No Fault ในความหมายทางการแพทย์

No Fault ในความหมายทางการแพทย์

อ่านบทความของดร.เฉลิมพล ไวทยางกูรเรื่อง No Fault ในทางการแพทย์แล้ว(1) ผู้เขียนขอแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดความเสียหายในทางการแพทย์นั้น

อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้เป็นความผิดของแพทย์ผู้ทำการรักษา กล่าวคือ ฝ่ายผู้รักษาไม่ได้ทำผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากภายในร่างกายของผู้ป่วยที่มีปฏิกริยาตอบสนองต่อการรักษาผิดจากบุคคลทั่วไป หรือเป็นอาการรุนแรงที่เกิดตามมาหลังจากเกิดโรคอื่น และมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือผู้ไปรับการรักษาได้ ในกรณีดังต่อไปนี้คือ

  1. Adverse drug reaction คือการที่ร่างกายของผู้ป่วยมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการได้รับยาที่ไม่เหมือนผู้อื่น ซึ่งอาจเรียกว่าแพ้ยา ปฏิกิยาภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ซึ่งปฏิกริยาจากการแพ้ยานี้ อาจเรียกว่า "อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา" ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจจะมีอาการเล็กน้อย เช่นเป็นผื่นคันที่ผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรงทั้งร่างกายเช่น กรณีที่เรียกว่า Steven Johnson's Syndrome " ที่ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นทั่วตัวแล้วยังทำให้ตาบอดได้ หรือมีอาการแพ้รุนแรง ทำให้หลอดลมบวม หายใจไม่ออกจนถึงกับเสียชีวิต เรียกว่าเกิด Anaphylactic Shock ซึ่งการแพ้ยานี้ แพทย์จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น โดยการถามประวัติการแพ้ยา หรือประหวัดการแพ้อาหาร รวมทั้งประวัติภูมิแพ้อื่นๆของผู้ป่วยและครอบครัวก่อนจะให้ยาทุกครั้ง แต่ถึงแม้จะไม่มีประวัติการแพ้ยามาก่อน ผู้ป่วยก็อาจจะแพ้ยาตัวนี้ได้เช่นเดียวกัน
  2. Complications หรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากอาการป่วยด้วยโรคหนึ่งต่อมามีอาการของอีกอวัยวะอื่นภายหลัง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความรุนแรงของโรคเอง หรืออาจเกิดจากการรักษาของแพทย์ ซึ่งในทางการแพทย์แล้ว โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ มักจะมีการเขียนไว้ในตำราทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ระมัดระวังและป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ป่วยของตน แต่โรคแทรกซ้อนบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะได้ใช้ความระมัดระวังอย่าง "สุดความสามารถ"แล้วก็ตาม ซึ่งในทางการแพทย์มักจะอธิบายว่าเป็นเหตุ "สุดวิสัย" ที่แพทย์จะรักษาหรือยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ตัวอย่างของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ "ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต" – septicemia ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบหรือการอักเสบของข้อสะโพกในเด็กอาจมีผลให้เกิดความพิการจากการที่หัวกระดูกต้นขา (femoral head)ถูกทำลายจากการอักเสบ  หรือการอักเสบของวัณโรคปอดทำให้เกิดวัณโรคของเยื่อหุ้มสมอง  หรือการขาดน้ำอย่างรุนแรงจากอาการท้องเสียทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน  หรืออาการป่วยตับอักเสบอย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะความผิดปกติทางสมอง หรือภาวะที่มีน้ำคร่ำหลุดเข้าไปในกระแสเลือดทำให้แม่ที่มาคลอดลูกตายจากภาวะที่หลอดเลือดที่ปอดอุดตัน (pulmonary embolism) หรือในกรณีที่หลังการผ่าตัดช่องท้องแล้วพบว่าเกิดลำไสส้อุดตันเนื่องจากในช่องท้องผู้ป่วยเกิดพังผืดมากมาย โดยอวัยวะในตัวผู้ป่วยเองมีการซ่อมแซมบาดแผลแต่เกิดพังผืดมากผิดปกติ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นแม้แพทย์จะได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว หรืออาจจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทีมแพทย์/พยาบาลผู้ทำการรักษาก็ได้ ฉะนั้นเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพิสูจน์ถุก-ผิดเสมอ เพื่อจะได้รู้ว่ามีจุดบกพร่องใดๆเกิดขึ้นจากการรักษาหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ชดใช้ไปตามระบบ No Fault ถ้ามีความบกพร่อง ก็ต้องพิสูจน์ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่ถ้าประมาท เลินเล่อก็ต้องดูว่าประมาทเลินเล่ออย่างอย่างร้ายแรงหรือไม่ หรือละทิ้งไม่ทำตามหน้าที่หรือไม่

  1. Underlying diseases หรือโรคที่ผู้ป่วยมีซ่อนเร้นอยู่แต่ยังไม่แสดงอาการหรือยังไม่เคยตรวจพบ แต่มาแสดงอาการเมื่อเป็นโรคอื่นแล้ว เช่น

3.1   การปวดหัวเรื้อรังอาจเกิดจาการมีเนื้องอกในสมอง หรืออาจเกิดจากการปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น Migraine หรือมีสายตาผิดปกติ

3.2   มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวาน) แต่ไม่มีอาการ แต่มาพบแพทย์เมื่อมีการของผิวหนังอักเสบเป็นหนอง (sepsis)

3.3   การมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการป่วยบางอย่างหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือเกิดการอักเสบจากเชื้อรา

3.4    ภาวะตับอักเสบเรื้อรังนำไปสู่การเป็นตับแข็งหรือมะร็งตับ

3.5   ในกรณีที่เด็กมีไข้และชักอาจเกิดจาการชักจากไข้สูงธรรมดา หรือเกิดอาการชักจากสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็ได้

 ดังนี้ เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยมาด้วยอาการอย่างหนึ่ง แต่อาจเกิดจากภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลเสียหายรุนแรงกว่าที่ผู้ป่วยหรือญาติคาดการณ์ไว้ก็ได้ ฉะนั้นการเกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย จะไม่สามารถละเว้นการพิสูจน์ถูก/ผิดได้ เพื่อจะได้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดความเสียหาย และนำไปแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้

  1. Sequelae หรือ อาการเจ็บป่วยที่เกิดตามหลังโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่น เช่น

 4.1ภาวะสมองขาดเลือดอย่างฉับพลัน (stroke) ทำให้เกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง ที่เรียกว่าอัมพาต

  4.2 ภาวะเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมให้เหมาะสมก็จะเกิดภาวะไตวาย

 4.3  การท้องผูกเรื้อรังก็อาจจะเกิดจากการอุดตันของลำไส้

4.4การที่แขนขาอ่อนแรงทั้งหมดเคลื่อนไหวไม่ได้เลยก็เกิดตามหลังกระดูกสันหลังส่วนคอหักจากการบาดเจ็บ (cervical cord injury)

4.5 การมีก้อนเนื้องอกกดทับไขสันหลัง ทำให้ขาสองข้างเป็นอัมพาต (paraplegia)

4.6 ภาวะสมองอักเสบ (encephalitis) ทำให้พูดไม่ได้ (Aphasia) ดังนี้เป็นต้น

  1. ประวัติการเจ็บป่วยไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้สังเกตหรือจดจำอาการเจ็บป่วยในอดีตหรือปัจจุบัน หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยปกปิดความจริงจากการเจ็บป่วย เนื่องจากไม่ต้องการบอกข้อมูล(ที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นความลับส่วนตัวของตน)แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลนั้นเองอาจเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการเจ็บป่วยในขณะนี้ และเมื่อแพทย์ไม่ทราบก็อาจจะทำให้ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องจนอาจทำให้การรักษานั้นไม่เป็นผลดีก็ได้
  2. ความเสียหายที่เกิดจากระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าระบบการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น มีความบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบอยู่มาก เช่น การขาดแคลนบุคลากร แต่มีจำนวนผู้ป่วยมาก การขาดแคลนพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญ การขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์(ต้องอาศัยพี่ตูนบอดี้แสลม วิ่งการกุศลหาเงินมาซื้อเครื่องมือได้บ้าง แต่ยังขาดอีกเยอะ)

การฟ้องร้องแพทย์หรือบางคนเรียกว่า "ข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วย" นั้นแตกต่างจากข้อพิพาทอื่นอย่างไร?

จากการอ่านบทความของดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ที่เขียนว่า " คำว่า No-Fault จึงอาจมีความหมายว่า ไม่ได้ทำผิด หรือไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นว่า ไม่ถือว่าเป็นความผิด มากกว่า เพราะแท้จริงแล้วการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นความผิดไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ต้องมีการพิสูจน์และไม่ต้องรับโทษในชั้นนี้ เพราะไม่ถือว่าเป็นความผิด"  ในทางการแพทย์จึงไม่เป็นความจริงในกรณีข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตามเหตุผลที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า "ความเสียหายที่เกิดจากการไปรับการรักษาจากแพทย์นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดได้ใน 6 กรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างในอีกหลายสิบหลายร้อยตัวอย่างซึ่งไม่สามารถยกมากล่าวได้หมดในที่นี้

