“แผนที่มนุษยธรรม” คว้ารางวัล Global Social Entrepreneurship

“แผนที่มนุษยธรรม” คว้ารางวัล Global Social Entrepreneurship

สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ดิฉันมีไอเดียดีๆ จากกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Young Social Innovators (YSI)หรือนักนวัตกรรมเพื่อสังคม

จากโรงเรียนชุมชนพอร์ทมาร์น็อค ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ที่ได้รับรางวัล Gold Award จากการประกวด Students for the Advancement of Global Entrepreneurship หรือ SAGE World Cup 2017 ที่จัดขึ้นที่ประเทศยูเครนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากกว่า25ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน

ทีมดังกล่าวได้รับรางวัลประเภท Social Enterprise Business จากโครงการจัดทำ “แผนที่มนุษยธรรมหรือ Humanitarian Mapping ที่ใช้เวลาพัฒนามานานนับปี โดยนอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ทีมยังคว้ารางวัล National Gold Award 2016จากโครงการที่มีชื่อว่า Global Citizens Mapping the Future

ทีม YSI จากโรงเรียนพอ์รตมาน็อคได้ทำงานเพื่อพัฒนาแผนที่ที่เชื่อถือได้ให้แก่ประเทศเลโซโท ในทวีปแอฟริกา วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการสร้างสรรค์ประชาคมโลก หรือ Global Citizenship ที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างแผนที่มนุษยธรรม ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสู้กับความยากจน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมถึงการจัดการที่ดินด้วย

แรงบันดาลใจของพวกเขาในการทำโครงการดังกล่าวคือ ปัจจุบันรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งไม่มีทุนมากพอที่จะสร้างฐานข้อมูลแผนที่ออนไลน์ของประเทศตนเองทั้งประเทศ ตัวอย่างเช่น หากลองดูแผนที่ของประเทศเลโซโทก็จะพบว่ายังเป็นพื้นที่ว่างๆ เกือบทั้งประเทศ ซึ่งการที่ไม่มีขอบเขตของที่ดินที่ชัดเจนนี่เอง ที่ทำให้อาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับที่ดินได้โดยง่าย รวมทั้งหากไม่มีการเฝ้าระวังที่ดินอย่างเหมาะสม อาจมีกลุ่มคนเข้ามาทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่สงวน เช่น ป่าดงดิบต่างๆ และในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกจึงควรร่วมกันรักษาและป้องกันไว้ พวกเขาจึงมุ่งมั่นอย่างยิ่งกับภารกิจดังกล่าว

ทีมงานได้ทำงานร่วมกับ เดฟ คอร์ลี่ผู้ก่อตั้ง Openstreetmap รวมถึงทีมวางแผนของสภาเทศบาลเมือง Fingal และนักเรียนและอาจารย์ในโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนมัธยมอีกหลายแห่งทั้งในไอร์แลนด์และในต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนในประเทศเลโซโท ได้แก่ โรงเรียน Hlalele High School โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเคยได้รับการสนับสนุนจาก Vodafone Foundation ให้ริเริ่มจัดทำแคมเปญ#MapLesotho ซึ่งเป็นการสอนให้โรงเรียนต่างๆ จัดทำแผนที่มีนักเรียนกว่า 300 คนจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้ารวมการฝึกจัดทำแผนที่ดังกล่าว 

โดยในจำนวนนี้มีนักเรียนประมาณ 200 คนที่เดินทางไปยังประเทศเลโซโทร่วมกับผู้ปกครอง ครู และสมาชิกในชุมชน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ทีมงานได้ร่วมกับการท่องเที่ยวของเลโซโท ในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เลโซโทมีแผนที่ที่ดีขึ้น และกลายเป็นแหล่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของเลโซโท เพื่อใช้แผนที่ดังกล่าวในการสำรวจสำมะโนประชากรอีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา ทีมงานยังได้เปิดตัว Mapillary ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาแผนที่จาก 2 D เป็น 3 D ทำให้ดูแผนที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยกลุ่มนักวางแผนบอกว่าเขาสังเกตได้ตอนที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรว่า “พวกเขาเข้าใจที่ดินของตนเองได้ช้าเมื่อมันมีแค่มิติเดียว แต่เมื่อมันเป็นแบบสามมิติ พวกเขาเริ่มเข้าใจที่ดินของตนเองได้ดีขึ้นมาก”

ในปี2558 ผลงานแผนที่ของเลโซโทจากโครงการ#MapLesothoจึงเกิดขึ้น และได้ขยายความร่วมมือไปยังแคมเปญต่างๆ เพิ่มขึ้นได้แก่#MapSouthSudan #MapKenyaซึ่งทีมก็หวังว่าสิ่งที่พวกเขาเริ่มขึ้นนี้จะเกิดผลขยายออกไปเรื่อยๆ และทำให้เกิดแผนที่ที่ใช้การได้จริงในอีกหลายภูมิภาค โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีนักเรียนกว่า40คนเดินทางไปยังประเทศเลโซโท โดยเป็นกลุ่มที่เดินทางไปท่องเที่ยวด้วยแผนที่ที่พวกเขาทำขึ้นเองอีกด้วย

โครงการที่มีไอเดียดีๆ แบบนี้ไม่น่าแปลกใจที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติเลยค่ะ