สุริยุปราคากับไฟฟ้าบนโลก

สุริยุปราคากับไฟฟ้าบนโลก

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นกับคนทุกยุคสมัยด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 มีสุริยุปราคาที่เห็นได้

ในแถบสหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษที่เห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์แบบเต็มดวง (total eclipse) ในทวีปนั้น

คนโบราณซึ่งไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นมักจะตกใจที่ในเวลากลางวันแสกๆ จู่ๆ ฟ้าก็มืดหม่นจนน่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง แม้ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์อย่าง ดร.ฟรานซิสโก ดีเอโกจากมหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวว่า เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาบังดวงอาทิตย์ใกล้จะเต็ม 100% ระดับแสงสว่างจะลดลงอย่างพรวดพราด เราจะเห็นเงาดำของดวงจันทร์พุ่งเข้ามาด้วยความเร็วหลายพันกิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะรู้อยู่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นแต่การสัมผัสเหตุการณ์จริงตรงนั้นยังทำให้เกิดความกลัวได้

คนโบราณในหลากหลายวัฒนธรรมมักส่งเสียงดังตีหม้อกะทะไล่ดวงจันทร์หรือตัวร้ายอะไรที่เขาคิดว่ากำลัง “อม” ดวงอาทิตย์อยู่ให้ออกไปเสีย คนไทยไล่ ราหูคนจีนไล่ มังกรบางแห่งก็ว่าไล่หมาป่า

คนปัจจุบันมีความรู้ว่าสุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และยังรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เห็นได้จากจุดไหนบนพื้นโลก อย่างเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าสำหรับสมัยนั้น และเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นครั้งแรก

แม้รู้แล้วก็ยังตื่นเต้น เพราะในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ ณ จุดเล็กๆ ที่ใดที่หนึ่งบนพื้นโลก อาจจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงเพียงครั้งเดียวหรืออาจไม่เห็นเลย ถึงแม้ว่าจะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ย 2 ครั้งใน 3 ปีก็ตาม เมื่อจะเกิดขึ้นจึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ บางคนถึงกับเดินทางไปดู แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมและระมัดระวังในการเชยชม เพราะการจับจ้องดวงอาทิตย์ทำให้ดวงตารับรังสีต่างๆ มากจนอาจทำลายสายตาได้ ต้องเตรียมหาอุปกรณ์กรองแสงที่ปลอดภัยซึ่งองค์การ NASA ย้ำว่าต้องให้ได้มาตรฐาน ISO 12312-2 หรืออาจทำอุปกรณ์ดูภาพเงาสะท้อนเองก็ได้ (pinhole projection) ซึ่งเวปไซต์ NASA ก็มีข้อมูลแนะนำเช่นกัน

แต่ในสุริยุปราคาครั้งล่าสุดของโลกที่สหรัฐ นอกจากประชาชนทั่วไปที่เตรียมหาอุปกรณ์ชม และนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัย corona บรรยากาศชั้นนอกสุดซึ่งร้อนที่สุดของดวงอาทิตย์ที่คอยจังหวะจะเห็น corona ฟุ้งอยู่รอบเงากลมของดวงจันทร์เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องเตรียมตัว คือ ในแวดวงพลังงานที่ต้องดูแลระบบไฟฟ้าไม่ให้ตกดับ

ปัจจุบันมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์กันมาก เมื่อเกิดสุริยุปราคาแสงแดดจะลดหรือหดหายไปในตอนกลางวัน ในกรณีนี้สุริยุปราคาเต็มดวงจะเคลื่อนตัวปรากฏบนเส้นทางพาดผ่านแผ่นดินของสหรัฐรวม 1 ชม. 33 นาที ไม่นับช่วงสุริยุปราคาเสี้ยวก่อนและหลัง โดยจุดที่เห็นมากที่สุดจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเพียง 160 วินาที ฟังดูไม่นานเลยแต่หากไม่ระวังก็อาจเกิดฟ้าตกดับได้

ถึงแม้ในภาพรวมจะดูไม่มีปัญหา นิตยสาร Economist รายงานว่าสุริยุปราคาจะกระทบเพียง 20 กิกะวัตต์ (GW) ของกำลังติดตั้งทั้งหมด 43 GW ในสหรัฐ และกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าก๊าซยังมีเพียงพอ แต่สุริยุปราคาก็ยังจะมีผลกระทบต่อการผลิตและการบริโภคไฟฟ้าในบางพื้นที่

รัฐแคลิฟอร์เนียร์มีกำลังผลิตโซล่าร์สูงสุดในสหรัฐที่ 18.9 GW และจะถูกกระทบเพียง 5.6 GW คือเฉพาะในบริเวณชายแดนเม็กซิโกที่เกิดสุริยุปราคาเสี้ยว แต่ถึงกระนั้น Regulator หรือองค์กรกำกับดูแล North America Electric Reliability Corp (NERC) ก็สั่งให้มีการเตรียมความพร้อมเสมือนว่าจะขาดไฟฟ้าจาก 2 ใน 3 ของปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งในรัฐแอริโซนาซึ่งอยู่ติดกัน

ในยุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ได้เกิดสุริยุปราคาที่นานถึง 3 ชั่วโมง และมีกำลังผลิตโซล่าร์ได้รับผลกระทบมากถึง 90 GW แต่การบริหารระบบไฟฟ้าก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งผู้บริหารระบบสายส่งทั่วโลกก็เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน กว่าจะถึงสุริยุปราคาครั้งต่อไปในปี 2567 ประเทศที่จะได้ชมปรากฏการณ์อาจจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโซลาร์มากขึ้นกว่าวันนี้ 3 เท่า ก็จะต้องมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า และยังต้องศึกษาผลกระทบให้กว้างขึ้น เช่น ลมจะเปลี่ยนแปลงช่วงที่เกิดสุริยุปราคา เพื่อทำแผนรองรับกรณีกระทบต่อพลังงานลมด้วย

ประชาชนทั่วไปก็จะต้องเตรียมตัวมากกว่าอุปกรณ์ปกป้องสายตา แต่ต้องลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นด้วย ดังเช่นในกรณีสหรัฐรอบที่ผ่านมามีการขอความร่วมมือ เช่น ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นระหว่างเกิดสุริยุปราคา รวมทั้งให้เปิดแอร์เตรียมบ้านให้เย็นล่วงหน้า ช่วงเกิดสุริยุปราคาจะได้ไม่ต้องเปิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อแบตเตอรีเก็บไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนพัฒนาศักยภาพสูงขึ้นและราคาถูกลง การเตรียมพร้อมก็จะง่ายขึ้น

ผู้บริโภคไฟฟ้าควรรู้จักที่จะใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และคิดจัดลำดับความสำคัญในบ้านหรือสถานประกอบการว่าการใช้ไฟฟ้าจุดไหนจำเป็นมากน้อยกว่ากัน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าขาดที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าอย่างสุริยุปราคาได้ เช่น วิบัติภัยที่ทำลายระบบสายส่งหรือโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ก็จะสามารถรับสถานการณ์ได้โดยไม่ลำบากนัก

 //////

โดย อานิก อัมระนันท์