ส่วนการที่ดร.เฉลิมพลเขียนไว้ว่า " เมื่อมาพิจารณาเรื่องทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ถ้าจะเอาคำว่า No-Fault มาใช้ก็น่าจะมีความหมายเดียวกันคือ
หนึ่ง...มีการกระทำ ซึ่งจะเป็นไม่เจตนา หรือประมาทเลินเล่อ ก็แล้วแต่
สอง...การกระทำนั้นเป็นความผิด และ
สาม...แต่กฎหมายให้ถือว่าไม่เป็นความผิด..ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเว้น

แต่ถ้าเป็นเจตนา ก็เท่ากับเป็นเรื่องทุรเวช และไม่เข้าลักษณะ No-Fault แน่นอน"

จึงไม่น่าจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ เพราะคำว่าทุรเวชปฏิบัติหรือ Medical Malpractice นั้นมีความหมายว่า แพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วย "ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน"

แล้วจะตัดสินอย่างไรว่า "การรักษาผู้ป่วยในขณะนั้นมีมาตรฐานหรือไม่?" การที่เราจะเอามาตรฐานการแพทย์มาตัดสินการรักษาผู้ป่วย ก็ต้องเอามาตรฐานของแพทย์ในสภาพการณ์เช่นเดียวกัน  รวมกับมาตรฐานของโรงพยาบาลในระดับเดียวกันมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินมาตรฐานในการรักษา เช่น ในกรณีของแพทย์ทั่วไปที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา (ยังขาดความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการ)ที่รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนที่ (ขาดแคลนเครื่องมือ เทคโนโลยี เอ๊กซเรย์ อัลตร้าซาวน์ ซีทีสแกน หรือ MRI ขาดแพทย์ผ่าตัด แพทย์ระงับความรู้สึก) มาเปรียบเทียบกับการรักษาผู้ป่วยแบบเดียวกันในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์(มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) และมีเครื่องมือ เทคโนโลยี เวชภัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เอามาเปรียบเทียบเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้

ความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแตกต่างจากความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมทั่วไป

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย นั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ "เสมอกัน" เนื่องจากแพทย์นั้นมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และการฝึกฝนมามากกว่าผู้ป่วย แพทย์จึงเป็นผู้ "แนะนำหรือออกคำสั่ง" ในการรักษาที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามจึงจะเกิดผลดีในการรักษาความเจ็บป่วย ฉะนั้นผู้เป็นแพทย์จึงต้องเป็น "ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ หรือความเชื่อถือ ศรัทธา"จากผู้ป่วยหรือประชาชน  เขาจึงจะทำตามคำสั่งหรือคำแนะนำของแพทย์

การที่แพทย์จะได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยนั้น แพทย์จึงต้อง "ทำหน้าที่ของแพทย์" โดยต้องยึดหลัก "จริยธรรมทางการแพทย์" ในการทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด จริยธรรมเหล่านี้ มีความหมายรวมถึง

  1. มีเป้าหมายให้เกิดผลดีที่สุดต่อผู้ป่วยของตน ที่ตนกำลังทำการรักษา
  2. ต้องหลีกเลี่ยงจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ตัวอย่างผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เลือกใช้ยา ก.ที่ไม่ให้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน แต่เลือกใช้ยาข.ที่อาจมีผลดีไม่เหมือนยาก. เนื่องจากพราะบริษัทที่ขายยาข. ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากการสั่งยาข.
  3. รักษาความลับของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
  4. ทำงานโดยรักษาหลักในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และความเชี่ยวชาญด้านคลินิกอย่างเคร่งครัด

ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้นับเป็นหลักจริยธรรมที่แพทย์ทั่วโลกต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ในส่วนของแพทย์ในประเทศไทยนั้น ทางการได้จัดให้มี "แพทยสภา" เป็นสภาวิชาชีพ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในมาตรา 7(1) คือควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  (แพทย์) ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม  โดยในหมวด 5 ของพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่จากมาตรา 26-31

โดยมาตรา 31 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ต้องรักษาจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับของแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาได้ออก "ข้อบังคับ"แพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 มากมายหลายหมวดหลายข้อ

และมาตรา 32 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม(แพทย์) ผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกโยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

มาตรา 39 คณะกรรมการแพทยสภามีสิทธิวินิจฉัยชี้ขาดและลงโทษแพทย์ที่กระทำผิดได้ 4 ระดับ ตั้งแต่ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคฑัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต (ห้ามทำงานรักษาผู้ป่วย เรียกว่าจำคุกความเป็นแพทย์) มีกำหนดไม่เกินสองปี และขั้นรุนแรงที่สุดคือ เพิกถอนใบอนุญาต (ห้ามทำงานรักษาผู้ป่วยตลอดไป เรียกว่าประหารชีวิตความเป็นแพทย์)

