โอกาสพีอาร์ โอกาสประชาชน

โอกาสพีอาร์ โอกาสประชาชน

ใครติดตามข่าวสารช่วง ก.ค.-ส.ค. คงจะได้ทราบครม.แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ปลัดกระทรวง/อธิบดี/ผู้ว่าราชการจังหวัด แทนผู้เกษียณอายุราชการใน30ก.ย.

          เพื่อให้ 1 ต.ค.ใส่เกียร์เดินหน้า ลุยงานทันที ไม่รีรอเสียเวลา ประชาชนรออยู่ เก่าไป ใหม่มา อำลาคนเก่า ต้อนรับคนใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เป็นวัฏจักรองค์กร

          ชื่นชมผู้เกษียณอายุ ได้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ราชการ ยินดีผู้ได้รับแต่งตั้งใหม่ ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตราชการ

          คนเปลี่ยนไป องค์กรยังต้องอยู่

          ดูแลรับใช้ ให้บริการประชาชน ตามพันธกิจ นโยบาย วิสัยทัศน์กระทรวง / กรม / จังหวัด พีอาร์(ประชาสัมพันธ์) เป็นส่วนงานหนึ่งในนั้น ยังต้องอยู่ รอผู้นำองค์กรคนใหม่ รอหนุนนำทำหน้าที่ ด้วยมีพันธกิจเผยแพร่ข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจในนโยบาย การดำเนินงาน ฯลฯ พีอาร์กับการบริหาร คู่กัน ไปด้วยกัน

          วันนี้คงรู้แล้ว ผู้นำใหม่เป็นใคร  

          มีบางคำถามชวนคิด บางมุมชวนมอง : ในช่วงผู้นำใหม่มารับตำแหน่ง จะใช้โอกาสพีอาร์อะไรสักหน่อยดีไหม น่าสนใจไม่น้อย โอกาสพีอาร์ คือ โอกาสผู้นำ มีโครงการ กิจกรรมพีอาร์ใด เตรียมไว้ชง จะดีหรือไม่ หรือรอให้เรียกพบสั่งการ เอาไงดี อยู่ที่พีอาร์กระทรวง / พีอาร์กรม / พีอาร์จังหวัดจะพิจารณา

          1) จะดีหรือไม่ เตรียมเสนอปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าฯ จัดประชุมชี้แจง สื่อสารบอกกล่าว ถึงแนวคิดนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายงาน วิธีการทำงาน หรือสไตล์การบริหารงาน เสริมสร้างความเข้าใจ สัมพันธ์อันดี เป็นมิตรไมตรี กระตุ้นเน้นย้ำ จูงใจชักนำพลังร่วมมือ ขับเคลื่อนองค์กร สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี อบอุ่นเป็นกันเอง เป็นองค์กรแห่งความสุข

          ผู้นำ(ย่อม)เตรียมประชุมอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ว่าตามผู้นำ ถ้าผู้นำเตรียม แล้วพีอาร์ไม่เตรียม อาจถูกถามหาพีอาร์อยู่ไหน ให้ไปเปิดห้องประชุม ดูเครื่องเสียง ไมค์ ฯลฯ ถ้าเป็นเช่นนี้ พีอาร์จะเช่นใด   

          เตรียมดีกว่าไม่เตรียม และควรเสนอให้ผู้นำประชุมชี้แจง พูดคุยเชิงพีอาร์ รับฟังปัญหา ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ สภาพการทำงานของกอง / ฝ่าย / งานต่างๆเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคใด ติดขัดตรงไหน มีอะไรขาดเหลือ รับปากแก้ไข ใส่ใจดูแล หาทางออก เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจลูกน้องมาใส่ใจผู้นำ สร้างขวัญ กำลังใจ เหลียวแลห่วงใยความเป็นอยู่ ความก้าวหน้า ฯลฯ

          ปกติผู้นำมักสื่อสารเฉพาะเรื่องการบริหาร ต้องการนั่น นี่ สั่งงานนี่ นั่น ไม่ได้สื่อสารคุณภาพชีวิต เข้าถึงจิตใจ พันผูกลูกน้อง ใช้แต่งาน ไม่ถามไถ่ปัญหาสารทุกข์สุกดิบ อาจลืม มุ่งแต่งาน ได้งาน ไม่ได้ใจ

          รู้ใช้พีอาร์ สื่อสารสองทาง ทั้งบอกกล่าวและรับฟัง หนุนนำการบริหารงานไหลรื่น รื่นไหล หนุนส่งเป้าหมายงานสำเร็จ(ผลงานดั่งใจ) เป้าหมายคนสำเร็จ(ทำงานด้วยใจ) ได้งาน ได้ใจ

          การประชุมชี้แจงดังกล่าว อาจเสนอให้จัดหลายรอบ รอบแรกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน ทุกกอง / ฝ่าย / งาน ในภาพรวม รอบนี้อาจเชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวประชาสัมพันธ์ ก็เป็นไปได้ ให้ประชาชนทราบ เชื่อมั่น มั่นใจองค์กร พร้อมเดินหน้าทำงาน เพื่อประชาชน รอบสองประชุมผู้บริหาร (ผอ.กองขึ้นไป)  

          ผู้นำ(ย่อม)จัดอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ว่าตามผู้นำ มองในมุมพีอาร์เสนอให้จัดเป็นการเฉพาะ 1) ประชุมหัวหน้างาน 2) ประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ

          เน้นย้ำสัมพันธ์ เป็นกันเอง แม้ประชุมในภาพรวม(รอบแรก)ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้อยู่หน้างาน เป็นกลไกสำคัญต่อการปฏิบัตินโยบาย ลงมาแตะมือ สัมผัสสัมพันธ์ เห็นหน้าค่าตา จะช่วยให้เข้าถึง เข้าใจ รู้จัก รู้ใจ ใกล้ชิด ด้วยมิตรไมตรี สร้างความรู้สึกที่ดี แฮ็ปปี้สองฝ่าย จะให้กำลังใจ เน้นซ้ำกำชับนโยบาย วิสัยทัศน์ใด ก็ว่าไป อยู่ที่ผู้นำ  

         ใกล้ชิด เห็นหน้า ก็รู้จักรู้ใจ

          ห่างเหิน ไม่เห็นหน้า ก็ไม่รู้ใจรู้จัก

          จะดีหรือไม่ ถ้าผู้นำจะโฟกัส ใส่ใจ ให้ความสำคัญหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเฉกเช่นผู้บริหาร งานเดิน-ไม่เดิน เร็ว-ช้า สัมฤทธิผลอย่างไร ก็อยู่ตรงนี้ ที่นี่ด้วยเช่นกัน      

          ไม่เชื่อลองไปดูโรงพยาบาลสิ ดึกๆดื่นๆก็ได้พยาบาล ชุดเหลือง ชุดฟ้านี่ล่ะ ทำให้นโยบายสาธารณสุขบรรลุเป้าหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านตรวจตามถนน ดึกดื่นค่อนคืน ก็ได้ตำรวจ ทหารที่อยู่เวรยาม ทำให้นโยบายยาเสพติดประสบผลสำเร็จ ฯลฯ

          หลายท่านโฟกัส ให้ความสำคัญอยู่แล้ว บางท่านอาจไม่เคยประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เผลอๆไม่เคยทักทายระดับล่าง อาจมองข้าม ลืม มีงานยุ่ง ไม่มีเวลา มองในมุมพีอาร์ ข้างบน ข้างล่าง ล้วนสำคัญ เป็นผู้นำหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน บริษัทธุรกิจ ขาดลูกน้องหน้างานได้ที่ไหน ใครจะลงมือปฏิบัติ  

          งานในภาพย่อยสำเร็จ ส่งผลงานในภาพรวมสำเร็จ ผู้นำ หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เป็นอีกมิติสัมพันธ์ที่น่าสนใจ             

          2) จะดีหรือไม่ หากพีอาร์จะรวบรวมข่าวทางสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องนโยบาย โครงการต่างๆขององค์กร (กระทรวง หรือกรม หรือจังหวัดของตน) ที่เป็นความสำเร็จก้าวหน้า และที่อยู่ระหว่างดำเนินงานสำคัญๆ ในห้วงเวลา 3 เดือน ก.ค., ส.ค., ก.ย. มีอะไรบ้าง นำมาเรียบเรียงลำดับข่าวตามวัน-เวลา เตรียมไว้ชงผู้นำคนใหม่

          ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องรู้ รู้แล้วจะบริหาร สานต่ออย่างไร อยู่ที่ผู้นำ อาจใช้เป็นข้อมูลเพื่อการประชาสัมพันธ์ ใช้ประกอบการให้สัมภาษณ์สื่อ เนื่องจากรับตำแหน่งใหม่ สื่อสนใจจับจ้อง อาจต้องเจอคำถาม โครงการนั้นถึงไหน นโยบายนี้เป็นอย่างไร  

          3) จะดีหรือไม่ หากพีอาร์จะรวบรวมข่าวทางสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องปัญหา อุปสรรค ผลกระทบ อาจเป็นผลกระทบจากนโยบาย สถานการณ์ ปัญหาสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กร(กระทรวง หรือกรม หรือจังหวัดของตน)ในห้วงเวลา 3 เดือน ก.ค., ส.ค., ก.ย. มีอะไรบ้าง นำมาเรียบเรียงลำดับข่าวตามวัน-เวลา ชงผู้นำคนใหม่

          ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องรู้ รู้แล้วจะบริหาร หาทางออกอย่างไร อยู่ที่ผู้นำ อาจใช้เป็นข้อมูลเพื่อการประชาสัมพันธ์ ใช้ประกอบการให้สัมภาษณ์สื่อ เนื่องจากรับตำแหน่งใหม่ สื่อสนใจจับจ้อง อาจต้องเจอคำถาม ปัญหานี้ ผลกระทบนั้น มีแนวทางแก้ไขอย่างไร     

          เรื่องปัญหา เป็นเรื่องลบ หากปล่อยล่าช้า ประชาชนอาจไม่พอใจ ประท้วง ทวงถาม รู้ก่อน แก้ก่อน จบเร็ว คลี่คลาย ลบกลายเป็นบวก รู้ช้า แก้ช้า จบช้า ค้างคา อาจลุกลามบานปลาย การนำเสนอปัญหาขึ้นไปให้ ไม่ต้องกลัวถูกผู้นำตำหนิ จะนึกขอบคุณพีอาร์ด้วยซ้ำ ถ้าไม่นำเสนอสิ แล้วผู้นำถูกประชาชนประท้วง บานปลาย ปิดถนน อันนั้นน่ากลัวกว่า      

          เป็นบางมุมมองพีอาร์เมื่อมีผู้นำใหม่ เตรียมไว้ชง ส่งผลดีด้วยพีอาร์ โอกาสพีอาร์ไม่ใช่เพียงแค่โอกาสผู้นำ ยังเป็นโอกาสองค์กร และโอกาสประชาชนอีกด้วย

          โอกาสพีอาร์ = โอกาสผู้นำ = โอกาสองค์กร = โอกาสประชาชน  

          หลายคนเตรียมชงไว้แล้ว ใครยังไม่ได้เตรียม อาจต้องเตรียม ที่เตรียมน้อย เตรียมให้มากขึ้น พร้อมเสิร์ฟวันแรก เมื่อผู้นำใหม่มาถึงกระทรวง กรม ศาลากลางจังหวัด หากผู้นำไม่มีเวลา เนื่องจากมีภารกิจแน่นเอี้ยด คนนั้นเข้าแสดงความยินดี คนนี้เข้าพบ ไม่ได้นำเสนอด้วยตนเองก็ไม่เป็นไร ฝากเลขาฯหน้าห้องไว้

          อาจนำเรื่องที่เตรียมชงไว้ เสนอผู้นำใหม่ 1-30 ก.ย.ว่าที่ผู้นำใหม่นั่งอยู่ไหน องค์กรใด ตามไปถึงนั่น ยื่นให้ล่วงหน้า เป็นพีอาร์ต้องเข้าใจ ผู้นำต้องใช้เวลาอ่าน 1 ต.ค.สั่งงานได้เลย จะดีหรือไม่

          ถ้าให้ดี พีอาร์ควรเสนอแนะ หรือช่วยผู้นำคิดในข้อ 2) และข้อ 3) ด้วย ว่าแต่ละเรื่องของนโยบาย โครงการ และปัญหานั้นๆ มองในมุมพีอาร์ควรแก้ไข ลด ตัดทอน เพิ่ม ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือจะต้องสร้างอะไรใหม่ๆ ตรงไหน ขยาย พัฒนา เติมเต็ม ต่อยอดอย่างไร แนบเป็นความเห็นไปด้วย

          เสนอเป็นข้อมูลขึ้นไปให้รู้ ดีแล้ว เสนอแนะเป็นความเห็นขึ้นไปให้พิจารณาด้วย ดีกว่า

          เชื่อว่าความเห็นของพีอาร์ไม่พลาด เพราะพีอาร์อยู่กับสื่อ อยู่ในแวดวงข่าวสารรอบทิศ รอบด้าน อ่านมาก ฟังมาก ทำให้ประมวล ประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ กลั่นกรองออกมาเป็นความเห็น คาดการณ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ถ้าผู้นำเห็นว่า“ใช่” ย่อมเห็นพ้อง เห็นด้วย เห็นชอบตามที่เสนอแนะ นำไปสู่การสั่งงานต่อไป

          อาจไม่ถูกต้อง ตรงใจทั้งหมด แต่ช่วยให้ผู้นำง่ายขึ้น

          มีโอกาสและความเป็นไปได้สูง ที่จะเห็นพ้อง เห็นด้วย เห็นชอบ แม้ไม่ทั้งหมด แต่ก็อาจโดนใจไม่น้อย เพราะผู้นำก็มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โจทย์ผู้นำ โจทย์พีอาร์ โจทย์เดียวกัน หัวใจพีอาร์ อยู่ตรงนี้ ตรงที่สร้างมูลค่าเพิ่มพีอาร์ ด้วยการเสนอแนะ และผู้นำให้นำข้อเสนอแนะไปสู่การปฏิบัติ

          ใช้โอกาสพีอาร์ สร้างโอกาสประชาชน       

          อาจให้ฝ่ายพีอาร์ขึ้นตรงผู้นำ เป็นมือขวาพีอาร์ให้ผู้นำ ก็เป็นไปได้ ใครจะรู้ นำร่องให้ขึ้นตรง 3 เดือน ทำงานเข้าขา มองตารู้ใจ พึ่งพาได้ ไว้วางใจ อาจขยายเวลาเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี หรืออาจให้ขึ้นตรง 4 ปีในวาระบริหาร  

          วันนี้หัวหน้าฝ่าย วันหน้าอาจได้ขึ้น ผอ.กอง   

//////

โดย นายไพศาล อินทสิงห์