ฤาคือ Synchronized Growth

ฤาคือ Synchronized Growth

หากเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความหดหู่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์คือผู้ที่มีมุมมองในแง่ลบ (Pessimist) ตลอด ผู้เขียนเองก็เช่นกัน

เพราะหนึ่งในสมมุติฐานที่ผู้เขียนเชื่อเสมอมาคือเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยในยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วง New Normal หรือภาวะปกติใหม่ อันเป็นภาวะที่การเติบโตจะช้าลง การค้าทั่วโลกจะลดน้อยลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะไม่กลับมาแพง (ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อในปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับต่ำยาวนาน) และการลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ผันผวนและต่ำกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มใหญ่ของเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยจะเป็นลักษณะ New Normal ดังเช่นที่กล่าวข้างต้น แต่ในระยะใกล้นี้ สิ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจและเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจโลก คือสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวพร้อมกัน (หรือ Synchronized Growth)

โดยหากพิจารณาจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่สัญญาณเศรษฐกิจของทั้ง 4 แห่งนั้นเป็นบวกพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงาน ที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราว่างงานก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายปี

ขณะที่เมื่อพิจารณาฝั่งภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการก็ตาม ก็จะเห็นสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ซึ่งสัญญาณเหล่านี้เริ่มแสดงตั้งแต่กลางปี 2016 และชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่ฝั่งของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่เป็นบวกจากการส่งออกที่เริ่มกลับมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้จะยังคงซึมเซา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าการฟื้นตัวครั้งนี้มีจุดเปราะบางสำคัญ 3 ประการ จุดแรกคือการฟื้นตัวครั้งนี้อยู่ในฝั่งของภาคการผลิตเป็นหลัก แต่ภาคการใช้จ่ายยังคงซึมเซา ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของประชาชน รวมถึงการลงทุนของธุรกิจเอกชนก็ตาม ซึ่งน่าจะเป็นผลจากหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีรายได้เหลือมาจับจ่ายน้อยลง รวมถึงโอกาสในการลงทุนโดยตรง (เช่น ลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา) ที่ให้ผลตอบแทนต่ำลง ภาคธุรกิจจึงลงทุนน้อยลงและเก็บสะสมเงินไว้ รวมถึงลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน (Portfolio Investment) มากกว่า

จุดเปราะบางที่สองได้แก่ สิ่งที่ขาดหายไปสำหรับการฟื้นตัวครั้งนี้ อันได้แก่เงินเฟ้อ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเศรษฐกิจฟื้นตัวจนการจ้างงานเริ่มเพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานเริ่มตึงตัว เช่นในสหรัฐในปัจจุบัน ค่าจ้างจะต้องเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจนทำให้เงินเฟ้อเริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ผู้คนรู้สึกอยากที่จะจับจ่ายมากขึ้น (ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบ Phillip Curve หรือการว่างงานที่ต่ำขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้น)

แต่ในปัจจุบันภาวะไร้เงินเฟ้อกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยระดับความรุนแรงจะมากน้อยแล้วแต่ภาวะของเศรษฐกิจนั้น ๆ โดยหากเศรษฐกิจซึมเซามากภาวะเงินเฟ้อก็จะอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์หรือติดลบ แต่หากเศรษฐกิจไม่ซึมเซานัก ภาวะเงินเฟ้อก็จะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเล็กน้อย

จุดเปราะบางที่สาม ได้แก่ ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่ขยายตัวเกินปัจจัยพื้นฐานมาก โดยหากนับจากต้นปี ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวสูงถึง 13.3% ขณะที่หุ้นในตลาดเกิดใหม่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 25% ซึ่งในความเห็นส่วนตัวแล้ว การปรับขึ้นเหล่านี้สูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก

ในเมื่อการฟื้นตัวครั้งนี้มีจุดเปราะบางถึง 3 ประการข้างต้น คำถามที่สำคัญต่อไปคือ การฟื้นครั้งนี้จะยั่งยืนหรือไม่ และมีปัจจัยใดที่จะทำให้การฟื้นตัวครั้งนี้หยุดชะงัก ซึ่งการจะตอบคำถามเหล่านี้นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการฟื้นตัวครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่ามี 3 ประการ คือ

หนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า การฟื้นครั้งนี้เกิดจากการที่ภาคการผลิตชะลอการผลิตมาตั้งแต่ช่วงปี 2012-15 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะเสี่ยงหลายประการ เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงค่อนข้างแรง รวมถึงกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตและระบายของในสต๊อก ขณะที่ในปัจจุบันสต๊อกเหล่านั้นเริ่มหมดลง ทำให้ผู้ผลิตต้องเริ่มสั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตอีกครั้ง

สอง ภาวะที่ความสัมพันธ์ของ Phillip Curve ขาดสะบั้นลง (การว่างงานต่ำและเงินเฟ้อต่ำ) ในปัจจุบันนี้ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้น ธนาคารกลางชั้นนำจึงมีช่องว่างมากขึ้นที่จะสามารถคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป ซึ่งนโยบายการเงินโลกที่ยังคงผ่อนคลายเช่นนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ และเอื้อต่อเศรษฐกิจ

สาม ผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในรอบนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ภาคธุรกิจเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 4.0 ที่ก้าวล้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเช่น Fintech และ Mobile Banking ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมลดลง E-commerce ทำให้การสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบทำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนทำให้การผลิตขยายตัวแต่ไม่ทำให้เงินเฟ้อสูงนัก

เมื่อพิจารณาทั้ง 3 เหตุผลดังกล่าว จะเห็นว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวครั้งนี้อาจไม่ยั่งยืนนัก เนื่องจากสาเหตุที่ 3 เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่สาเหตุที่ 1 และ 2 เป็นปัจจัยชั่วคราว ดังนั้น หากผู้ผลิตเร่งผลิตจนสินค้าเต็มสต๊อกอีกครั้ง และ/หรือเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจนธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ Synchronized Growth นี้ชะลอลงอีกครั้งได้

นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวครั้งนี้มีจุดเปราะบางสำคัญได้แก่ภาวะการลงทุนโลกที่ขยายตัวสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ทำให้เป็นไปได้สูงที่หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลอย่างรุนแรง เช่น สงครามในคาบสมุทรเกาหลีปะทุขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะตลาดตื่นตระหนก (Market Panic) ทำให้ความผันผวน (Volatility) พุ่งสูงขึ้นทันที และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้งได้ (หรือที่เรียกว่า “Bipolar Economy”)

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ยังมีมาก นักธุรกิจและนักลงทุน จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

//

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่