แต่การทำงานของกรรมการแพทยสภานั้นอาจ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการไปรับการรักษาผู้ป่วย ไม่พอใจได้ในหลายกรณี ดังเช่น การแพ้ยาจนตาบอด เกิดจาก อาการอันไม่พีงประสงค์จากการใช้ยา เช่นในกรณี Steven-Johnson's Syndrome โดยแพทยสภาได้ตัดสินว่าเป็น "เหตุสุดวิสัย" เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีประวัติแพ้ยามาก่อน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผลของการแพ้ยาจนทำให้เกิดความพิการนี้ นี่คือกรณีความเสียหายที่ไม่มี (แพทย์)ผู้ใดทำผิด ซึงในไทยมีกฎหมายให้เงินช่วยเหลือใน 2 กรณีคือ ถ้าเป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และผู้ป่วยในระบบ 30 บาท โดย ผู้ป่วยก็จะได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายนี้จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ซึ่งจะมีการช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นเงินสูงสุด 2 ล้านบาท

ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า ความเสียหายของผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาจากแพทย์/โรงพยาบาลต่างๆนั้น มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เกิดจาก "ความผิดพลาดของแพทย์" ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ความเสียหายนี้ มีกฎหมายช่วยเหลือแล้วในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบประกันสังคม โดยอาศัยหลักการสอบสวนเบื้องต้นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการได้ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล โดยเป็นความเสียหายที่เกิดจากทั้งการไม่มีการทำผิด ( No Fault) คือการชดเชยโดยปราศจากความผิด (No Fault Compensation)   แต่ในขณะเดียวกัน มาตรา 41 ก็มีการชดเชยในกรณีที่มีการ "ทำความผิด"เนื่องจากยังมีการ "สอบสวน"ก่อนจ่ายเงินชดเชย และยังมีมาตรา 42 ให้ "ไปไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำความผิด" อีกด้วย

ในส่วนข้อเสนอเรื่องการใช้อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น(2) ผู้เขียนเชื่อว่า คงไม่สามารถยุติ "ข้อพิพาทในทางการแพทย์"ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทยสภาทำหน้าที่ "พิจารณาข้อพิพาทาทงการแพทย์" โดยคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็น "คนกลาง" (ทำหน้าที่คล้ายอนุญาโตตุลาการ)ที่มีความรู้ทางวิชาชีพแพทย์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ยังไม่สามารถทำความั่นใจให้กับคู่กรณีไม่ว่าแพทย์หรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากแพทยสภาเองก็ถูกคู่กรณีทั้งแพทย์และฝ่ายประชาชน นำคดีไปฟ้องศาลปกครองอยู่ตลอดมาเช่นกัน

ผู้เขียนขอเสนอว่า การป้องกันความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทยยังขาด "การป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย"เป็นอย่างมาก เช่น การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักเกินไป มีผู้ป่วยมาก ทำให้แพทย์ต้องเร่งรีบทำงาน จนเสี่ยงต่อความเสียหาย เช่นมีเวลาตรวจร่างกายผู้ป่วยคนละ 2- 4 นาที และไม่มีเวลาพอที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยฟังจนเข้าใจ ถึงข้อจำกัดในทางการแพทย์ว่า ในหลายๆกรณีก็อาจเกิดความเสียหายโดยไม่ได้มีความผิดของแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้ผู้ป่วยผิดหวังเมื่อเกิดความเสียหาย แม้ว่าความเสียหายนั้น ไม่ได้เกิดจากการรักษาผิดพลาด ต่ำกว่ามาตรฐาน ประมาทเลินเล่อ หรือละเลยไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย

เนื่องจากว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถจะรักษาชีวิตผู้ป่วยทุกคนได้ ทำได้แต่เพียงรักษาได้จนสุดความสามารถ(ของแพทย์) แต่ผู้ป่วยจะรอดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับบุพกรรมที่ทำมา หรือตามแต่ประสงค์ของพระเจ้าจะบันดาลให้เป็นไป แม้แพทย์จะได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการแพทย์ อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของตนและทำตามมาตรฐานที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ทุกคน ผู้ป่วยบางคนเดินมาโรงพยาบาลแต่ต้องหามออกไป ผู้ป่วยบางคนถูกหามมา แต่เดินปร๋อกลับบ้านก็มี

เนื่องจากมีคำกล่าวของ Sir William Osler (Father of Modern Medicine) ว่า Medicine is a Science of Uncertainty and an Art of Probability)แปลว่า การแพทย์เป็นวิทยาศาตร์ของความไม่แน่นอน และเป็นศิลปศาสตร์ของความ น่าจะเป็น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.facebook.com/apiwat.mutirangura/posts/10203433890086164

///////////

 โดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา