อวัตถุศึกษาของแรงงานนักออกแบบภายกับการสะสมทุนร่วมสมัย

อวัตถุศึกษาของแรงงานนักออกแบบภายกับการสะสมทุนร่วมสมัย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมอย่างรวดเร็วก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงนานัปการต่อชีวิตมนุษย์

ทั้งนี้ในกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น แรงงงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ขับเคลื่อนทุนนิยมต่อไปได้ โดย คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) อธิบายว่า ระบบทุนนิยมเติบโตจากการสะสมทุนโดยการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของแรงงาน กล่าวอย่างง่ายคือ นายทุนจ้างงานแรงงานด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แรงงานทำได้ โดยมูลค่าส่วนเหล่านั้นตกเป็นของนายทุนในรูปแบบของกำไรเพื่อนำมาสะสมไว้เพื่อลงทุนต่อเพื่อขยายกิจการ ดังนั้น “การสะสมทุน” จึงเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตของทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การเกิดวิกฤตการณ์ภายในระบบทุนนิยมเองทำให้ระบบมีการปรับตัวสู่ยุทธศาสตร์การปรับตัวแบบใหม่ นักคิดผู้หนึ่งที่อธิบายรูปแบบการสะสมทุนแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจคือ เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมปัจจุบันมีการสะสมทุนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การสะสมทุนแบบยืดหยุ่น (Flexible Accumulation) คือ การออกแบบวิธีการในการขูดรีดแรงงานแบบใหม่ โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่นายทุนเลือกใช้คือ การเปลี่ยนวิธีการจ้างงานลูกจ้างประจำไปสู่การจ้างงานแบบยืดหยุ่น คือ การจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างชั่วคราว จ้างงานระยะสั้น จ้างงานไม่เต็มเวลา พร้อมไปกับการโอนย้ายหน่วยการผลิตไปยังประเทศทุนนิยมอื่นๆที่มีแรงงานราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด

นอกจากรูปแบบการสะสมทุนจะเปลี่ยนไปแล้ว ลักษณะของแรงงานในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยโดย เมาริซิโอ ลาซซาราโต (Maurizio Lazzarato) อธิบายว่า นับตั้งแต่การขยายตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ รูปแบบของแรงงานและการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไป โดยได้เกิดแรงงานรูปแบบใหม่ขึ้นมาชนิดหนึ่งคือแรงงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่า โดยเมาริซิโอ เรียกแรงงานเหล่านี้ว่า “แรงงานอวัตถุ” ซึ่งหมายถึง แรงงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และฝีมือส่วนบุคคลเป็นหัวใจในการผลิต ใช้คุณสมบัติในระดับตัวตน (subjectivity) ความคิด ความรู้สึกของตนในการสร้างมูลค่าให้กับงาน โดยปัจจุบันมีการใช้แรงงานอวัตถุมากขึ้นในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการออกแบบสร้างสรรค์ ในงานเหล่านี้หากแรงงานสามารถสร้างงานที่มีความโดดเด่นและแตกต่างได้มาก ก็จะยิ่งได้รับการตอบรับที่ดี

ในประเด็นเรื่องงานอวัตถุนี้ ผู้เขียนขอหยิบเอางานวิจัยนิพนธ์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายบุรินทร์ ปิยทัศนกุล ในหัวข้อ “การศึกษาแรงงานอวัตถุ: กรณีศึกษาแรงงานออกแบบภายใน” มาเพื่อใช้เป็นตัวอย่างทำความเข้าใจแรงงานอวัตถุและการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสะสมทุนอย่างเป็นรูปธรรม นั่นเพราะว่านักออกแบบภายในนั้นมีลักษณะงานที่สอดคล้องกับการผลิตแบบอวัตถุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผลผลิตของพวกเขาเป็นงานสร้างสรรค์ที่สัมผัสไม่ได้ (แต่งานออกแบบสามารถถูกทำให้เกิดสภาพเป็นวัตถุได้เมื่อมันถูกนำไปสู่กระบวนการแรงงานในการก่อสร้าง) ซึ่งในงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ว่า สภาพอวัตถุของแรงงานนักออกแบบภายในก็มิสามารถรอดพ้นไปจากมีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินที่กระทำผ่านจากรูปแบบสะสมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลแรงงานออกแบบภายในของบริษัทผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและรับสร้างบ้านรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย พบว่า แรงงานออกแบบภายในเป็นแรงงานอวัตถุที่ใช้อารมณ์ ความรู้สึกในการสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าให้กับผลงาน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากแรงงานอื่นๆในบริษัทที่การใช้แรงงานสัมพันธ์กับวัตถุโดยตรง (เช่น พนักงานที่อยู่ ณ ไซต์ก่อสร้าง เป็นต้น)

