ทุนมนุษย์ 4.0

ทุนมนุษย์ 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นยุคที่มีการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้

ที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เพื่อทำงานทดแทนแรงงานในส่วนกายภาพ (physical) ภายใต้การควบคุมดูแลของแรงงาน แต่ครั้งนี้มีหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ในส่วนที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา (cognitive) โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ประมวลผล และสั่งการได้อัตโนมัติ รวมถึงการซ่อมแซมตัวเอง ทำงานที่ซับซ้อนได้มากขึ้น และฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ แรงงานจึงมีความจำเป็นน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรม 4.0 จะมีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานได้ทั้งทางบวกและลบใน 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. การสร้างงานใหม่ในอีก 10 ปี งานใหม่จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big data และงานใหม่อื่น ๆ
  2. งานบางประเภทจะถูกแทนที่เช่น งานก่อสร้างจะถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์แบบสามมิติ งานบัญชีและงานขายที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์
  3. งานบางประเภทจะหมดสิ้นไปโดยไม่มีการทดแทน เช่น ประกันรถยนต์เพราะต่อไปรถจะขับเองได้ด้วยระบบเซ็นเซอร์จึงมีความปลอดภัยและไม่ชนกัน ธนาคารที่จะหมดบทบาทไปเพราะคนหันไปใช้บล็อคเชน (blockchain) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือแสงอาทิตย์ เป็นต้น
  4. งานจำนวนมากจะถูกปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานร่วมกับหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น คุณหมอใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการตรวจรักษาโรค เกษตรกรปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งแรงงานจำเป็นต้องมีทักษะและองค์ความรู้ใหม่ในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะนำมาซึ่งประโยชน์ของมนุษย์โดยภาพรวม แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจึงเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ทางบวกอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐจะต้องศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนบริษัทในอุตสาหกรรมหลักตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงระบุทักษะที่จำเป็นในแต่ละอุตสาหกรรมและแนวทางการสร้างทักษะเหล่านั้นให้มีจำนวนและคุณภาพตรงตามความต้องการ รัฐบาลต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สถานศึกษาต้องปรับหลักสูตรและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพิ่มการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ภาครัฐจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้การศึกษาหรือผู้ฝึกอบรมมาเป็นผู้ประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา โดยการศึกษาจะต้องได้รับการปฏิรูปให้สามารถสร้างคนที่มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เรียนรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต วิชาชีพจะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม (Learning to relearn) และต้องมีความรู้พื้นฐานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่สามารถเชื่อมโยงและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้
  2. สร้างนวัตกรรมได้ ซึ่งจำเป็นต้องฝึกให้เป็นคนช่างคิดวิเคราะห์ ช่างตั้งคำถาม และช่างแสดงความคิดเห็น
  3. รู้ภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถทำงานและมีชีวิตในยุค 4.0 ที่ทุกสิ่งรอบตัวทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาส ภาษาคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาสากล โลกจึงต้องการโปรแกรมเมอร์จำนวนมหาศาลโปรแกรมเมอร์จะเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เด็กรุ่นใหม่จึงต้องเขียนโปรแกรมได้เหมือนเขียนเรียงความทุกโรงเรียนจึงต้องสอนการเขียนโปรแกรม
  4. มีทักษะ soft skills หรือความฉลาดทางอารมณ์ เช่น ความสามารถเข้าสังคม การจัดการพัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น การมองโลกในแง่บวก ความวิริยะอุตสาหะ เป็นต้น

นโยบายทุนมนุษย์ 4.0 จะมองเฉพาะด้านการสร้างคนเพื่อทำงานในเศรษฐกิจยุค 4.0 อย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมองคุณภาพชีวิตของคนด้วย การพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น อาจไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องมีงานทำ รัฐจึงต้องวางแผนจัดสวัสดิการให้กับคนที่ไม่มีงานทำในโลกยุค 4.0 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดของนโยบายเชิงสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ หน้าที่ของรัฐคือ การพยายามไม่ให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงเกินไป โดยพยายามผ่องถ่ายเงินจากผู้ได้รับประโยชน์สู่ผู้ที่เสียประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการเก็บภาษีหุ่นยนต์ หรือการบริจาคเงินจากประเทศร่ำรวยให้กับประเทศยากจน 

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถฝึกอบรมหรือปรับทักษะสำหรับทำงานในยุค 4.0 ได้ ซึ่งจะมีจำนวนมากและมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหุ่นยนต์สมองกลสามารถทำงานแทนที่มนุษย์ได้โดยสมบูรณ์ในอนาคต รัฐบาลจำเป็นต้องจัดเตรียมนโยบายสำหรับผู้ว่างงานเหล่านี้ ซึ่ง แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal basic income) เป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้เป็นหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งสมควรได้รับการศึกษาในรายละเอียดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป

//////

โดย รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์