แกะรอย..เศรษฐกิจฟื้น ทำไมคนทั่วไปกลับไม่มีรอยยิ้ม

  แกะรอย..เศรษฐกิจฟื้น ทำไมคนทั่วไปกลับไม่มีรอยยิ้ม

ยังคงเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ สำหรับ “เศรษฐกิจไทย” ที่การเติบโตเชิง “ตัวเลข” ฟื้นตัวชัดเจน แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น

..หากได้ลอง “แกะ” ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในรอบนี้แล้ว บอกได้คำเดียวว่าไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะรู้สึกแบบนั้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2560 ขยายตัวถึง 3.7% เป็นการขยายตัวมากกว่าที่ “นักวิเคราะห์” คาดการณ์เอาไว้

ตัวเลขการเติบโตหลักๆ มาจาก “ภาคส่งออก” ที่ขยายตัวถึง 8% ขณะที่ รายได้จาก “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ขยายตัวในระดับ 8.8% ซึ่งทั้งสองตัวนี้สะท้อนภาพดีมานด์ในฝั่งของต่างประเทศ ส่วนตัวที่สะท้อนดีมานด์ในประเทศ คือ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยทั้งสองตัว เติบโตในระดับ 3% และ 3.2% ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์ จาก “ค่ายภัทร” จึงบอกว่าเป็นอาการของเศรษฐกิจที่ “แข็งนอก-อ่อนใน”

ถ้าแกะตัวเลขจากทั้ง 3-4 กลุ่มนี้ให้ลึกลงไปอีก จะยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่เติบโตได้ถึง 8% ..ถามว่ามีใครได้อานิสงส์จากตรงนี้บ้าง

งานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วยอึ๊งภากรณ์ หัวข้อ “จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย What,Where,Who” ซึ่งเก็บข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้ากว่า 500 ล้านรายการในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคส่งออกไทยมีการ “กระจุกตัว” ในระดับที่สูงมาก

จากข้อมูลพบว่า ผู้ส่งออกไทยที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 88% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันยังพบว่า ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนรวม 435,121 บริษัท ในจำนวนนี้มีการค้าขายระหว่างประเทศเพียง 12.2% และเป็นบริษัทที่ส่งออกเพียง 5.7%

สะท้อนว่า การส่งออกเป็นกิจการของผู้ประกอบการ “ส่วนน้อย” ทั้งที่ภาคส่งออกถือเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทย

ข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่ข้อสรุปในเบื้องต้น คือ การส่งออกที่เติบโตดี มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้ประโยชน์เต็มๆ และส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทข้ามชาติด้วย

ถ้าติดตามข่าวสารในเรื่องของ “ค่าเงิน” ยิ่งตอกย้ำว่า บริษัทขนาดใหญ่แทบไม่มีผลกระทบกับเงินบาทที่แข็งค่า เพราะส่วนหนึ่งมีการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งยังทำประกันความเสี่ยง(เฮดจิ้ง) จากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ต่างจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ทั้งยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเฮดจิ้งค่าเงิน

สำหรับการบริโภคที่แม้ตัวเลขจะเติบโตได้ราว 3% แต่ถ้าแกะดูไส้ในลึกๆ จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริโภคของ “นักท่องเที่ยว” และกลุ่มคนในระดับกลางถึงบนขึ้นไป ที่ยังมีศักยภาพสูงในการใช้จ่าย

ข้อมูลของ สศช. ชี้ชัดว่า การบริโภคภาคเอกชน หากไม่นับรวมการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศ และคนต่างประเทศที่มาเที่ยวในไทยแล้ว จะพบว่าขยายตัวได้เพียง 2.5% เท่านั้น และการขยายตัวในส่วนนี้ยังเกิดจาก การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เป็นหลัก ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปค่อนข้างทรงตัว ..ตอกย้ำให้เห็นว่า กำลังซื้อของคนในประเทศยังอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลาง-ล่าง

ตัวเลขการเติบโตรวมๆ ที่ “ดูดี” อาจทำให้ “ภาครัฐ” เกิดความภูมิใจบ้าง แต่เมื่อ “คนส่วนใหญ่” ไม่ได้ประโยชน์ ประชาชนทั่วไปจึงไม่รู้ว่าจะดีใจกับเศรษฐกิจที่ฟื้นเพียงตัวเลขไปทำไม

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้แต่ปลอบใจว่าให้รอ เพราะการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง จะค่อยๆ ส่งผ่านลงมายังคนกลุ่มล่างมากขึ้น แต่คำถาม คือ ต้องรอจนถึงเมื่อไหร่ เพราะหลายคนในเวลานี้บอกว่า “ไม่ไหว” แล้ว!