ก้าวที่ใกล้ขึ้นของสังคมไร้เงินสด

ก้าวที่ใกล้ขึ้นของสังคมไร้เงินสด

ไม่ว่าจะในสมัยไหนๆเรื่องเงินๆทองๆ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญของคนในสังคมไทย

ที่ผ่านมาคนในสังคมมีความคุ้นเคยกับการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าที่ให้ความสำคัญกับการได้รับค่าสินค้าเป็นเงินสดเพราะมั่นใจว่าได้รับเงินอย่างแน่นอน รวมถึงการทำธุรกรรมที่ไม่ใช้เงินสดอีกหลายรูปแบบ เช่น การชำระเป็นเช็ค การโอนเงินผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารหรือตู้เอทีเอ็ม การชำระด้วยบัตรเครดิต แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับการใช้เงินสดแล้วก็ยังถือว่าน้อยมาก ทำให้ในยุคหนึ่งแม้แต่ธนาคารเองก็มีกลยุทธ์การทำธุรกิจด้วยการเพิ่มสาขาของธนาคารและเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็มให้กระจายอย่างครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ โดยหวังว่าความสะดวกสบายนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าให้มากขึ้น ส่งผลให้ความคุ้นเคยในการใช้จ่ายด้วยเงินสดได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานานหลายสิบปี

แต่ปัจจุบันที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การทำธุรกรรมทางการเงินมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เกิดเป็นเทคโนโลยีทางการเงินหรือ FinTech ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่และรายย่อย ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ใช้เงินสด ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง

การตอบรับ FinTech ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลขการทำธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์ (eMoney) ในปี 2559 ที่โตขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนหน้า และนโยบาย National ePayments ของทางภาครัฐที่มีตัวเลขจำนวนบัญชีผู้ลงทะเบียน PromptPay ณ ปัจจุบันมากกว่า 32 ล้านคนทั่วประเทศ

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยมีการประกาศใช้ Standard QR Code สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย QR มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแอร์เพย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เรามองว่าการใช้ QR Code มาตรฐานเดียวกันนี้เป็นโอกาสที่จะช่วยให้คนหันมาใช้แอพพลิเคชันทางการเงินมากขึ้นเพราะมีความสะดวก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค และเป็นโครงการของรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือ อันจะนำไปสู่การวางรากฐานให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society เพราะการใช้ QR Code มีประโยชน์ในหลายมิติ

ในแง่ของผู้ใช้งานเองก็ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยจากการลดการถือเงินสด รูปแบบการใช้งานไม่มีความซับซ้อนอะไร ขณะที่ในแง่ของผู้ประกอบการ QR Code ถือเป็นทางเลือกที่ดีเพราะมีต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเครื่อง EDC อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมที่อย่างไรก็ถูกกว่าการรับจ่ายด้วยบัตรเครดิต ยิ่งไปกว่านั้นคือวิธีการชำระค่าใช้จ่ายผ่านมือถือ ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่5 ในการดำรงชีพในยุคดิจิทัล หากออกแบบระบบให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ ใช้งานง่าย ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรูปแบบการใช้จ่ายออนไลน์ในระดับประเทศได้

การใช้เทคโนโลยีทางการเงินหรือแอพพลิเคชันทางการเงินที่เปิดให้บริการมากมายหลายรูปแบบนั้น ทำให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัยมากกว่าการใช้เงินสด ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนจากที่ไหนเวลาใดก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง โดยทำได้ผ่านแอพพลิเคชันทั้งจากของธนาคารเองหรือกระเป๋าเงินอีวอลเล็ตต่างๆ เช่น แอร์เพย์ เราก็ออกแบบบริการให้สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายทั้งการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ค่าประกัน โอนเงินระหว่างบุคคล สั่งอาหาร ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ หรือแม้แต่การบริจาคเงินก็สามารถทำได้ภายในแอพพลิเคชันเดียว

ขณะที่บรรดาผู้ให้บริการทั้งหลายก็ยังขนโปรโมชั่นออกมากระตุ้นให้ลูกค้าหันมาใช้บริการของตนโดยชูจุดเด่นเรื่องประโยชน์การใช้งานและประหยัดที่เพิ่มขึ้น หรือสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างวินัยในการใช้เงินและวางแผนทางการเงิน ปัจจุบันก็มีแอพฯที่ช่วยบริหารจัดการทางด้านการเงินอย่าง Money Lover ที่ช่วยทำบันทึกรายรับรายจ่ายและวิเคราะห์ออกมาว่าแต่ละเดือนเราเสียเงินไปกับค่าอะไรบ้าง ข้อมูลจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงิน ลดรายจ่าย และเพิ่มเงินออมได้อย่างถูกจุด

นอกจากนี้ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการลงทุน แอพฯ StockRadars จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน ช่วยดูข้อมูลหุ้นโดยใช้แนวคิดเรื่องการสร้างเรดาร์หรือฟิลเตอร์ช่วยคัดกรองหุ้น ที่น่าจับตามองได้ง่ายขึ้น หรือ แอพฯบัญชีออนไลน์ FlowAccount สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ช่วยบริหารจัดการเอกสาร รวมถึงการบริหารรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจได้อย่างมีระบบอีกด้วย

การใช้จ่ายและการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีหรือแอพฯทางการเงินต่างๆจะทำให้การจัดการด้านการเงินมีความสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถจัดการกับกิจกรรมทางด้านการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime Any Device) ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอพฯต่างๆบนสมาร์ทโฟนอย่างสะดวก ง่ายดาย ประกอบกับแรงสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากภาครัฐ อีกไม่นานนี้เราคงได้เห็นการเติบโตและการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น