“ทำไมบาทแข็งค่า ทำไมเงินทุนไหลเข้า”

“ทำไมบาทแข็งค่า ทำไมเงินทุนไหลเข้า”

การแข็งค่าของเงินบาทปีนี้เป็นข่าวมาตลอด ผมเองก็ถูกถามบ่อยเรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่ค่าเงินบาทเป็นข่าวมาก

ก็เพราะความกังวลของผู้ประกอบการและนักลงทุนถึงผลของเงินบาทแข็งค่าที่จะมีต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขณะนี้

นอกจากนี้ พร้อมกับการแข็งค่าของเงินบาท ตลาดหุ้นก็ดูเหมือนจะพุ่งแรง ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่กดดันให้เงินบาทยิ่งแข็งค่า ทำให้นักลงทุนหลายคนมีคำถามว่า ทำไมเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยตอนนี้ และสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าจะมีต่อไปอีกนานแค่ไหน และจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องตลอด 8 เดือนแรกของปีนี้ จากระดับ 35.80 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ สิ้นปีที่แล้ว เป็น 35.43 บาท สิ้นเดือนม.ค.ปีนี้ 34.45 บาท สิ้นเดือนมี.ค. 33.99 บาท สิ้นเดือนมิ.ย. และ 33.26 บาท สิ้นเดือนส.ค. แข็งค่าขึ้นตลอด 8 เดือนแรก รวมแล้วประมาณ 7.1% ตั้งแต่ต้นปี

การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยต่างประเทศและเศรษฐกิจในประเทศ แต่เท่าที่ประเมินดู ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าปีนี้คงมี 3 ปัจจัย

  1. การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ คงจำได้ตอนต้นปี ความรู้สึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นมากจากความเข้าใจว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้มากขึ้น กดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ความรู้สึกนี้ ทำให้เงินดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี

แต่หลังจากนั้น ค่าเงินดอลลาร์ก็เริ่มอ่อนค่าลงเมื่อชัดเจนว่าการลงทุนภาครัฐของสหรัฐจะไม่สามารถเร่งรัดหรือขยายตัวได้ตามคาดจากอุปสรรคภายในระบบการเมืองของสหรัฐเอง เมื่อรัฐบาลสหรัฐไม่สามารถเร่งรัดการลงทุนได้ตามคาด ความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐก็ถูกลดทอนลง

พร้อมกันนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆก็ส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่เข้มแข็งอย่างที่ได้คาดไว้ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำที่ 1.7% ในเดือนก.ค. เหล่านี้ทำให้การคาดหวังเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐถูกลดทอนลงเช่นกันคือ ธนาคารกลางสหรัฐอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเหมือนที่เคยคาด ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าและอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

  1. ปัจจัยเศรษฐกิจไทยเอง โดยเฉพาะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อเนื่องช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดคือ ผลต่างระหว่างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ประเทศได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว และรายจ่ายที่ประเทศจ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ

ผลต่างนี้ของประเทศไทยเป็นบวกตลอด 8 เดือนแรกปีนี้คือ ประเทศมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย ทำให้เงินบาทแข็งค่า ที่ต้องตระหนักก็คือ อัตราเพิ่มของรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เทียบกับอัตราเพิ่มของรายจ่ายด้านการนำเข้า ซึ่งแสดงว่าการใช้จ่ายในประเทศอาจเริ่มฟื้นตัว แต่การส่งออกยังอ่อนแอ ดังนั้นจากนี้ไป เราคงเห็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปรับลดลงมากขึ้นในระยะต่อไปและอาจกลายเป็นการขาดดุลซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า

  1. คือ เงินทุนต่างประเทศ ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ประเทศไทยมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากกว่าไหลออก กดดันให้เงินบาทแข็งค่า

3 ปัจจัยนี้ได้ผสมผสานกัน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขณะนั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่เงินบาทก็ยังสามารถแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ที่มาจากความรู้สึกที่ดีขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวดีขึ้นจาก

  1. เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย แม้เงินบาทจะแข็งค่า
  2. รายได้เกษตรกรได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศให้ขยายตัว
  3. ความรู้สึกว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐมีความชัดเจนมากกว่าสมัยก่อน บวกกับนโยบายรัฐบาลได้สร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
  4. การท่องเที่ยวที่นักลงทุนประเมินว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของกำลังซื้อในภูมิภาค

และ 5. นักลงทุนเองก็ไม่ค่อยมีที่ไป ในแง่ของตลาดต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุน เพราะราคาทรัพย์สินในหลายประเทศได้ปรับสูงขึ้นจนเกินปัจจัยพื้นฐาน

แต่สำหรับตลาดการเงินไทย นักลงทุนมองว่ายังสามารถปรับขึ้นได้อีกจากราคาสินทรัพย์ที่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามากในช่วงก่อนหน้า ทำให้ตลาดการเงินไทยยังไม่เห็นความเสี่ยงเรื่องภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติจึงได้กลับมาให้ความสนใจกับตลาดการเงินไทยมากขึ้น

ที่วิเคราะห์มาคงชัดเจนว่าการแข็งค่าของเงินบาท เป็นผลจากหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจต่างประเทศ ทิศทางเงินดอลลาร์และการปรับพอร์ทของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเมื่อราคาสินทรัพย์ไทยได้ปรับสูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง เงินทุนไหลเข้าคงชะลอ ขณะเดียวกัน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะลดลงและเปลี่ยนเป็นติดลบตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2 ปัจจัยนี้จะทำให้ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่า ซึ่งอาจเห็นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

นี่คือมุมมองเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่อยากจะแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