ที่น่าสนใจคือ ในการศึกษาแรงงานออกแบบภายในยังพบข้อค้นพบที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการคือ ประการแรก แรงงานออกแบบภายใน เป็นแรงงานที่มี สภาวิชาชีพ ควบคุม แตกต่างจากแรงงานอวัตถุอื่นๆที่ไม่มีสภาวิชาชีพควบคุม การมีอยู่และการทำงานของสภาวิชาชีพนี้ทำให้แรงงานออกแบบภายในต้องทำงานภายใต้กรอบที่เคร่งครัดจากสภาวิชาชีพทั้งในด้านการออกแบบ คุณวุฒิ และจรรยาบรรณ ซึ่งสภาพดังกล่าวสะท้อนไปที่ระบบใหญ่ที่ทุนต้องการให้แรงงานประเภทสร้างสรรค์สามารถทำงานได้อย่างเกิดผลิตภาพและเอื้อประโยชน์ต่อการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินนั่นเอง

สืบเนื่องมาที่ประการที่สองคือ การศึกษาได้ประเมินว่า แรงงานออกแบบภายในเป็นแรงงานที่สร้างมูลค่าส่วนเกินให้กับทุนได้สูงมาก ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการออกแบบบ้านราคา 20 ล้านบาท ตามระเบียบราคาแล้ว แรงงานต้องได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ในการทำงานจริง แรงงานออกแบบภายในดูแลบ้านเดือนละมากกว่า 4 หลัง แต่ได้รับค่าแรงในหลักหมื่นบาทเท่านั้น โดยกำไรส่วนต่างที่เหลือตกอยู่กับองค์กรแห่งทุนหรือบรรษัทนั่นเอง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณารูปแบบการจ้างงานของแรงงานออกแบบภายในจะพบว่า บริษัทออกแบบภายในก็หันมาใช้กลยุทธ์การสะสมทุนแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ผ่านการลดแรงงานประจำ เพิ่มการจ้างงานชั่วคราว และลดสวัสดิการแรงงาน ซึ่งส่งผลให้แรงงานเสียประโยชน์โดยตรง อย่างไรก็ตามบรูปแบบการจ้างงานที่บีบรัดแรงงานนี้ทำให้แรงงานตอบโต้ด้วยการลาออก บริษัทจึงต้องปรับตัวอีกครั้งโดยการเปิดรับข้อเสนอในการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการและยกระดับบรรยากาศการทำงานมากขึ้น แต่ก็ได้มีการสร้างกลไกคู่ขนานขึ้นมาด้วย เช่น ระบบประเมินผลงาน (KPI) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการควบคุมแรงงาน

การศึกษาชี้ให้เห็นว่า แรงงานออกแบบภายในเป็นแรงงานอวัตถุที่แตกต่างจากแรงงานอื่นๆคือสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าส่วนเกินได้สูง และถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดผ่านระเบียบของสภาวิชาชีพ ในส่วนของการทำงานนั้นแม้การปรับตัวไปสะสมทุนแบบยืดหยุ่นนั้นจะทำให้แรงงานออกแบบภายในเสียประโยชน์ แต่แรงงานก็สามารถตอบโต้ได้ด้วยการลาออก และยื่นข้อเสนอความต้องการของตนเพื่อต่อรองกับบริษัท จึงจะเห็นได้ว่าท่ามกลางกระบวนการสะสมทุนแบบยืดหยุ่นนี้ แรงงานและองค์กรแห่งทุนยังคงต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

การศึกษาแรงงานอวัตถุของนักออกแบบภายถือเป็นภาพตัวแทนที่สะท้อนพลวัตรของการสะสมทุนที่ไม่หยุดนิ่ง พร้อมด้วยเป็นการเข้าใจภาพการทำงานแบบอวัตถุที่นับวันจะเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบันนี้

 //////

โดย นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บุรินทร์ ปิยทัศนกุล HR Business Partner Manager, CP Group