMF โดยแบ่งไปลงทุนใน LTF ปีละ 50,000 บาท และ 30,000 บาทไปลงทุนใน RMF แนะนำว่าควรเป็นกองทุนที่เสี่ยงน้อยกว่าหุ้น เช่น กองทุนที่ลงทุนในพวก REITs ทีนี้ต้องสมมติแล้วครับเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง สมมติว่าผลตอบแทนจาก LTF ร้อยละ 7 ในขณะที่ RMF ร้อยละ 5 ซึ่งถ้าเราใช้กลยุทธ์นี้เราจะบรรลุเป้าหมายโดยใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิมถึง 10 ปี นั่นคือเราสามารถเริ่มต้นลงทุนเพื่อการเกษียณช้าไปอีก 10 ปี หรือตอนอายุ 40 ปี หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งถ้าเราลงทุนแบบนี้ตั้งแต่อายุ 30 ไปเรื่อย ๆ พอเราอายุครบ 60 เราน่าจะมีเงินถึง 10 ล้านบาท (ส่วนจะนำเงินที่เหลือไปทำอะไรก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านครับ คงไม่มีใครเกี่ยงการมีเงินเยอะนะครับ) แต่ต้องขอเตือนว่าการลงทุนมีความเสี่ยงผลตอบแทนที่ให้เป็นเพียงผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวอย่างผลลัพธ์จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้

จะเห็นว่าพลังของการลงทุนเพิ่มค่าให้กับเงินของเรา(ในกรณีตัวอย่างนี้ ถึง 6 ล้านบาท) ส่วนกลยุทธ์การลงทุนท่านผู้อ่านสามารถเลือกใช้การลงทุนแบบรายเดือนเพื่อไม่ต้องยุ่งยากหรือบางคนจะลงปลายปี หรือบางคนเลือกที่จะแบ่งเป็นรายเดือนครึ่งนึ่งที่เหลือจะไทม์มิ่งภาวะตลาดก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน

อีกอย่างสำหรับมนุษย์เงินเดือนนะครับ นอกเหนือจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว โดยปกติทางบริษัทจะมีการหักเงินเพื่อนำไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนนี้ผมอยากแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ให้ถือเป็นส่วนเพิ่มสำหรับเงินเกษียณเพราะจริง ๆ เมื่อตอนเกษียณ เงิน 500 บาทอาจด้อยค่าลงตามภาวะเงินเฟ้อ (สมมติว่าเงินเฟ้อ ร้อยละ 3 ต่อปี 30 ปี เงินเราจะด้อยค่าลงถึงร้อยละ 90 หรือราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว) และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเรื่องฉุกเฉินต่าง ๆ อาจทำให้เงิน 4 ล้านบาทของเราไม่เพียงพอก็ได้ ตลาดหลักทรัพย์ถึงใช้คำว่าเราควรมีเงินอย่างน้อย 4 ล้านบาท

และประเด็นสุดท้ายแม้ว่าเราจะบรรลุเป้าหมายในการมีเงินหลังเกษียณแล้วผมอยากให้เรายังคงนำเงินดังกล่าวไปลงทุนต่อเพียงแต่ไม่ต้องลงทุนที่เสี่ยงมากนัก เช่น ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรีทส์ หรืออาจมีเพียงบางส่วนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นปันผล เป็นต้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนของเงินเกษียณของเราให้มีพลังมากขึ้น

ครับท้ายสุดนี้ก็ต้องขอชื่นชมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองดูหรืออ่านข้อมูลที่มีโฆษณาผ่านสื่อต่างๆเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้หรือกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งให้มากขึ้น ท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านโชคดีในการลงทุนครับ