เอสเอ็มอีกับการวิจัยและพัฒนา

เอสเอ็มอีกับการวิจัยและพัฒนา

เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีคงเคยได้ยินได้ฟังมาตลอดเวลาว่า กลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

ก็คือเรื่องของการวิจัย (Research)และพัฒนา (Development)

หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ต้องทำ R&D”

การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ อาจเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีไทยไม่ค่อยคุ้นเคย และมองไม่เห็นความสำคัญมากนัก โดยส่วนใหญ่ของเอสเอ็มอีไทย มักจะเน้นการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตหรือขยายตลาดให้กับสินค้าเดิมที่ทำอยู่ออกไปให้มากที่สุด

ในลักษณะที่ว่า ผลิตให้ได้มากขึ้น และขายให้ได้มากขึ้น หรือมุ่งเน้นไปที่การพยายามลดต้นทุนในการทำธุรกิจเดิม เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงสามารถสร้างกำไรได้

แต่ยังคงยึดอยู่กับตัวธุรกิจแบบเดิมอยู่

การทำวิจัยพัฒนา เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะแสวงหาสิ่งแปลกใหม่มาเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ ดังนั้น เราจึงมักจะได้ยินคำว่า การวิจัยพัฒนา ควบคู่ไปกับเรื่องของ การสร้างนวัตกรรม

สำหรับธุรกิจระดับเอสเอ็มอีที่สนใจเกี่ยวกับการนำการวิจัยพัฒนามาใช้เพื่อขยายการเติบโตให้กับกิจการ หรือการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น อาจลองพิจารณาข้อแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่งานวิจัยและพัฒนาในธุรกิจระดับเอสเอ็มอี คือ การให้ความสนใจเชิงลึกกับตลาดและลูกค้าของตนเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามค้นหาให้ได้ว่า ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้บริโภคคืออะไร พฤติกรรมให้การบริโภคหรือการเลือกซื้อหาสินค้าเป็นอย่างไร

ซึ่งคำตอบที่จะได้มา จะได้มาจากการทำวิจัยตลาดอย่างเป็นระบบ และจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะรวมไปถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือตลาดใหม่ๆ ได้ด้วย

หากในการตอบสนองคำตอบที่ได้มาจากการวิจัยตลาด จำเป็นที่เอสเอ็มอี จะต้องมีวิธีการหรือต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน หรือยังไม่เคยนำมาใช้ในปัจจุบัน ก็เป็นขั้นตอนของการที่จะต้องศึกษา ทดลอง เพื่อพัฒนาให้ได้ตัวสินค้าหรือกระบวนการผลิตแบบใหม่ขึ้นมา

ซึ่งก็หมายถึงความพยายามในการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจนั่นเอง

ด้วยคำอธิบายในภาพกว้างที่นำเสนอนี้ เอสเอ็มอีจะเห็นได้ว่า การนำการวิจัยและพัฒนามาใช้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ผลตอบแทนที่จะได้กลับคืนมาก็คือ การเติบโตของธุรกิจในระยะยาวที่จะนำเสนอสินค้า ช่องทางการทำธุรกิจ และการสนองตอบผู้บริโภคได้ตรงความต้องการอย่างแท้จริง

การทำวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

ดังนั้น การวิจัยพัฒนาจึงต้องการแหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจตามปกติประจำวัน

ซึ่งแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยพัฒนา อาจได้มาจากนำกำไรสะสมที่เกิดขึ้นในธุรกิจมาใช้ การขอใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือการแสวงหาแหล่งเงินหรือสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาที่ภาครัฐจัดให้เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของธุรกิจ

เช่น สิทธิประโยชน์จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากรสำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

หากธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไม่มีความสามารถหรือทรัพยากรเพียงพอในการทำวิจัยพัฒนา ก็สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้ได้จากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรภาคการศึกษา เช่น วิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องของเทคโนโลยีที่เอสเอ็มอีต้องการ

ในประเทศแถบยุโรปที่เน้นเรื่องของการสร้างเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จะมีโมเดลเฉพาะที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กได้รับทรัพยากรเพียงพอในการทำวิจัยพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรม เรียกว่า โมเดล Triple Helix ซึ่งหมายถึง ห่วงเกลียวแบบ 3 ประสาน

ซึ่งหมายถึงความร่วมมือกันระหว่างองค์กร ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคการศึกษา นั่นเอง

ประเทศไทยในยุค 4.0 ก็ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือแบบ 3 ประสานนี้เช่นกัน ซึ่งเอสเอ็มอีไทยที่สนใจ ควรรีบไขว่คว้าโอกาสนี้ให้มาอยู่ในมือให้ได้

สำหรับการสร้างความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะติดอยู่กับตัวธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว