ค่าเงินดอลล่าร์ น่าจะยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และนี่คือเหตุผล

ค่าเงินดอลล่าร์ น่าจะยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และนี่คือเหตุผล

ค่าเงินดอลล่าร์ น่าจะยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และนี่คือเหตุผล

นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว Dollar Index ร่วงจากระดับ 103 จุด มาอยู่ที่ 91.5 จุด เปรียบเทียบง่ายๆคือ ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าไปแล้ว -12% เมื่อเทียบกับสกุลหลักๆ คงสงสัยว่า แล้วในอดีต เคยอ่อนค่าหนักขนาดนี้ไหม?

ย้อนกลับไปตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์มา ก็มี 4 ช่วงด้วยกันที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯอ่อนค่าแรงๆ

ครั้งที่ 1 ม.ค. – พ.ย. 2009 อ่อนค่าไป -17%

ครั้งที่ 2 มิ.ย. 2010 – พ.ค. 20011 อ่อนค่าไป -18%

ครั้งที่ 3 มี.ค. – ต.ค. 2015 อ่อนค่าไป -7%

ครั้งที่ 4 ธ.ค. 2015 – พ.ค. 2016 อ่อนค่าไป -8%

ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังแล้ว ก็คือว่า ครั้งนี้ ร่วงมาแบบกลางๆ ไม่แรงมาก เท่ากับช่วงปี 2009 และปี 2010

เหตุผลที่ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าตั้งแต่ต้นปี จริงๆแล้วมาจาก การผิดหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีออกมาเลยจากรัฐบาลของ ปธน.ทรัมป์ และสัญญาณการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ และ GDP สหรัฐฯ ที่ทำให้ตลาดเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยืดระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ด้วยเหตุนี้ เงินทุนจึงไหลออกจากสหรัฐฯไปยังประเทศอื่นๆ

มุมมองส่วนตัว ผมยังเชื่อว่า ค่าเงินดอลล่าร์จะยังสามารถอ่อนค่าได้อีก นั้นหมายความว่า เราอาจได้เห็นค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 33 USD/THB ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้นะครับ และนี่คือเหตุผล

1. การลาออกของนาย Stanley Fischer รองประธานเฟด โดยจะอยู่ในตำแหน่งถึงแค่กลางเดือน ต.ค. นี้เท่านั้น ตรงนี้เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ ปธน.ทรัมป์ได้หาคนใหม่มาแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งความตั้งใจของปธน.ทรัมป์ที่มีมาตลอดก็คือ ต้องการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงต้องการให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายให้เอื้อกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ซึ่งหากย้อนไปดูความเห็นของ Fischer ในอดีต จะเห็นว่า Fischer เองมีบางช่วงให้ความเห็นว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ควรจะเป็น แย้งกับ Janet Yellen บางจังหวะ ดังนั้น ใครก็ตามที่มาแทน Fischer น่าจะมี policy stance แบบ dovish มากขึ้น

2. การมาของ เฮอริเคนฮาร์วีย์ และเฮอริเคนเออร์มา ทำให้หลายเมืองต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ล่าสุด ทั้ง Goldman Sachs และ Bank of America-Merrill Lynch พร้อมใจกันออกมาปรับลดประมาณการ GDP Growth ในไตรมาส 2/2017 ลงไปอีก 1% และ 0.4% ตามลำดับ นั้นเท่ากับ ตัวเลขเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าเป้าการเมินของเฟดที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีแนวโน้มสูงมากขึ้นไปอีกที่เฟดไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในปีนี้

3. ดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Real Interest Rate ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเมื่อเทียบกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ ก็พบว่า โยกเงินมาฟากนี้ น่าจะดีกว่า เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงกว่า และเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อดูจากคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็จะพบว่า มันยังคงเป็นปัญหาสำหรับสหรัฐฯในการจะทำให้เงินเฟ้อไปถึงเป้าหมายในระยะยาวที่ 2% ดังนั้น เงินดอลล่าร์ ก็น่าจะมีแนวโน้มไหลออกต่อเนื่อง

4. เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว ตลาดเริ่มหวังว่า จะมีการยกเลิกโครงการ QE ในอนาคต โดยในไตรมาส 2/2017 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวได้ 2.3% ซึ่งถือว่า เป็นไตรมาสที่มีการขยายตัวได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา โดยตัว ECB เองก็ได้มีการปรับประมาณการ GDP Growth ปีนี้ จากเดิม 1.9% เป็น 2.2% เห็นแบบนี้ จะไม่ให้นักลงทุนคิดได้ไงว่า ใกล้ถึงวันที่ ECB จะเริ่มทยอยลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ที่ตอนนี้ทำอยู่เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

สำหรับปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และน่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯมากขึ้นไปอีก ก็คือ ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง จากการส่งออกที่ฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ดีวันดีคืน

มองไปในอนาคตอันใกล้ ก็พบปัจจัยบวกอีกหลายอย่าง คือ

1. ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ก็ทำให้เงินในกระเป๋าเกษตกรมีเพิ่มขึ้น น่าจะเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหลังจากนี้

2. การเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของไทยในไตรมาส 4/2017 ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักขึ้นไปอีก

3. โครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐฯ ที่นักลงทุนเริ่มเชื่อกันว่า “มาจริง ของจริง” เพราะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อรวมกันจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ก็พอจะอ่านทิศทางได้ว่า ค่าเงินดอลล่าร์น่าจะยังอ่อนค่าไปอีกซักระยะ จนกว่าจะมีปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงไปนะครับ