อนาคตผันแปร

อนาคตผันแปร

ช่วงกลางปีที่แล้ว นักอนาคตวิทยาชื่อดัง Alvin Toffler เสียชีวิตลงด้วยวัย 87 ทิ้งคำทำนายเอาไว้ถึงปี 2035

ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมากเพราะหนังสือเล่มแรกของเขาคือ The Third Wave นั้นเขียนไว้กว่า 30 ปีที่แล้วแต่กลับมองทะลุไปถึงอนาคตที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันนี้

การเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคที่ทอฟเลอร์นิยามเอาไว้ก็คือ จากยุคเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และคลื่นลูกที่ 3 ที่สำคัญที่สุดก็คือยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใคร ๆ ก็รู้แต่อย่าลืมว่าหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1980 อีกเล่มหนึ่งที่ยังคงมีคนอ้างถึงอยู่เป็นประจำคือ Powershift ที่ทอฟเลอร์ตอกย้ำว่า 

ขีดความสามารถทางการแข่งขันของแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีเพื่อใช้ในการตัดสินใจเป็นปัจจัยสำคัญ และรู้จักใช้เทคโนโลยีกับระบบโทรคมนาคมอันทันสมัย”

บทสรุปของทอฟเลอร์ที่สัมผัสได้จากผลงานของเขาทุกเล่มก็คือความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนนั้นถือเป็นวิถีปกติของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ยิ่งโลกมีความก้าวหน้ามากขึ้นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงก็รวดเร็วและรุนแรงขึ้นเช่นกัน

ที่สำคัญต้องมองให้ออกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดโอกาสอะไรบ้าง และเราจะใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้มากที่สุดอย่างไร ซึ่งคนที่จะเปลี่ยนชีวิตให้สอดรับกับความเป็นไปของโลกใบนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการคือ

ข้อแรก ต้องกล้าตัดสินใจ เพราะในโลกที่พลิกผันเช่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาจนเรา ไม่อาจรอให้ทุกอย่างแน่นอนหรือสมบูรณ์ ก้าวแรกจึงถือเป็นก้าวสำคัญที่เราต้องข้ามไปให้ได้ โดยไม่กลัวว่าจะล้มเหลว และอย่าคิดว่าอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้าจะหายไปเองได้

ข้อสอง ต้องมีภาพสะท้อนของตัวเราที่ชัดเจน เหมือนที่เราเคยมองเห็นคนอื่นว่าคนนี้ซื่อสัตย์ คนนั้นเป็นนักสู้ คนโน้นเป็นนักขายมือทอง ฯลฯ ตัวเราเองก็ต้องมีบุคลิกที่ชัดเจนให้คนอื่นมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของเราได้เช่นกัน ซึ่งหากเป็นแง่มุมที่ดี เช่นเป็นคนมีฝีมือ กล้ารับผิดชอบ เป็นคนรักษาคำพูด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครดิตที่เอื้อให้เราเติบโตได้

ข้อสาม ต้องนำคนได้ แม้จะทำงานลำพังเพียงคนเดียวก็ต้องนำตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ได้สำเร็จ หรือจะมีลูกน้องเพียงคนเดียวก็ต้องแบ่งงานกันทำให้ดีที่สุด ไปจนถึงมีพนักงานหลายร้อยคนก็ต้องรู้จักใช้พลังของแต่ละคนให้ถูกทาง

เปรียบเหมือนนักกีฬาจากยุคแรก ๆ ของการแข่งขันจะเน้นที่การแข่งขันเพียงคนเดียว เช่นวิ่ง 100 เมตร วิ่งข้ามรั้ว ฯลฯ มาสู่ยุคที่ 2 ที่เน้นแข่งกันเป็นทีมคือวิ่งผลัดที่ต้องทำงานร่วมกัน จนยุคที่ 3 คือฟุตบอลที่เริ่มเป็นทีมขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ละคนทำหน้าที่แตกต่างกันในแต่ละตำแหน่ง

ข้อสุดท้ายคือการปรับตัว เพราะไม่มีธุรกิจและอุตสาหกรรมใดยั่งยืนชั่วนิจนิรันดร์เหมือนที่เราเคยเข้าใจผิดมาในอดีต แม้ว่าในทุกวันนี้เราอาจเห็นบางธุรกิจยังยืนยันที่จะทำเหมือนเดิม ขายของแบบเดิมเหมือนที่เคยทำมา 20 ปีโดยบอกว่าจะทำแบบนี้ต่อไปเพราะยังขายได้อยู่

แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถามต่อก็คือการที่เขายังคงขายได้นั้นต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากที่เพิ่มขึ้นมาด้วยหรือไม่​ เพราะเมื่อสินค้าขายได้ด้วยรูปแบบวิธีเดิม ๆ ผลกำไรขั้นต้นก็คงไม่ได้ต่างจากเดิมนักแต่เงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้นทุกปี คู่แข่งก็มากขึ้นตลอด ความกล้าเปลี่ยนแปลงและเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลานี่เองจะช่วยให้เราก้าวข้ามธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ ไปหาความสำเร็จใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง